
สกัดโปรตีนจากรำข้าวหอม ช่วยลดความดัน-ต้านมะเร็ง
ประเทศไทยมีพื้นที่ทำนาปีและนาปรังประมาณ 66 ล้านไร่ ได้ผลผลิตข้าวเปลือกราว 24 ล้านตันต่อปี สีเป็นข้าวสารได้ประมาณ 14 ล้านต้น โดยมีผลพลอยได้ซึ่งเป็นรำข้าว 2.28 ล้านต้น ทั้งนี้ รำข้าวส่วนหนึ่งจะถูกนำไปสกัดน้ำมัน ส่วนที่เหลือจากการสกัดจะจำหน่ายไปเป็นส่วนผสมขอ
"จากที่เราศึกษา สามารถสกัดเปปไทด์ซึ่งเป็นกรดอะมิโนจากโปรตีน มีคุณสมบัติเป็นสารช่วยลดความดันและต้านอนุมูลอิสระได้ โดยเบื้องต้นทดลองนำมาผลิตในรูปแบบผงละลายน้ำ หรือเป็นส่วนผสมของเครื่องดื่ม อาทิ น้ำนมถั่วเหลือง น้ำข้าวกล้อง นอกจากนี้ยังทดลองผลิตป็นผงบรรจุในแคปซูลสำหรับคนรักสุขภาพซึ่งรับประทานได้ทันทีอีกด้วย" ผศ.ดร.ศุภวรรณกล่าว
ทั้งนี้ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้รำข้าวได้ไม่น้อย เพราะหากจำหน่ายกากรำข้าวเพื่อเป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์จะขายได้ที่กิโลกรัมละ 6-8 บาทเท่านั้น แต่เมื่อนำมาสกัดเพื่อให้ได้เปปไทด์โปรตีนรำข้าว เปปไทด์ที่ได้จะกิโลกรัมละ 1,000-2,000 บาท โดยจากการศึกษากากรำข้าว 1 กิโลกรัม สกัดเปปไทด์ได้ 5% ของน้ำหนัก
ผศ.ดร.ศุภวรรณกล่าวถึง ขั้นตอนการสกัดเปปไทด์ฯ ว่า ขั้นแรกต้องนำรำข้าวมาสกัดน้ำมันออกก่อน จากนั้นจึงนำไปสกัดโปรตีนรำข้าว โดยใช้สภาวะเป็นด่าง (พีเอช 11) จะได้โปรตีนรำข้าว เสร็จแล้วนำไปผสมน้ำในอัตราส่วน น้ำ : โปรตีน เท่ากับ 4 : 1 ก่อนนำมาปรับสภาพให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสม ที่เอนไซม์ในการย่อยโปรตีนจะทำงาน คือ ค่าพีเอช 8 อุณหภูมิ 55 องศาเซลเซียส ใช้เวลาย่อยสลาย 4 ชั่วโมง
เมื่อเสร็จแล้วนำมาแยกโดยการกรอง จะได้สารละลายที่มีองค์ประกอบของเปปไทด์ จากนั้นจึงนำสารละลายมาทำแห้งแบบละเหิดจะได้ผงสีเหลืองอ่อน ไม่มีกลิ่น สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมหลายประเภท เช่น ผลิตเป็นอาหารเสริมสุขภาพ ผสมในอาหาร และเครื่องดื่มต่างๆ เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการอันจะส่งผลดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะการควบคุมความดันและการต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นคุณสมบัติเด่นของเปปไทด์จากโปรตีนรำข้าว
“คนที่เป็นโรคความดัน ต้องกินยาซึ่งเป็นสารสังเคราะห์ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน จึงอาจมีผลข้างเคียงต่อร่างกาย และส่งผลให้ตับต้องทำงานหนัก ดังนั้น หากเปลี่ยนมารับประทานเปปไทด์โปรตีนจากกากรำข้าวเป็นอาหารเสริม จะช่วยให้หลีกเลี่ยงยาสังเคราะห์ได้ สุขภาพร่างกายก็จะดีขึ้น นอกจากนี้ เปบไทด์ที่สกัดได้ยังมีคุณสมบัติช่วยต้านอนุมูลอิสระอันเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดมะเร็งอีกด้วย” ผศ.ดร.ศุภวรรณ แจง
พร้อมระบุอีกว่า ผลการวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาในห้องปฏิบัติการ ดังนั้น ต้นทุนการผลิตจึงสูง อย่างไรก็ดี หากมีการผลิตเชิงพาณิชย์ หรือผลิตปริมาณมากจะทำให้ต้นทุนถูกลง โดยขณะนี้ได้เสนอผลงานวิจัยต่อผู้ประกอบการผลิตน้ำมันรำข้าว ซึ่งแต่เดิมจะนำกากรำข้าวที่เหลือนี้ไปผลิตเป็นอาหารสัตว์และยังเสนอไปยังกลุ่มผู้ประกอบการโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร ที่สนใจนำโปรตีนนี้ไปผสมในอาหารเพื่อเสริมคุณค่าทางโภชนาการหรือเป็นอาหารสุขภาพต่อไป
ผศ.ดร.ศุภวรรณกล่าวในตอนท้ายว่า อนาคตจะศึกษาหาแนวทางการผลิตเพื่อให้ได้เปปไทด์สารสกัดโปรตีนจากกากรำข้าวในปริมาณที่สูงขึ้น และศึกษาความคงทนของคุณสมบัติเปปไทด์ โดยเฉพาะประสิทธิภาพด้านการต้านอนุมูลอิสระว่าหากผสมในเครื่องดื่มหรืออาหารเสริมอื่นๆ จะคงประสิทธิภาพได้ยาวนานมากน้อยเพียงใด
สำหรับผู้สนใจผลการวิจัยดังกล่าว สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ มข. โทร.0-4336-2006 หรือ ผศ.ดร.ศุภวรรณ ถาวรชินสมบัติ โทร.0-4336-2132 ในวันเวลาราชการ