ไลฟ์สไตล์

อีกก้าวศูนย์พัฒนา"ห้วยซอน-ห้วยซั้ว"เชื่อมงานเกษตรครบวงจร "ไทย-ลาว"

อีกก้าวศูนย์พัฒนา"ห้วยซอน-ห้วยซั้ว"เชื่อมงานเกษตรครบวงจร "ไทย-ลาว"

17 ม.ค. 2553

กว่า 15 ปีที่ศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตรห้วยซอน-ห้วยซั้ว (หลัก 22) บ้านนายาง เมืองนาทรายทอง กำแพงนครเวียงจันทน์ สปป.ลาว ได้ก่อกำเนิดขึ้นตามที่ ฯพณฯ ไกสอน พมวิหาน อดีตประธานประเทศ สปป.ลาว มีอักษรสาส์นกราบบังคมทูลขอพระราชทานความช่วยเหลือจากพระบาทสมเด็จพ

 เพื่อเป็นแบบอย่างและสถานที่ถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการ ตลอดจนประสบการณ์จากตัวอย่างจริงให้แก่ราษฎรลาว โดยให้มีลักษณะเดียวกับศูนย์ศึกษาการพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งได้ดำเนินการประสบความสำเร็จบังเกิดผลดีในการเพิ่มผลผลิตและรายได้ให้แก่ราษฎรไทยเป็นอย่างมาก

 "เป็นโครงการพัฒนาแห่งแรกในประเทศลาว ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณให้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2537 ตามที่ ฯพณฯ ไกสอน พมวิหาน อดีตประธานประเทศ มีอักษรสาส์นกราบบังคมทูลขอพระราชทานโครงการในลักษณะเช่นเดียวกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ แล้วพระองค์ก็มีพระราชดำรัสต่อว่า ที่ลาวนี้ให้ตั้งเป็นศูนย์พัฒนาเลย ไม่ต้องศึกษาแล้ว เพราะประเทศไทยได้ศึกษาจนเห็นผลสำเร็จมาแล้ว"

 สุวัฒน์ เทพอารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายในศูนย์ร่วมกับ สปป.ลาว ย้อนอดีตความเป็นมาระหว่างคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมความคืบหน้าการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาห้วยซอน-ห้วยซั้ว ซึ่งปัจจุบันการดำเนินงานด้านต่างๆ มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้มีการขยายผลไปสู่แขวงต่างๆ ทั้ง 17 แขวงใน สปป.ลาว โดยยึดศูนย์แห่งนี้เป็นแม่แบบในการดำเนินงานด้านการเกษตรแบบครบวงจร

 "จากการขยายผลงานไปสู่แขวงต่างๆ ตอนนี้มีอยู่ 3 แขวงที่เริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรมแล้วคือ หลวงพระบาง ทางตอนเหนือ สะหวันนะเขตอยู่ทางตอนกลางและอัตตะปือ อยู่ทางใต้สุดของ สปป.ลาว  คาดว่าภายในปีนี้เราจะนำคณะสื่อมวลชนไปเยี่ยมชมการดำเนินงานตามแขวงต่างๆ โดยอาจจะเริ่มที่หลวงพระบางก่อน" รองเลขาธิการสำนักงาน กปร.เผย

  บนเนื้อที่ประมาณ 325 ไร่ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีความกว้างประมาณ 800 เมตร ยาวประมาณ 900 เมตร มีลำห้วย 2 สาย คือ ห้วยซอนและห้วยซั้วล้อมรอบพื้นที่ศูนย์ ซึ่งเป็นเนินสลับกับพื้นที่ลุ่ม รายล้อมด้วยหมู่บ้านเป้าหมายในการพัฒนา 5 หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านนายาง บ้านนาซอน บ้านหัวขัว บ้านน้ำเกี้ยงเหนือและบ้านน้ำเกี้ยงใต้ รวมทั้งสิ้น 1,067 ครัวเรือน มีประชากร 6,090 คน ใช้แนวทางของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริในการจัดทำกิจกรรม

  ปัจจุบันศูนย์แห่งนี้ได้แบ่งออกเป็นการสาธิตด้านการประมง ปศุสัตว์ พัฒนาที่ดินและพัฒนาด้านพืช การให้บริการผลิตพันธุ์ปลา พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์และการฝึกอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรที่มาศึกษาดูงานทั่วไป รวมทั้งการดูแลแนะนำทางวิชาการ โดยมุ่งเน้นเกษตรกรหมู่บ้านเป้าหมายรอบศูนย์ในระยะแรก 5 หมู่บ้านและขยายขอบเขตการให้บริการเพิ่มเติมหมู่บ้านเป้าหมายออกไปอีก 4 หมู่บ้าน คือ บ้านหนองคันคู บ้านนาซับ บ้านหัวช้าง และบ้านด่านสี่ จนครอบคลุมพื้นที่ทั้งโครงการ พร้อมขยายผลไปยังแขวงต่างๆ ทั่วทั้งประเทศในขณะนี้
 
 ด้าน อนุโลม ตุนาลม ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตรห้วยซอน-ห้วยซั้ว สปป.ลาวเผยว่า จากผลการดำเนินการที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดการเปลี่บยนแปลงในทั้งระดับชุมชนและหมู่บ้านรอบศูนย์ โดยมีการสร้างครอบครัวตัวแบบเพื่อเป็นแกนกลางในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และส่งเสริมการขยายผลไปสู่เกษตรกรรายอื่นๆ มีการพัฒนาแหล่งน้ำโดยสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยซอนสามารถส่งน้ำครอบคลุมพื้นที่การเกษตรกว่า 3,000 ไร่ ส่งผลให้สามารถเพิ่มผลผลิตข้าวนาปีและนาปรังเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 14 ถังต่อไร่ ซึ่งเป็นผลให้มีรายได้เฉลี่ย 19,927 บาทต่อครอบครัวต่อปีเพิ่มขึ้น 3 เท่า

 "ตอนนี้นอกจากมีเกษตรกรตัวแบบเข้ามาใช้ชีวิตภายในศูนย์แล้ว ยังเป็นที่ฝึกงานของนักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคเวียงจันทน์อีกด้วย ขณะนี้มีอยู่ 40 คน ส่วนเกษตรกรตัวแบบมีอยู่ 17 ครอบครัวมาจากแขวงต่างๆ จะอยู่ที่นี่ประมาณ 2-3 ปีแล้วก็ออกไป จากนั้นจะมีคนใหม่เข้ามาสลับหมุนเวียนอย่างนี้ไปเรื่อยๆ " ผอ.อนุโลม กล่าวพร้อมย้ำว่า

 ส่วนการดำเนินงานของศูนย์ นอกจากจะเป็นไปตามแผนแม่บทที่ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมวางเอาไว้แล้ว ก็จะสนองพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในพิธีเปิดฝายห้วยซั้ว วันที่ 5 มีนาคม 2552 ที่พระองค์ทรงเน้นให้นำภูมิปัญญาชาวบ้านมาใช้ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้มากที่สุด โดยเฉพาะการทำเกษตรอินทรีย์ รณรงค์ให้มีการปลูกพืชผักพื้นบ้านโดยไม่ใช้สารเคมี อย่างนี้เป็นต้น

  จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ทำให้ศูนย์แห่งนี้เป็นที่สนใจของผู้คนทั้งในและต่างประเทศ มีผู้บริหารระดับสูง สปป.ลาว เข้ามาเยี่ยมชมและติดตามการดำเนินงานของโครงการอย่างต่อเนื่อง ทำให้การดำเนินงานมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและปัจจุบันยังเป็นโครงการดีเด่นอันดับ 1 ของโครงการความร่วมมือระหว่างไทยกับ สปป.ลาว ในหลายๆ โครงการที่ต่างประเทศเข้ามาช่วยเหลือ อีกทั้งยังเป็นแหล่งพักผ่อนท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในเขตนครหลวงเวียงจันทน์อีกด้วย

 เจาะลึก 7 แผนดำเนินงานหลักของศูนย์

 1.งานพัฒนาแหล่งน้ำ ประกอบด้วยอ่างเก็บน้ำห้วยซอน ซึ่งได้ออกแบบสำรวจและดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ พร้อมระบบส่งน้ำมีขนาดทำนบดินยาว 440 เมตร สูง 14 เมตร กว้าง 8 เมตร ระบบส่งน้ำเป็นคลองดาดคอนกรีตยาว 5,570 เมตรเสร็จเรียบร้อยแล้ว ในขณะที่อ่างเก็บน้ำห้วยซั้วยังชะลอการก่อสร้าง หลังจากได้สำรวจและออกแบบก่อสร้างไว้เรียบร้อยแล้ว

 2.ฝายห้วยซั้ว เป็นฝายทดน้ำกั้นลำน้ำห้วยซั้วที่บ้านนายาง พร้อมดำเนินช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรได้ว่า 500 ไร่ใน 2 หมู่บ้าน คือ บ้านนาซอนและบ้านนายาง

 3.งานพัฒนาด้านวิชาการเกษตร เช่น การพัฒนารูปแบบการปลูกข้าวอินทรีย์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ให้มีผลผลิตต่อไร่สูง ต้านโรคและแมลงเป็นที่นิยมบริโภคของคนในท้องถิ่น อาทิ ข้าวพันธุ์น้ำตาล 1 และท่าดอกคำ 8 และการพัฒนาการปลูกพืชไร่และพืชสวน เช่น มันสำปะหลัง ลินจี่ ลำไย มังคุด ทุเรียน ฯลฯ

 4.งานพัฒนาที่ดิน มีแปลงขยายพันธุ์แฝก 8 ชนิดเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ การวางแผนใช้ที่ดินในโครงการ

 5.งานพัฒนาปศุสัตว์ มีฟาร์มเลี้ยงโค สุกร เป็ดและไก่ ปลูกหญ้ารูซี่เลี้ยงสัตว์ ทดลองผสมพันธุ์โคพันธุ์ซาฮิวาลเพศผู้และวัวพื้นเมือง ปรากฏว่าได้ผล ปัจจุบันได้ขยายพันธุ์และแจกจ่ายให้เกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายแล้ว

 6.งานพัฒนาด้านประมง ได้ก่อสร้างโรงฟักและบ่อปลาสำหรับเลี้ยงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์และบ่ออนุบาล พร้อมขุดบ่อปลาให้เกษตรกรรอบๆ ศูนย์จำนวน 90 รายใน 5 หมู่บ้านเป้าหมาย

 7.งานฝึกอบรมและส่งเสริมอาชีพ เจ้าหน้าที่ได้ออกแนะนำและส่งเสริมพัฒนางานด้านเกษตรให้แก่เกษตรกรชาวลาวในพื้นที่เป้าหมายทั้ง 9 หมู่บ้าน พร้อมเชิญเจ้าหน้าที่จากแขวงต่างๆ ทั้ง 17 แขวงมาฝึกอบรมดูงานอย่างต่อเนื่องทุกเดือน

 สุรัตน์ อัตตะ