
เปิดโทษปกปิดข้อมูล "โควิด-19" โทษสูงสุดคุกไม่เกิน 2 ปีปรับไ
เปิดโทษปกปิดข้อมูล "โควิด-19" โทษสูงสุดคุกไม่เกิน 2 ปีปรับไม่เกิน 5 แสน
คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ประกาศโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ซึ่งจะเกิดประโยชน์อย่างมากในการช่วยให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และการประกาศนี้ไม่ได้แปลว่าประเทศเข้าสู่การระบาดระยะที่ 3 แต่อย่างใด เป็นการประกาศเพื่อให้การทำงานเพื่อชะลอหรือยืดระยะเวลาการเข้าสู่ระยะที่ 3 ไว้ให้ได้นานที่สุด
อ่านข่าว... โควิด-19 ระบาดทั่วโลกแล้ว
14โรคติดต่ออันตราย
ก่อนหน้านี้ประเทศไทยมีการประกาศ โรคติดต่ออันตรายแล้ว 13 โรค ได้แก่ 1.กาฬโรค 2.ไข้ทรพิษ 3.ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก 4.ไข้เวสต์ไนล์ 5.ไข้เหลือง 6.โรคไข้ลาสซา 7.โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ 8.โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก 9. โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา 10.โรคติดเชื้อไวรัสเฮนดรา 11.โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือโรคซาร์ส 12.โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส และ 13.วัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก หากโรคโควิด-19 ผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการก็จะเป็นลำดับที่ 14
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค(คร.) อธิบายว่า หากประกาศโรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายมีผลบังคับใช้ จะดำเนินการตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งจะมีการกำหนดว่าประชาชน ผู้รับผิดชอบในสถานพยาบาล หรือผู้ควบคุมสถานประกอบการหรือสถานที่อื่นใด เช่น โรงแรม จะต้องรายงานแจ้งต่อเจ้าหน้าที่เมื่อมีผู้ต้องสงสัยหรือผู้ป่วยที่เป็นโรคติดต่ออันตราย โดยจะต้องให้ข้อมูลเป็นจริง หากไม่แจ้งจะมีโทษปรับ 2 หมื่นบาท
โทษสูงสุดคุก2 ปีปรับ5แสน
ขณะนี้ประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ลงนามแล้ว อยู่ระหว่างการรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา และจะมีผลบังคับใช้หลังจากนั้น 1 วัน ทั้งนี้ เมื่อประกาศมีผลบังคับใช้แล้วจะดำเนินการตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 โดยจะมีโทษสูงสุด จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
โดยเป็นฝ่าฝืนในส่วนของมาตรา 40 (2) ซึ่งกำหนดในกรณีที่มีการประกาศให้ท้องที่หรือเมืองท่ามดนอกราชอาณาจักรเป็นเขตติดโรค เจ้าพนักงานมีอำนาจดำเนินการให้เจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะที่เข้ามาในประเทศ โดยจัดให้พาหนะจอดอยู่ ณ สถานที่ที่กำหนดให้จนกว่าเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศจะอนุญาตให้ไปได้
นอกจากนี้ มาตรา 34 (1) มีอำนาจนำผู้ที่เป็น/มีเหตุสงสัยว่าเป็นโควิด-19/ผู้สัมผัส มารับการตรวจ การชันสูตร แยกกัก กักกัน คุมไว้สังเกต โทษ ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท
มาตรา 35 กรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน สั่งปิดสถานที่ต่างๆ /สั่งห้ามไปในสถานที่ชุมชน สถานศึกษา สถานที่ใด / สั่งหยุดงานชั่วคราว โทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 39 (5) ห้ามเจ้าของ/ผู้ควบคุมพาหนะนำผู้เดินทางไม่ได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคเข้าประเทศ โทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท
แยกกัก-กักกัน-คุมไว้สังเกตอาการ
นพ.โสภณ อธิบายว่า มีคำสำคัญ 3 คำ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 คือ 1.แยกกัก ซึ่งจะเป็นผู้ป่วยที่มีเชื้อแล้วจะต้องนำเข้าแยกกักในห้องแยกโรคความดันเป็นลบ 2.กักกัน เป็นคนที่ยังไม่ป่วยแต่มีโอกาสได้รับเชื้อ จึงจำเป็นต้องให้คนดังกล่าว กักกันอยู่ในพื้นที่เฉพาะ ซึ่งอาจจะเป็นที่บ้านของคนผู้นั้นเองก็ได้ เป็นเวลาครบ 14 วัน ซึ่งจากการดำเนินการเช่นนี้ในกลุ่มผู้สัมผัสผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงที่ผ่านมา มีเพียง 2% ที่เป็นเสี่ยงสูงแพร่เชื้อ และอีก 98% เป็นคนปกติ แต่ที่ต้องมีความดำเนินการเพื่อความปลอดภัย
และ 3.คุมไว้สังเกตอาการ ซึ่งเป็นผู้สัมผัสที่ไม่ใกล้ชิดผู้ป่วย แต่จะต้องคุมไว้สังเกตอาการจนครบ 14 วัน โดยให้อยู่ที่บ้าน แต่จะต้องมีการติดตามอาการทุกวัน วัดไข้ และเมื่อป่วยให้ไปพบแพทย์ เช่น กรณีปู่ย่าหลาน คนในไฟลท์บิน คนที่จัดเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงคือคนที่นั่ง 2 แถวหน้า-หลังของผู้ป่วย ส่วนคนร่วมไฟลท์คนอื่น ถือเป็นเสี่ยงต่ำ แต่ต้องคุมไว้สังเกตอาการ
วอนกลุ่มเสี่ยงรับผิดชอบสังคม
นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา อุปนายกแพทยสภา คนที่ 1 และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานการแถลงข่าว “เรียกร้องประชาชนกลุ่มเสี่ยงไวรัส COVID-19 ร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ป้องกันการแพร่ระบาด ด้วยการให้ข้อมูลที่เป็นจริง” ว่าวันนี้โรคโควิด-19 กระจายไปกว่า 40 ประเทศทั่วโลก มีผู้ป่วยกว่า 8 หมื่นคนทั่วโลก รวมถึงผู้ป่วยที่รุนแรงและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นตลอดเวลา
ทั้งนี้ กลุ่มเสี่ยง ประกอบไปด้วย คนที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ จีน มาเก๊า ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ อิหร่าน อิตาลี ถือว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ขณะเดียวกันกลุ่มเสี่ยงอีกกลุ่ม คือ ผู้ที่มีโอกาสสัมผัสกับกลุ่มเสี่ยงโดยตรง เช่น คนที่อยู่ในบ้านเดียวกันกับกลุ่มข้างต้น ผู้ที่ให้บริการชาวต่างชาติ ซึ่งสัมผัสกับไวรัสต่างๆ ไม่ว่าจะแท็กซี่ คนขับรถ สิ่งที่ควรจะกระทำคือทำให้ตัวท่านเองไม่แพร่เชื้อไปให้คนอื่น ต้องหยุดที่ตัวของท่านเอง ต้องรู้จักควบคุม ทำอย่างไรไม่ให้กระจาย
อย่าปิดบังข้อมูล เล่าความจริง
กลุ่มเสี่ยงเมื่อมีอาการระบบทางเดินหายใจ ไอ เจ็บคอ มีไข้ ขอให้รีบตรงไปที่โรงพยาบาล และขอให้ใส่หน้ากากอนามัย งดการเดินทางด้วยระบบขนส่วนมวลชนเพื่อไม่ให้แพร่ไปยังผู้อื่น เมื่อไปถึงโรงพยาบาลให้แสดงตน แต่ละโรงพยาบาลจะมีกระบวนการคัดกรอง ดูแล สำหรับผู้ที่ไม่เป็นกลุ่มเสี่ยง แต่มีไข้ เป็นหวัด มีโอกาสจะเป็นหวัดธรรมดาได้ แนะนำให้ไปพบแพทย์ เล่าอาการให้เขาฟัง ขอให้แจ้งตามความเป็นจริง
ย้ำแนวปฏิบัติป้องกันโควิด-19
พญ.ยุพิน ศุพุทธมงคล หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อและอายุรศาสตร์เขตร้อน ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สำหรับกลุ่มเสี่ยงแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ได้แก่ กลุ่มที่ 1 กลุ่มที่เดินทางกลับหรือแวะพักในประเทศที่มีการระบาดโรคโควิด-19 ซึ่งเมื่อเดินทางถึงประเทศไทย ต้องโทรศัพท์แจ้งผู้บังคับบัญชา หรือหัวหน้างาน เพื่อขอลางาน เพราะคนกลุ่มนี้ควรหยุดทำงาน อยู่กับบ้านเป็นเวลา 14 วัน ตามระยะเวลาการฟักตัวของเชื้อ และเมื่ออยู่ที่บ้านควรแยกพื้นที่ที่อยู่อาศัยกับผู้อื่นในบ้าน เลือกอยู่ในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี อยู่ห่างอย่างน้อยระยะ 1 เมตร
โดยหากในบ้านมีผู้สูงอายุ มีผู้ป่วยภาวะติดเตียง หรือมีผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และต้องทำความสะอาดมือด้วยสบู่ น้ำ หรือแอลกอฮอล์เจล อย่างเคร่งครัด และไม่ควรใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น และควรหาอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย ให้คนที่ใกล้ชิดในบ้านเดียวกัน และหลีกเลี่ยงเดินทางไปในที่ชุมชนต่างๆ
ขณะที่กลุ่มที่ 2 คนที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนเดียวกับคนกลุ่มเสี่ยงกลุ่มแรก การปฏิบัติตัวในช่วง 14 วันแรกที่มีโอกาสได้รับเชื้อ ต้องไม่ให้คนกลุ่มเสี่ยงมาใกล้ชิด ในระยะอย่างน้อย 1 เมตร ต้องทำความสะอาดมือด้วยสบู่ แอลกอฮอล์เจล ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัว หากจำเป็นต้องติดต่อควรสวมใส่หน้ากากอนามัย ทั้ง 2 กลุ่มนี้ ต้องเฝ้าระวังอาการเจ็บป่วยของตนเอง ที่จะบ่งชี้ว่าได้รับเชื้อมาแล้ว เช่น มีอาการไข้ ขอให้ตรวจวัดอุณหภูมิ ด้วยปรอทวัดไข้เป็นเวลา 3 ครั้งต่อวัน และมีอาการทางเดินหายใจ อย่าง มีน้ำมูก ถ้ามีอาการ 2 อย่างร่วมกัน ให้พึงระวังว่ามีโอกาสติดเชื้อสูงมากต้องเดินทางไปโรงพยาบาล หรือโทรสายด่วนควบคุมโรค 1442 และขอให้ไปโรงพยาบาลใกล้ที่สุด หรือโรงพยาบาลตามสิทธิ์ เมื่อมาด้วยรถส่วนตัวให้เปิดหน้าต่างรถจะได้มีอากาศถ่ายเท และเมื่อเดินทางมาถึงโรงพยาบาลขอให้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ว่าสงสัยป่วยเป็นโรคโควิด-19 เพื่อให้โรงพยาบาลดูแลรักษาต่อไป
ส่วนกลุ่มที่ 3 กรณีที่ตนเองไม่ป่วยและไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยงหากมีอาการป่วย ไข้หวัด ก็ขอให้ไปพบแพทย์ และแจ้งประวัติ แต่ถ้าไม่มีอาการใดๆ อย่ากังวล ขอให้ปฏิบัติตัวเอง ให้มีสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดี ทั้งในแง่ของความแข็งแรง ภูมิคุ้มกันที่ดี กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงไปในพื้นที่สาธารณะ
“อยากฝากให้ทุกคนในสังคมควรดูแลตัวเอง และป้องกันไม่ให้ตัวติดเชื้อหรือแพร่เชื้อ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลต่างๆ และอย่าวิตกกังวล เพราะโรคนี้ไม่ใช่เป็นโรคที่เป็นตลอดชีวิต เมื่อพ้นระยะฟักตัว 14 วัน แล้วตรวจไม่เจอก็ถือว่าไม่เป็นโรค สังคมต้องช่วยกันทำความเข้าใจ อย่าให้ใครๆ ในสังคมมารังเกียจคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง หรือคนที่ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์”