Lifestyle

จิตรกรรมจากจิตวิญญาณของ...ครูจูหลิง ปงกันมูลที่วัดคงคาวดี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“วันครู” ตรงกับวันที่ ๑๖ มกราคมของทุกปี คงไม่มีคำกราบกราน คารวะใดๆ ที่จะสามารถเทียบเท่าพระคุณของครูผู้ประสาทวิชาความรู้แก่ลูกศิษย์จนเติบใหญ่ เป็นผู้เปี่ยมล้นด้วยความรู้อยู่ทั่วสังคมไทยในวันนี้

 ในสังคมไทย มีแม่พิมพ์มากมายที่ได้รับการยกย่อง เชิดชูเกียรติถึงคุณงามความดีในการทำหน้าที่ "เรือจ้าง" อย่างเต็มภาคภูมิ และหนึ่งในจำนวนนั้นคือ "จูหลิง ปงกันมูล" ครูสาวที่ยังอยู่ในใจและความทรงจำของผู้คนจำนวนมาก ชนิดไม่มีวันลืมเลือน

 เรื่องราวและวีรกรรมของหญิงสาวจาก ต.บ้านปงน้อย กิ่งอ.ดอยหลวง จ.เชียงราย พื้นที่ภาคเหนือของแผ่นดินสยาม ที่มุ่งหน้าลงสู่ภาคใต้ ด้วยเจตนารมณ์อันแน่วแน่ เพื่อทำหน้าที่ดุจดวงประทีปช่วยส่องทางให้แก่เด็กนักเรียน ณ ดินแดนปลายด้ามขวาน ยังคงสร้างความสะเทือนใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๙ ณ โรงเรียนบ้านกูจิงลือปะ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ต้นตอที่พรากแม่พิมพ์คนนี้จากไปอย่างไม่มีวันกลับ

 แม้ว่าวันนี้เรื่องของครูจุ้ยจะเป็นเพียงเรื่องเล่า แต่คุณงามความดียังคงถูกกล่าวขานถึงในหมู่ลูกศิษย์ที่เคยผ่านการพร่ำสอนของเธอ ไม่เว้นวาย แม้กระทั่งชาวบ้านกูจิงลือปะล้วนต่างก็ยังเยินยอถึงสิ่งดีที่เรือจ้างลำนี้เคยสร้างไว้ เมื่อคราวมีลมหายใจอยู่ จวบจนกระทั่งทุกวันนี้

 อนุสรณ์แห่งความดีของ "ครูจุ้ย" ไม่ได้มีเพียงแค่ความมุ่งมั่นที่พยายามยกระดับและพัฒนาคุณภาพการเรียน การศึกษาให้แก่เยาวชนในพื้นที่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เท่านั้น แต่ด้วยพรสวรรค์ทางด้านศิลปะที่ติดตัว กอปรกับดีกรีปริญญาตรีจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ที่พกติดตัวทำให้แม่พิมพ์คนนี้ ทุ่มเทแรงกายและแรงใจในการรังสรรค์ผลงานด้านศิลป์ จนเป็น ๑ ใน ๑๐ จิตรกรที่ร่วมวาดภาพในหนังสือชุด "ทศชาติแห่งพระบารมี"

 ผลงานชิ้นนี้เป็นการนำเสนอเรื่องราวของมหาชาดกทศบารมี ที่แสดงให้เห็นถึงพระบารมี ๑๐ ประการ ที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญเพียร ก่อนที่จะประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ และตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ซึ่งจัดทำโดยกระทรวงยุติธรรม เพื่อเฉลิมฉลองพระชนมายุ ๔ รอบ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ใน พ.ศ.๒๕๔๖

 จิตรกรรมที่มาจากการรังสรรค์โดยฝีมือของ "ครูจูหลิง" มีมากมายหลายชิ้น และได้ปรากฏเป็นข่าวผ่านสื่อ นัยเป็นการตอกย้ำให้รับรู้ว่า แม้นตัวตายแต่สิ่งที่เหลือไว้เบื้องหลังในวันนี้เปรียบดั่งอนุสรณ์สถานที่คอยกระตุ้นเตือนสิ่งดีๆ ที่เธอเคยอุทิศแรงกายและใจไว้ให้

 ยิ่งไปกว่านั้นผลงานศิลปะอีกชิ้นของ "จูหลิง ปงกันมูล" ที่ประจักษ์ต่อสังคมในวันนี้ คือ จิตรกรรมที่ได้อุทิศแด่พระพุทธศาสนา นั่นคือการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนัง เพื่อแสดงเรื่องราวของสังเวชนียสถาน ในอุโบสถ วัดคงคาวดี ต.รัตภูมิ อ.ควนเนียง จ.สงขลา อีกทั้งยังฝากฝีมือในงานจิตรกรรมฝาผนังแสดงเรื่องราวพุทธประวัติบนผนังศาลาการเปรียญ และโชว์ลวดลายศิลปะบนเสาศาลาการเปรียญของวัดเดียวกัน

 “ครูจูหลิง เป็นคนน้ำใจดีก่อนสอบบรรจุเป็นครู เธอมีความสามารถด้านศิลปะ และมีโอกาสมาช่วยงานในวัด และเห็นเป็นคนมีฝีมือจึงให้โอกาสโชว์ทักษะความสามารถทางด้านพุทธศิลป์ไว้ในวัดแห่งนี้ ซึ่งอุบาสก และอุบาสิกาภายในวัดต่างยอมรับถึงความสามารถว่า ไม่เป็นรองจิตรกรมืออาชีพเลยทีเดียว” พระครูวิบลสิริสุนทร เจ้าอาวาสวัดคงคาวดี ยืนยันถึงความสามารถของครูจูหลิง

 พระครูวิบล เล่าย้อนว่า เมื่อหลายปีก่อนวัดเล็กๆ แห่งนี้ ต้องการสร้างงานจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับเรื่องราวพุทธประวัติ แต่ไม่มีปัจจัยเพียงพอที่จะจัดจ้างช่างศิลป์ในราคาสูง กระทั่งชาวบ้านละแวกวัดได้นำกลุ่มศิลปินอิสระที่ทำงานศิลปะในพื้นที่ใกล้เคียงมาช่วยงานภายในวัด และมีโอกาสเห็นฝีมือและความตั้งใจของ “ครูจูหลิง” จึงมอบความไว้วางใจให้แสดงฝีมือรังสรรค์งานจิตกรรมในอุโบสถ รวมถึงศาลาโรงธรรม ซึ่งไม่ทำให้ผิดหวังเลยแม้แต่น้อย

  งานศิลปะฝาผนังภายในวัดแห่งนี้ ที่รังสรรค์จากปลายพู่กันของครูจูหลิง ล้วนงดงาม วิจิตรบรรจง ทั้งลายเส้น และสีสันที่ใช้แต่งแต้มเพื่อดำเนินเรื่องราวของพุทธองค์ และพุทธประวัติ ทำให้ทุกคนไม่ว่าจะเป็นพระลูกวัด ชาวบ้านที่มาทำบุญ หรือคนที่แวะเวียนมายังศาสนสถานแห่งนี้ ต่างระลึกถึงคุณงามความดีของ "ครูจูหลิง" ครูที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้อุทิศตนเพื่อสังคมอย่างแท้จริง ไม่เพียงแค่จิตรกรรมฝาผนังภายในวัดเท่านั้น แต่ครูจูหลิง ยังเป็นผู้จุดประกายความคิดสร้างบ้านดิน เพื่อถวายเป็นกุฏิให้แด่พระสงฆ์ภายในวัดแห่งนี้อีกด้วย

 ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างจากความตั้งใจของครูคนนี้ แม้ชีวิตจะล่วงลับไปแล้วก็ตามในวันนี้ แต่ทั้งหมดทั้งปวงถือเป็นคุณูประโยชน์อย่างยิ่งยวดต่อพุทธศาสนา

 "ครูคนนี้มีน้ำจิตน้ำใจงดงาม แม้ในวันที่ได้เป็นครูสอนหนังสือที่จ.นราธิวาส ก็ยังไม่ว่างเว้นจากการทำหน้าที่ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างสุดกำลัง ด้วยการเดินทางมาสร้างบ้านดิน และเก็บรายละเอียดในงานจิตรกรรมฝาผนังทุกๆ วันหยุดโดยเฉพาะช่วงที่โรงเรียนปิดภาคเรียน จะเดินทางมาช่วยงานวัดชนิดมิเคยขาด ครูจูหลิงยังคงอยู่ในใจของอุบาสก อุบาสิกาวัดคงคาวดีตลอดไป แต่เหนือสิ่งอื่นใดอยากให้คนไทยทุกคนในสังคมไม่ลืมเลือนเรื่องราวของเรือจ้างลำนี้เช่นกัน" พระครูวิบล กล่าว

 วันนี้ วัดคงคาวดี มีความตั้งใจที่จะต่อยอดผลงานของครูจูหลิง เพื่อเป็นการเชิดชูและยกย่องในคุณงามความดีที่ได้ทำไว้แด่พระพุทธศาสนา ด้วยการอนุรักษ์บ้านดิน ๒ หลังแรกที่เป็นผลงานของครูคนนี้ไว้ให้คงอยู่สืบไป ขณะเดียวได้สร้างบ้านดินเพิ่มอีก ๗ หลัง เพื่อร่วมสืบสานปณิธานของแม่พิมพ์ผู้จากไป ส่วนผลงานจิตรกรรมฝาผนังภายในวัดก็จะใช้เป็นจุดศูนย์กลางการเรียนรู้ให้แก่เยาวชน และนักศึกษาที่สนใจงานศิลปะแนวพุทธศิลป์ ให้สมกับความตั้งใจของครูผู้อุทิศตนแก่พุทธศาสนา เมื่อครั้งที่ยังมีลมหายใจอยู่ และที่สำคัญอนุสรณ์สถานทุกอย่างที่เกิดจากความตั้งใจของครูจูหลิงจะได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดีเพื่อให้คนรุ่นหลังได้รำลึกถึงผู้ที่ได้ชื่อว่าทำหน้าที่ “ความเป็นครู” อย่างสมบูรณ์แบบคนหนึ่งตลอดไปตราบนานเท่านาน

 หากใครยังรำลึกถึงแม่พิมพ์ผู้เสียสละรายนี้ สามารถแวะเวียนมาชมผลงานทางพุทธศิลป์ที่สร้างสรรค์เอาไว้ ได้ ณ ศาลา วัดคงคาวดี เพื่อร่วมกันจดจำและเชิดชูเรื่องราวของครูจูหลิง ปงกันมูล ตลอดไป

๐ เรื่อง / ภาพ สุพิชฌาย์ รัตนะ

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ