
โรคกระดูกพรุน
กระดูกพรุน หรือ กระดูกโปร่งบาง เป็นภาวะที่มวลกระดูก หรือความหนาแน่นของเนื้อกระดูกลดลง ร่วมกับ มีความเสื่อมของโครงสร้างภายในของกระดูกลดลง ส่งผลให้กระดูกหักง่าย
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน
1. อยู่ในวัยหมดประจำเดือน หรือสูงอายุ (ทั้งชายและหญิง)
2. เป็นชาวเอเชียและคนผิวขาว
3. คนในครอบครัวมีประวัติโรคกระดูกพรุน หรือหกล้มแล้วกระดูกหักง่าย เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง
4. รูปร่างเล็ก และผอมบาง
5. รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมไม่เพียงพอ
6. รับประทานอาหารโปรตีนและรสเค็มมากเกินไป
7. ไม่ออกกำลังกาย
8. ดื่มสุรา สูบบุหรี่ หรือดื่มกาแฟมากกว่าวันละ 2 แก้ว
9. ใช้ยาสเตียรอยด์ ยากันชัก หรือได้รับยาฮอร์โมนธัยรอยด์ขนาดสูงเป็นเวลานาน
10. มีโรคเรื้อรัง เช่น ข้ออักเสบ และโรคไต
โรคกระดุกพรุนส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ แต่ผลที่ตามมาจะทำให้คอตกและยื่นไปข้างหน้า ตัวเตี้ยลง หลังค่อม มักมีอาการแน่นท้อง อิ่มง่าย ท้องผูก หายใจลำบาก ทำให้เสียบุคลิกภาพ เครียด ขาดความมั่นใจในตนเอง และ กระดูกหักง่าย
โรคกระดูกพรุนเป็นภัยมืดที่รุกเงียบ
โรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่ค่อยเป็นค่อยไปแบบช้าๆ ไม่แสดงอาการใดๆ ให้รู้ตัวล่วงหน้าในระยะกระดูกโปร่งบาง จนกว่าจะเป็นมากถึงขั้นกระดูกพรุนจึงจะมีอาการบ่งบอก เช่น ตัวเตี้ยลงเร็วปีละมากกว่า 1 ซม. กล้ามเนื้อลีบเล็กลง กระดูกสันหลังโก่งงอหรือคด มีอาการปวดหลังแบบเป็นเองหายเองสลับกันไป ในรายที่กระดูกสะโพกหักอาจถึงแก่ชีวิตได้แบบ 50-50 ที่รอดก็อาจจะพิการ กว่าจะรู้ตัวว่า เป็นโรคกระดูกพรุน ร่างกายก็จะเริ่มพิการแล้ว นับว่าเป็นภัยมืดที่รุกเงียบอย่างแท้จริง
การป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุน
1. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
2. รับประทานอาหารที่ทีธาตุแคลเซียมสูง
3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
4. หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน
5. ระวังการหกล้มในผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันไม่ให้กระดูกหัก
6. รับประทานยายับยั้งการสลายกระดูก ในกรณีที่แพทย์เห็นสมควร
ความต้องการแคลเซียมต่อวันเพื่อป้องกันกระดูกพรุนในแต่ละช่วงอายุ
ทารก 600 มก.
เด็ก 800 มก.
วัยรุ่น 1,200 มก.
ผู้ใหญ่ (25-50 ปี) 800-1,000 มก.
วัยหมดประจำเดือน 1,500-2,000 มก.
ผู้สูงอายุ 1,000 มก.
โรงพยาบาลกรุงเทพ โทร. 1719