ไลฟ์สไตล์

"เอกลักษณ์ไทย+ไม่ทะเลาะ"เสียงสะท้อนผ่านงานศิลป์

"เอกลักษณ์ไทย+ไม่ทะเลาะ"เสียงสะท้อนผ่านงานศิลป์

07 ม.ค. 2553

เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี จะทรงเจริญพระชนมพรรษา 55 พรรษาในวันที่ 2 เมษายน 2553 มูลนิธิสงเคราะห์เด็กยากจนซี.ซี.เอฟ.ในประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณรับไว้ในพระราชูปถัมภ์ตั้งแต่ปี2537 เป็นต้นมา ได้จัดโครงการพิเศษสนองพระราชดำริด้านการอ่านเขียน ภายใต้ชื่อโครงการ จากใจถวายพระเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมจินตนาการและปลูกฝังให้เด็กไทยใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องและสร้างสรรค์

  ทั้งนี้ดร.กรรณชฎาพิริยะรังสรรค์ ผู้อำนวยการมูลนิธิฯ กล่าวถึงโครงการ จากใจถวายพระเทพฯ ว่าเป็นการแข่งขันวาดภาพและแต่งข้อเขียนแบบไม่จำกัดกรอบความคิด ซึ่งจัดขึ้นเมื่อปลายปี 2552 ที่ผ่านมา โดยมูลนิธิฯ นำเด็กในความดูแลกว่า 30,000 คนทั่วประเทศ มาแข่งขันกันในระดับจังหวัดและภาค จนได้ผู้ชนะจำนวน 300 คน จาก 30 จังหวัดทั่วประเทศ มาเพิ่มพูนทักษะและเปิดโลกทัศน์ในการวาดและการเขียนเพื่อคัดเลือก 55 ผลงานยอดเยี่ยม เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายองค์อุปถัมภ์ ค่ายนี้จัดขึ้นที่ แสนปาล์ม เทรนนิ่งโฮม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

     "เด็กๆ ทุกคนมีจินตนาการที่กว้างไกล แต่ผู้ใหญ่มักตีกรอบหรือครอบงำความคิดของเด็ก ทำให้จินตนาการของพวกเขาเหล่านั้นถูกทำลายไป มูลนิธิฯ จึงได้เน้นแนวทางการพัฒนาเยาวชนให้มีเสรีภาพทางความคิด ทั้งยังคำนึงถึงความถนัดและความสามารถตามวัยของเด็ก โดยในการประกวดวาดภาพและข้อเขียนครั้งนี้ ก็ได้กำหนดหัวข้อที่หลากหลายเพื่อให้เด็กมีอิสระที่จะเลือกเรื่องที่ตนเองสนใจจริงๆ อาทิ ความฝันของฉัน, ครอบครัวในฝัน, ครูในฝัน, ท้องถิ่นของเรา, คนดีของฉัน, ประชาธิปไตยในฝัน, เมืองไทยในอนาคต และโลกสีเขียว" ผอ.มูลนิธิฯ กล่าว

ดังนั้นเพื่อมอบ โอกาสในการเรียนรู้ ให้แก่เด็กจากครอบครัวยากไร้ในชนบทไกลๆที่มักเข้าไม่ถึงครูอาจารย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มูลนิธิฯ จึงได้เชิญศิลปินระดับชาติ อาทิ อ.สังคม ทองมี อ.ชมัยภร แสงกระจ่าง  และ "ครูเบิ้ม" ไพบูลย์ ธรรมเรืองฤทธิ์  มาถ่ายทอดความรู้ให้แก่เด็กๆ ในค่าย  

โดยอ.สังคมทองมี ผู้อำนวยการศูนย์ศิลป์สิรินธรกล่าวชื่นชมฝีมือของเด็กๆ ผู้ด้อยโอกาสกลุ่มนี้ว่า หากดูที่คุณภาพของภาพวาดแล้ว นับว่าเป็นผลงานที่มีคุณภาพ แม้ว่าจะเป็นเด็กด้อยความรู้ในห้องเรียนแต่ก็สามารถจุดประกายความคิดและถ่ายทอดจินตนาการได้ดี

ขณะที่อ.ชมัยภรแสงกระจ่าง นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยเผยความรู้สึกที่ได้สัมผัสกับเด็กๆ ที่เลือกเรียนรู้ด้านการเขียนว่า ประทับใจที่เด็ก ซี.ซี.เอฟ. แตกต่างจากเด็กกลุ่มอื่นๆ ที่เคยสอนมา เนื่องจากเด็กเหล่านี้ไม่ยึดติดกับวัตถุสิ่งมอมเมาต่างๆ แม้ว่าจะเป็นเด็กจากครอบครัวที่ขาดแคลน และเมื่อให้เด็กแต่ละคนพูดถึงคำที่ตัวเองสนใจ แทนที่เด็กๆ จะพูดว่าอยากร่ำรวยหรืออยากได้รถยนต์ แต่เด็ก ซี.ซี.เอฟ. กลับพูดถึง ความหวัง ความริเริ่ม การให้ นี่สะท้อนว่าพวกเขาถูกหล่อหลอมมาดี จึงมองตัวเองและสิ่งแวดล้อมโดยไม่ยึดติดกับวัตถุ

นอกจากนี้อาจารย์ชมัยภร ยังได้แสดงความมั่นใจและฝากถึงผู้เกี่ยวข้องอีกว่า เด็กๆ เหล่านี้จะสามารถสื่อสารความรู้สึกจากภายในออกมาได้ และที่ไม่ควรมองข้ามคือ การพัฒนาเด็กที่ขาดโอกาส ควรกระตุ้นจินตนาการด้วยวิธีการที่หลากหลาย เช่น สอนให้แต่งนิทานหรือเขียนเรื่องง่ายๆ

ฟากน้องๆเมื่อได้รับการกระตุ้นให้นึกถึงเรื่องราวรอบๆ ตัวด้วยแง่คิดที่เปิดกว้างไม่ครอบงำ ก็สามารถสะท้อนมุมมองบริสุทธิ์ของตัวเองออกมาเป็นเรื่องแต่งและเป็นภาพวาดหลากสีสัน ฝากไปถึงผู้ใหญ่ในบ้านเมือง อาทิ ด.ญ.เกษราภรณ์วัย11 ปี จาก จ.พะเยา พูดถึง เมืองไทยในอนาคต ว่าคือการดูแลกันและสามัคคีรักใคร่ ปรองดองกันเหมือนพี่น้องรักกัน มีการให้อภัยกัน ขณะที่ด.ญ.สุริยาณีอายุ10 ปี จาก จ.นราธิวาส เขียนเรื่อง ครอบครัวในฝัน สะท้อนความหวั่นวิตกลึกๆว่า ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองบ้านเมืองโดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่สงบ

ในขณะที่น.ส.จิตติมาฆ์ อายุ 15 ปี จาก จ.สุรินทร์ พูดถึง ครูในฝัน ว่าประเทศไทยเรามีคุณครูคนหนึ่งที่เด็กๆทุกคนอยากจะศึกษาหาความรู้กับคุณครูคนนี้ ซึ่งก็คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่พระองค์ได้ทรงสอนให้แก่โรงเรียนชายแดน เพราะคุณครูมีไม่พอ พระองค์ก็ทรงสอนเด็กๆ อย่างตั้งใจ และถ้าเป็นไปได้ ฉันก็อยากเป็นนักเรียนที่พระองค์ทรงเป็นคุณครู

แม้จะเป็นเพียงเสียงสะท้อนจากความคิดของเด็กเล็กๆแต่ก็อดถามถึงบรรดาผู้ใหญ่ทั้งหลายไม่ได้ว่า ถึงวันนี้กำลังทำอะไรให้แก่บ้านเมืองบ้าง ความเป็นไทยและความสามัคคีกลมเกลียวกัน ยังคงอยู่หรือไม่ หรือจะต้องรอให้เด็กยากไร้จากต่างจังหวัดลุกขึ้นมาเรียกร้องแทน