
จุรินทร์"ไฟเขียวเกณฑ์รับนักเรียนปี2553
จุรินทร์ไฟเขียวเกณฑ์รับนักเรียนปีการศึกษา 2553 ชั้นอนุบาล ป.1และม.1ใช้เกณฑ์เดิมเหมือนปีการศึกษา 2552 ชั้นม.1 โรงเรียนยอดนิยมรับเด็กในเขตพื้นที่บริการร้อยละ 50 และเด็กนอกเขตพื้นที่บริการร้อยละ 50 ขณะที่การรับนักเรียนชั้นม.4 ปรับใหม่ให้รับนักเรียนจบม.3 เ
เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2553 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.)กล่าวแถลงข่าวนโยบายและแนวปฏิบัติการการรับนักเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ประจำปีการศึกษา 2553ที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ว่า ตนได้เห็นชอบร่างนโยบายและแนวปฏิบัติการรับนักเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ประจำปีการศึกษา 2553 โดยหลักเกณฑ์ในการรับนักเรียนประจำปีการศึกษา 2553 ระดับก่อนประถมศึกษา ชั้นป.1 และชั้นม.1 ยังคงใช้หลักเกณฑ์วิธีการเดิมที่เคยปฏิบัติมาได้แก่ 1.ระดับก่อนประถมศึกษาและ ชั้นป.1 ให้รับเด็กทุกคนที่สมัครเข้าเรียน ยกเว้นหากเกินจำนวนที่นั่งที่มีอยู่ให้ใช้วิธีการจับสลาก
ส่วนระดับชั้นม. 1 แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม 1 โรงเรียนทั่วไปจำนวน 9,170 แห่งทั่วประเทศ ให้ใช้วิธีการรับนักเรียนที่ประสงค์เข้าเรียนทุกคนยกเว้นหากเกินจำนวนที่นั่งให้ใช้วิธีการจับสลาก และ กลุ่ม 2 โรงเรียนยอดนิยม 369 แห่งทั่วประเทศ ให้รับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการร้อยละ 50โดยใช้วิธีสอบคัดเลือกก่อน หากมีที่นั่งเหลือให้จับสลาก ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 50 รับนักเรียนที่ประสงค์เรียนจากทั่วประเทศโดยใช้วิธีการจับสลากหรือสอบคัดเลือกก็ได้โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า ส่วนแนวปฏิบัติการรับนักเรียนที่มีการปรับแก้ไข คือ การรับนักเรียนระดับ ม.4 ให้โรงเรียนทุกแห่งที่เปิดสอนตั้งแต่ชั้น ม.1-6 รับนักเรียนที่จบชั้น ม.3 จากโรงเรียนเดิมทุกคนให้เต็มจำนวนที่นั่งที่มีอยู่ก่อน โดยเรียงตามลำดับคะแนนเฉลี่ยของนักเรียน เนื่องจากโรงเรียนส่วนใหญ่จะมีที่นั่งเรียนชั้นม.ปลายน้อยกว่าชั้นม.ต้น อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่าแนวทางนี้จะทำให้เกิดความเหมาะสม เป็นธรรม และสอดคล้องกับการพัฒนาคุณภาพของเด็กมากขึ้น อีกทั้งทำให้ผู้ปกครองไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าเรียน ม.4 ใหม่โดยไม่จำเป็นด้วย
นายจุรินทร์ กล่าวด้วยว่า นโยบายและแนวปฏิบัติการรับนักเรียนข้างต้นใช้ในการการรับนักเรียนปกติในโครงการเรียนฟรี 15 ปี ส่วนการรับเด็กเก่งจากภายนอกเข้ามาเรียนนั้น ก็สามารถทำได้โดยการรับนักเรียนโปรแกรมพิเศษเท่านั้น โดยหากโรงเรียนใดที่มีความพร้อมและประสงค์จะเปิดห้องเรียนหรือโปรแกรมพิเศษ เช่น อิงลิชโปรแกรม(อีพี) ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ ซึ่งต้องการใช้วิธีการพิเศษในการคัดเลือกนักเรียน ก็เปิดโอกาสให้ดำเนินการได้ เพื่อไม่ให้เป็นการไปสกัดกั้นการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียน ส่วนกรณีที่เป็นห่วงว่าโรงเรียนยอดนิยมจะไปลดยอดจำนวนรับเด็กที่จบชั้นม.3 นั้นเชื่อว่าโรงเรียนคงไม่สามารถทำได้เพราะต้องรับเด็กที่จบชั้นม.3เดิมให้เต็มจำนวนที่รับได้ก่อน และการรับเด็กเก่งก็มีโปรแกรมพิเศษรองรับอยู่แล้ว
“ที่ผ่านมามีโรงเรียนหลายแห่งใช้วิธีการคัดเด็กที่จบชั้นม.3 ในโรงเรียนเดิมออกทั้งที่ยังมีที่นั่งเรียนเหลืออยู่ โดยให้เหตุผลว่าเด็กได้เกรดเฉลี่ยไม่ถึงเกณฑ์ที่โรงเรียนกำหนด ซึ่งบางโรงเรียนกำหนดเกรดเฉลี่ยสะสมไว้สูงถึง 2.5 – 3 กรณีเช่นนี้เท่ากับเป็นการไปโทษที่ตัวเด็กว่าเรียนไม่เก่งพอทั้งที่โรงเรียนสอนมาตั้งแต่ ม.1 ก็ไม่ได้แสดงความรับผิดชอบว่าสอนเด็กอย่างไรให้ได้เกรดเฉลี่ยไม่ถึงเกณฑ์ และหันไปใช้วิธีรับเด็กใหม่ที่เก่งกว่าเข้ามาแทน ทำให้เด็กเก่า ก็ต้องไปเสียค่าใช้จ่ายและเสียเวลาไปหาที่เรียนใหม่” นายจุรินทร์ กล่าว
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า หลังจากนี้ สพฐ.จะนำแผนการรับนักเรียนของโรงเรียนทั่วประเทศ เผยแพร่ทางเว็บไซต์ของ สพฐ. ที่ www.obec.go.th ซึ่งจะมีการระบุชัดเจนว่าโรงเรียนแต่ละแห่งมีที่นั่งรับนักเรียนจำนวนเท่าใดบ้าง และโรงเรียนจะต้องดำเนินการรับนักเรียนไปตามจำนวนดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าแนวทางในการเปิดโอกาสให้นักเรียนชั้นม.3 เข้าเรียนต่อชั้นม.4 โรงเรียนจนเต็มจำนวนที่นั่งก่อนนั้น ไม่ได้สวนทางกับนโยบายของ ศธ.ที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนนักศึกษาในสายอาชีพเพิ่มขึ้น เนื่องจากยังมีนักเรียนส่วนหนึ่งที่ต้องการเข้าเรียนในสายอาชีพอยู่แล้ว
”เมื่อปีที่แล้วสพฐ.ได้ลงนามความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)ให้โรงเรียนสายสามัญเปิดสอนสายอาชีพต่างๆควบคู่ไปกับสายสามัญให้แก่นักเรียนม.ปลายได้ เมื่อเรียนจบม.ปลายก็จะได้วุฒิม.ปลายและวุฒิปวช. ซึ่งจะสอดรับกับการที่ต่อไปสถาบันอาชีวศึกษาจะเปิดสอนได้ถึงปริญญาตรี ก็จะเป็นการจูงใจให้เด็กเข้าเรียนอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้น”นายจุรินทร์ กล่าว