ไลฟ์สไตล์

หวั่น“พลับพลึงธาร”สูญพันธุ์ 
กระตุ้นท้องถิ่นช่วยอนุรักษ์

หวั่น“พลับพลึงธาร”สูญพันธุ์ กระตุ้นท้องถิ่นช่วยอนุรักษ์

15 ม.ค. 2553

“พลับพลึงธาร” ของไทยหนึ่งเดียวในโลกเข้าขั้นวิกฤติ เหลือพื้นที่รวมไม่เกิน 15 ไร่ เกษตรฯ หวั่นสูญพันธุ์ กระตุ้นท้องถิ่นช่วยอนุรักษ์

 นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า พลับพลึงธาร (Crinum thaianum Schultze) หรือหอมน้ำ เป็นพืชหายากเฉพาะถิ่นที่พบในประเทศไทยเพียงแห่งเดียวในโลก โดยพบในเขต จ.ระนองตอนล่าง ได้แก่ อ.สุขสำราญ และ อ.กะเปอร์ และ จ.พังงาตอนบน ได้แก่ อ.ตะกั่วป่า อ.คุระบุรี ปัจจุบันถูกคุกคามอย่างหนัก เนื่องจากการขุดลอกคลอง สร้างฝายกั้นน้ำ ลักลอบขุดหัวพันธุ์ส่งออกยังต่างประเทศ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะสูญพันธุ์ในอนาคตอันใกล้นี้

 สาเหตุสำคัญที่มีผลต่อการลดจำนวนของพลับพลึงธาร คือ การขุดลอกคลอง รองลงมา ได้แก่ ลักลอบขุดส่งขายช่วงเดือนธันวาคม-เมษายน โดยพ่อค้ารับซื้อหัวละ 2-3 บาท และส่งขายต่อหัวละ 10-12 บาท บวกกับมีการขุดหินและดินจากลำคลองเพื่อการก่อสร้าง ส่งผลให้พลับพลึงธารลดลงอย่างเห็นได้ชัดปัจจุบันเหลือ 20% และมีพื้นที่รวม 10-15 ไร่เท่านั้น

 “2 ปีที่ผ่านมา ไทยมีการส่งออกหัวพลับพลึงธารไปมากกว่า 21 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป (อียู) ปีละ 1-2 แสนหัว ส่วนใหญ่นำไปใช้เป็นพันธุ์ไม้น้ำในตู้ปลาสวยงาม ซึ่งปี 2552 ไทยมีการส่งออกประมาณ 128,590 หัว 57,484 ต้น นับเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชากรในธรรมชาติมีปริมาณน้อยลง หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่เร่งฟื้นฟูและอนุรักษ์พลับพลึงธารให้คงอยู่คู่ลำคลอง คาดว่าภายใน 2-3 ปีข้างหน้าพืชชนิดนี้อาจสูญพันธุ์ไปจากถิ่นกำเนิดของไทยอย่างแน่นอน” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

 นายมานิตย์ ใจฉกรรจ์ หัวหน้าฝ่ายการค้าพืชตามอนุสัญญา กองคุ้มครองพันธุ์พืช กล่าวว่า พลับพลึงธารยังไม่อยู่ในพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ.2518 และไม่ได้อยู่ในบัญชีไซเตส (CITES) ทำให้การค้าและการส่งออกทำได้โดยง่าย ซึ่งปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรดำเนินการได้เพียงควบคุมการส่งออกหัวพันธุ์ โดยเน้นส่งเสริมให้บริษัทส่งออกหัวพันธุ์จากการขยายพันธุ์เทียมเท่านั้น เพื่อช่วยลดอัตราการลักลอบขุดจากคลองธรรมชาติออกไปขาย ขณะนี้มีผู้ประกอบการบางรายเริ่มนำหัวพันธุ์ไปเพาะขยายเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยใช้เทคนิคลอกเลียนสภาพธรรมชาติ ซึ่งปกติพลับพลึงธารจะอยู่ในลำคลองที่มีน้ำไหลและน้ำสะอาดเท่านั้น ถ้านำไปปลูกนอกพื้นที่หรือแหล่งน้ำที่มีสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม เช่น บ่อน้ำนิ่ง จะไม่เจริญเติบโตและเน่าตายในที่สุด

 “ภาครัฐและหน่วยที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานที่อนุมัติให้มีการขุดลอกคลองนั้น ต้องศึกษาและประเมินถึงผลดีผลเสียจากการขุดลอกคลองก่อน เพราะจะทำให้พืชหายากอย่างพลับพลึงธารสูญพันธุ์ไป ชุมชมและท้องถิ่นต้องให้ความสำคัญกับพืชชนิดนี้ เพราะเป็นพืชหายากที่พบในไทย ถือเป็นหนึ่งเดียวในโลก หากไม่เร่งปกป้องและอนุรักษ์แหล่งกระจายพันธุ์ที่เหลืออยู่ อนาคตพลับพลึงธารอาจสูญพันธุ์ไป" นายมานิตย์ กล่าว