ไลฟ์สไตล์

คิดสวนทา-เติมใจให้กัน(2)

คิดสวนทา-เติมใจให้กัน(2)

05 ม.ค. 2553

เป็นเวลา 20 ปีแล้วนะครับ ที่เพลง "เติมใจให้กัน" ถูกประพันธ์ขึ้นมารับใช้สังคม และก็ยังอยู่ในความนิยมของผู้ฟังตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ทุกๆ ปีจะมีผู้มาขออนุญาตใช้ลิขสิทธิ์เพื่อนำไปทำซ้ำ อยู่เสมอมาทุกปี รวมถึงการขออนุญาตใช้สิทธิในการเผยแพร่เพื่อนำเพลงนี้ออกแสดงต

 เพลงนี้ประพันธ์คำร้องโดย คุณศุ บุญเลี้ยง ประพันธ์ทำนองโดย คุณสินนภา สารสาส ในครั้งแรกเพลงนี้ประพันธ์เพื่อใช้เป็นเพลงนำของภาพยนตร์เรื่อง “พริกขี้หนูกับหมูแฮม” บทภาพยนตร์โดย คุณคิง ชนินทร นำแสดงโดย คุณขจรศักดิ์ รัตนนิสสัย คู่กับคุณจันทร์จิรา จูแจ้ง อำนวยการสร้างโดยบริษัท ไทยเอนเตอร์เทนเมนท์ ผู้ขับร้องคนแรกคือ คุณมัม ลาโคนิค ออกฉายครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2532

 ความเดิมก็มีอยู่ว่า ที่บริษัท บัตเตอร์ฟลาย ที่คนส่วนมากมักไม่ยอมทำความเข้าใจเลยว่า นักดนตรีก็ทำธุรกิจเปิดให้บริการรับแต่งเพลงเป็นเรื่องเป็นราวได้เหมือนกัน สื่อทั่วไปจึงยังนิยมเรียกว่า “วงบัตเตอร์ฟลาย” เพราะถ้านักดนตรีมาทำงานรวมกันเป็นกลุ่มก็ต้องเรียกว่า “วงดนตรี” ในช่วงนั้นก็ทำให้เกิดความสับสนกันอยู่พอสมควร เพราะมีผลงานของวง “บัตเตอร์ฟลาย” ซึ่งมีความมุ่งมั่นในการนำเสนอผลงานดนตรีแนว ร็อกแบบหัวก้าวหน้า (Progressive Rock) ที่เป็นภาษาอังกฤษล้วนออกมาด้วย

 ในความเป็นจริงสมาชิกแต่ละคนก็มีโครงการที่อยากจะนำเสนอผลงานในรูปแบบของตัวเองอยู่หลายแนว ใครถนัดแนวไหนก็จะมุ่งเข้มไปทางนั้น แต่งานของบริษัทที่เข้ามาในรูปแบบต่างๆ เช่น เพลงโฆษณา เพลงประกอบภาพยนตร์ เพลงประกอบสารคดี ก็มักจะมีการลงแขกช่วยกันทำอยู่เสมอๆ

 หลังจากที่ประสบความสำเร็จจากภาพยนตร์เรื่อง "รักแรกอุ้ม" โดยที่บริษัทได้รับรางวัลดนตรีประกอบยอดเยี่ยมจากฝีมือการประพันธ์ของคุณพงษ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา แล้ว บริษัทไทยเอนเตอร์เทนเมนท์ก็ไว้วางใจให้ทำงานต่อ โดยรับหน้าที่ทำเพลงประกอบทั้งเรื่อง และเพลงนำเรื่องคือ เพลง “เติมใจให้กัน” ที่กลายมาเป็นที่นิยมจนถึงปัจจุบัน

 ท่านผู้อ่านก็คงจะเริ่มสงสัยตงิดๆ ว่าผมไปเกี่ยวข้องอะไรกับเขาด้วย ก็ในช่วงนั้นผมต้องมาสวมหัวโขนมีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการ หัวโขนที่ว่านี้มีหลายหัวมาก หนึ่งในนั้นก็มีหน้าที่รับงานต่างๆ ที่เข้ามาในบริษัท และในฐานะที่เป็นนักดนตรีด้วยก็ทำหน้าที่เป็น มิวสิกไดเรกเตอร์บ้าง เป็นโปรดิวเซอร์บ้าง บางทีก็ต้องแต่งเพลง หรืออัดกีตาร์บ้าง สุดท้ายก็ตามเก็บเงิน จ่ายเงิน ฯลฯ

 ในงานนี้ก็ทำหน้าที่เป็นมิวสิกไดเรกเตอร์และโปรดิวเซอร์ในขณะเดียวกัน หน้าที่สองหน้าที่นี้แตกต่างกันอย่างไรจะเก็บไว้มาขยายความกันในวันหน้าแล้วกัน

 งานทำเพลงประกอบภาพยนตร์ส่วนมากมักจะเร่งรีบ ผู้กำกับหรือผู้อำนวยการสร้างจะมาหาพร้อมกับคำว่า “ผมต้องการเพลงของคุณตั้งแต่เมื่อวานแล้ว” เวลาสำหรับการทำดนตรีมักจะอยู่ในขั้นตอนสุดท้าย ถ้ามีการล่าช้าจากการทำงานส่วนอื่นมาละก็ คุณก็เตรียมตัวถูกบีบแบนแต๊ดแต๋เป็นกล้วยทับได้เลย เพราะส่วนมากมีกำหนดลงโรงฉายเอาไว้แล้ว แปลว่าต้องทำให้เสร็จไม่มีการเลื่อนกำหนดระยะเวลาการทำงานออกไปอีกเด็ดขาด

 วันนั้นยังจำได้ดีที่คำร้องมาวันเดียวกับวันที่นัดนักร้องคือคุณมัม มาร้องพอดี ยังนึกว่า "จุ้ย" เขียนคำร้องยังไม่เสร็จ เพราะมีอยู่ท่อนเดียว ซึ่งปกติคำร้องมักจะต้องมีสองท่อน สำหรับท่อนที่ทำนองย้อนกลับมาอีกเที่ยวหนึ่ง ทำไงได้นักร้องก็มาตรงเวลายืนเปรี้ยวรอจะร้องอยู่แล้ว จะติดต่อกลับก็คงไม่ได้เพราะจะต้องรอคำร้องท่อนที่สองอีก

 ที่สำคัญเพลงต้องเสร็จวันนี้ไม่มีคิวเหลือให้รออะไรได้อีก เอ้าร้องก็ร้องไปเลย เป็นคนคุมร้องเองในวันนั้น ด้วยอารมณ์ที่สุนทรีย์ของคุณมัม ทำให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น หัวเราะเอิ๊กอ๊ากกันสนุกสนานไม่มีซีเรียสอะไรเลย และเมื่อฟังหลายเที่ยวเข้าก็มีความรู้สึกว่า คำร้องก็สมบูรณ์ครบถ้วนเข้ากับเรื่องราวของภาพยนตร์เป็นอย่างดีแล้ว เพลงก็เลยสำเร็จออกมาอย่างที่ได้ยินได้ฟังกันในปัจจุบัน

 วันนี้ขอแค่นี้ก่อนแล้วกันนะครับ ฉบับหน้าจะลองลงลึกวิเคราะห์ถึงว่า ทำไมเพลงนี้ถึงยังคงอยู่ในความทรงจำของหลายๆ ท่านได้จนถึงทุกวันนี้ และขอถือโอกาสนี้อวยพรให้ท่านผู้อ่านทุกๆ ท่าน จงประสบแต่ความสุขความเจริญตลอดปีใหม่ที่จะถึงนี้ด้วยนะครับ

 พบกันใหม่ปีหน้า ปีเสือ..!! ดุแน่ๆ ครับ

 จิรพรรณ อังศวานนท์