ไลฟ์สไตล์

เปิดโรงงานราชาไหมไทย การหายตัวไปที่ไม่สาบสูญ

เปิดโรงงานราชาไหมไทย การหายตัวไปที่ไม่สาบสูญ

24 ธ.ค. 2552

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 ที่จิม ทอมป์สัน ตั้งใจศึกษาพัฒนาไหมไทยให้ก้าวสู่ระดับโลก จนถึงตอนนี้ความตั้งใจดังกล่าวยังไม่เลือนหายตามกาลเวลา

“น่าภูมิใจที่ปัจจุบันไม่ว่าจะมีเครื่องจักรที่ทันสมัยเท่าไหร่ จิม ทอมป์สัน ก็ยังไม่ทิ้งผ้าไหมที่ทอจากมือ” เสียงยืนยันเอกลักษณ์ผ้าไหม จาก ชุติมา ดำสุวรรณ ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท อุตสาหกรรมไหมไทย จำกัด (จิม ทอมป์สัน) ก่อนที่จะพาคณะสื่อมวลชนเข้าไปชมโรงงานที่ถือเป็นแหล่งผลิตหลักและถือเป็นดินแดนลับแล เพราะน้อยคนนักที่จะได้เข้าไปสัมผัสเบื้องหลังความมหัศจรรย์ของไหมจิม ทอมป์สัน จึงเป็นเรื่องที่น่าพิสูจน์ว่าพวกเขามีวิธีการอย่างไรที่ทำให้ไหมไทยดังไปทั่วโลกได้เป็นเวลามาช้านาน

 โรงงานที่กล่าวถึงนี้เป็นความตั้งใจที่จะขยายการผลิตให้ใหญ่ขึ้น หลังจากผ้าไหมไทยมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก โดยตั้งอยู่ใน อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา มีหน้าที่ผลิตผ้าฝ้ายและผ้าไหม ส่งขายทั้งในไทยและต่างประเทศ ด้านหน้าโรงงานมีจุดบริการข้อมูลแก่นักท่องเที่ยว หรือ “หอค้ำคูณ” ตามภาษาอีสานแปลว่า "ค้ำจุน เกื้อหนุนกัน" เมื่อเดินเข้าไปภายในโรงงานก็จะพบกับบรรยากาศร่มรื่นของต้นไม้รายล้อมอาคารและถนน ไม่แออัดเหมือนโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไป

 จุดแรกที่เห็นคือ โรงเก็บไหม มีไหมอยู่ 3 ประเภท ได้แก่  "ไหมสีขาว" ซึ่งนำเข้าจากจีนและญี่ปุ่น ลักษณะเส้นแข็งแรง ความเงาปานกลาง ใช้เพื่อทำเป็นเส้นตั้งในกระบวนการทอเพื่อทำให้ผ้ามีโครงสร้างแข็งแรง ซึ่งที่ต้องนำเข้าก็เพราะประเทศไทยยังผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการนั้นเอง ขณะที่ "ไหมสีเหลือง" เป็นของท้องถิ่น มีความเงางามสูง มักนำมาใช้เป็นเส้นพุ่ง เพื่อทำให้เห็นลายผ้าชัดเจนสวยงาม โดยไหมทั้งสองแบบนี้มีการสาวเส้นไหมด้วยเครื่องจักรทำให้มีพื้นผิวที่เรียบสม่ำเสมอ ต่างจาก "ไหมหยาบ" ซึ่งเป็นไหมของไทยเช่นกัน แต่มีความพิเศษตรงที่ขบวนการสาวไหมทำด้วยมือของชาวบ้านใน อ.ปักธงชัย ทำให้มีลักษณะมีปุ่มปม แต่ก็สามารถนำมาสาวไหมให้สวยงามได้ หรือหากนำมาทอก็จะเป็นผ้าที่มีลักษณะพิเศษที่ไม่เรียบลื่นแต่มีปุ่มปมถือเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างของไหมไทยเช่นกัน

 “ผ้าไหมที่ดี ต้องผ่านการทำลายเส้นไหมให้น้อยที่สุด กระบวนการนี้ไม่ถือเป็นเคล็ดลับ แต่เป็นหลักที่คนทำผ้าไหมยึดถือกันมาช้านานแล้ว” ผู้จัดการโรงทอผ้ากล่าว

 บริเวณใกล้ๆ กัน เสียงกี่อันเป็นเอกลักษณ์ของการทอผ้าส่งเสียงดังอย่างสม่ำเสมอมาจาก โรงทอผ้า  ซึ่งมีพนักงานหลายช่วงอายุทั้งคนชราและสาวรุ่นนั่งทอผ้าอยู่เรียงราย  จำนวนเกินครึ่งล้วนอยู่ที่นี่มาแล้วกว่า 10 ปี ผลงานที่ออกมาจึงมีความละเอียดและยังคงสไตล์ของ จิม ทอมป์สัน ได้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย 

 และเพื่อเพิ่มความงดงามยิ่งขึ้น ที่นี่จึงเพิ่มขั้นตอนการพิมพ์ลาย ซึ่ง ศุภวัตร พานทอง ผู้จัดการฝ่ายโรงพิมพ์ เล่าว่าผ้าทุกม้วนต้องพิมพ์ด้วยมือเท่านั้น โดยใช้ฝีมือพนักงาน 2 คน คนแรกมีหน้าที่พิมพ์ลายที่ทำจากไม้พีช ไม้ที่แข็งแรงทนทานต่อการทุบ บุลายด้วยผ้ากำมะหยี่ เหล็กอัลลอยด์ และตะปูทองเหลือง เพื่อให้ได้ลวดลายที่ชัดเจน ส่วนอีกคนจะเก็บรายละเอียดสีที่ขาดหาย ความประณีตอยู่ที่ในหนึ่งลายอาจต้องใช้บล๊อคกว่า 300 ชิ้น ดังนั้น คนทำต้องมีความแม่นยำมาก ส่วนในตัวของไม้บล็อกเองต้องใช้ความละเอียดในการแกะสูงซึ่งตอนนี้ในประเทศไทยไม่มีใครทำได้แล้ว จึงต้องมีการซ่อมแซมบล็อกอยู่เสมอ ด้านสีที่ใช้พิมพ์นั้นเป็นสีในตระกูลสีน้ำ ที่เรียกกันว่า สีวัต (VAT) เพราะติดทนนาน

 สิ่งที่น่ายินดีอีกเรื่องคือ การแชร์ประสบการณ์และการถ้อยทีถ้อยอาศัยระหว่างชาวบ้าน อ.ปักธงชัยที่ขึ้นชื่อเรื่องการทอผ้ากับองค์กร เพราะเมื่อถามถึงการผลิตผลิตภันฑ์เพื่อการแข่งขันทางการตลาดในอนาคต กับผู้จัดการโรงพิมพ์ก็ได้คำตอบว่า จะไม่ทำสิ่งที่ชาวบ้านทำไม่ได้ แต่จะผลิตสิ้นค้าที่ชาวบ้านสามารถช่วยทำได้

 "แม้ มร.จิม ทอมป์สัน จะหายตัวไปกว่า 42 ปีแล้ว แต่ก็ยังมีอุดมการณ์และกระบวนการที่ยังรักษาเจตนารมยณ์เพื่อชาวบ้านและคุณภาพของผ้าไหมในแบบฉบับของจิม ทอมป์สันไม่ให้สูญหายไปตามตัวคนเลย"

 ใครที่ไม่ได้เข้าไปดูโรงงานก็ไม่ต้องเสียดายไป เพราะในช่วงเดือนธันวาคม ของทุกๆ ปีก็จะมีกิจกรรม “จิม ทอมป์ สัน ฟาร์มทัวร์” ที่เปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้เข้ามาท่องเที่ยวและศึกษากระบวนการทำผ้าไหมได้ภายในฟาร์ม โดยไฮไลท์อยู่ที่หมู่บ้านอีสาน ไร่ฟักทองสวยๆ และนิทรรศการศิลปะที่สะท้อนถึงชีวิตเกษตรกรและการทอไหมให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสตั้งแต่วันนี้ไปจนถึง10 มกราคมปีหน้าโน่น