Lifestyle

เลี้ยงปลาหางนกยูง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ - พิชิตปัญหาสัตว์เลี้ยง โดย - น.สพ.วิรัช ธนพัฒน์เจริญหรือหมอเล็ก  [email protected] 

 

               สวัสดีครับ... ก่อนคุยกันเรื่องการเลี้ยงปลาหางนกยูง ขอฝากเรื่องไวรัสโคโรนา และเรื่องวิกฤติของฝุ่นประเด็นร้อนแรงที่ทุกคนติดตามอย่างใกล้ชิด วันนี้ได้มีคำตอบให้เราได้เข้าใจเพิ่มขึ้นหลายมิติ จากโรคลึกลับก็ไม่ลึกลับอีกต่อไป มีวิธีการดูแลตัวเอง การป้องกัน การสังเกตอาการ มีการดูแลติดตามและให้ข่าวสารจากหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างใกล้ชิด

 

            ข่าวกุข่าวลือก็มาก ตอนนี้การรับข่าวสารเป็นเรื่องสำคัญที่แต่ละคนต้องมีสติและตรวจสอบแหล่งที่มาของข่าวก่อนที่จะเชื่อหรือแชร์ นี่คือการดูแลและรับผิดชอบต่อสังคมครับ ยังไงอย่าลืมดูแลสุขภาพให้แข็งแรงกันนะครับ นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุดในการป้องกันโรคต่างๆ อย่างดีที่สุดเลยครับ

               ตอนนี้เข้ามาเรื่องการเลี้ยงปลาหางนกยูงกันนะครับ ปลาหางนกยูงเป็นปลายอดนิยมของคนเลี้ยงปลาทุกระดับ ทั้งเลี้ยงเล่น เลี้ยงจริงจัง เลี้ยงขาย ราคาก็มีหลากหลายมากตั้งแต่ไม่กี่บาทไปจนเป็นหมื่น ซึ่งหมอเชื่อว่าคนเลี้ยงปลาน้อยคนมากนะครับที่ไม่เคยเลี้ยงปลาหางนกยูง นี่แหละครับเลยอยากให้สมาชิกคนรักสัตว์ของเราได้มารู้จักกับเรื่องของปลาหางนกยูงกันสักหน่อย

              ทำไมบางคนบอกว่าปลาหางนกยูงเลี้ยงง่าย ?

                ทำไมบางคนบอกว่าเลี้ยงยาก ?

               จริงๆ แล้วปลาหางนกยูงมีอวัยวะช่วยหายใจ ทำให้สามารถอยู่ในน้ำที่มีออกซิเจนน้อยๆ ได้ดี เราจึงเห็นปลาหางนกยูงอยู่ตามแหล่งน้ำขังหรือน้ำตามคลอง นี่คือเหตุผลที่ทำให้เป็นปลาเลี้ยงง่าย แต่ในขณะเดียวกันถ้าใช้น้ำที่สะอาดเลี้ยงซึ่งปลาหางนกยูงไม่ชอบ บวกกับการไม่ดูแลเรื่องโรคก็จะทำให้ปลาตาย ดังนั้นแม้ว่าปลาหางนกยูงได้ชื่อว่าปลาที่มีความอดทนสูงก็เป็นปลาที่ถ้าเลี้ยงโดยไม่ศึกษาก็ตายได้ง่าย ทำให้บางคนบอกว่าเป็นปลาที่เลี้ยงยาก

                 เราคุ้นเคยกับปลาหางนกยูงจนบางท่านอาจะไม่ทราบว่า จริงๆ แล้ว ปลาหางนกยูงไม่ใช่ปลาที่มีในธรรมชาติบ้านเรา แต่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาใต้แถบประเทศเวเนซูเอลา หมู่เกาะแคริบเบียนของประเทศบาร์เบโดส และในแถบลุ่มน้ำอเมซอน อยู่ในแหล่งน้ำจืดธรรมชาติ และน้ำกร่อยที่เป็นแหล่งน้ำนิ่งจนถึงน้ำไหลเอื่อยๆ เป็นปลาที่จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับปลากินยุง มีหลายสายพันธุ์

                  ภาชนะที่ใช้ในการเลี้ยงปลาหางนกยูง จะเลี้ยงในโหลแก้ว ในโอ่ง ในกะละมัง ในตู้ปลา ในบ่อซีเมนต์ หรือแม้แต่ในกระถางไม้น้ำก็ได้หมด เพราะคุณสมบัติที่สามารถอยู่ในที่ที่มีออกซิเจนน้อย แต่ไม่ว่าเราจะเลี้ยงในภาชนะใดก็ตามอย่าลืมใส่สาหร่ายหรือไม้น้ำเพื่อให้ปลามีที่หลบภัยโดยเฉพาะลูกปลา สำหรับอาหารที่ใช้ก็แล้วแต่ความเหมาะสมของผู้เลี้ยงแต่ควรมีโปรตีนอย่างน้อยสัก 40% หรือบ้านใครที่ยุงเยอะก็โชคดีครับเพราะปลาหางนกยูงชอบกินลูกน้ำ จึงจัดอยู่ในกลุ่มปลากินยุงไงครับ

                  เมื่อเตรียมภาชนะสำหรับเลี้ยงเรียบร้อยแล้ว การใส่ปลาอย่าใส่จำนวนมากเกินไปครับเพราะปลาหางนกยูงออกลูกเป็นตัวได้ครั้งละหลายสิบตัวถึงเป็นร้อยตัวและออกลูกได้บ่อย บ่อยแค่ไหนหรือครับ หลังจากออกลูกแล้วอีก ประมาณ 1 เดือนก็สามารถมีลูกได้อีกครับ ระยะฟักตัวของลูกปลาก็ประมาณ 1 เดือนครับ

         

       ส่วนการเลือกสายพันธุ์ขึ้นอยู่กับความชอบของคนเลี้ยง การเลือกปลาก็ควรเลือกปลาที่มีลักษณะสมบูรณ์แข็งแรง ปราดเปรียว อันนี้เชื่อว่าท่านสามารถมองออกครับว่าตัวไหนแข็งแรงหรือไม่ ตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้สีสันไม่สวยงามเหมือนตัวผู้และหางไม่แผ่กว้างมาก ปลาจะให้ลูกได้เต็มที่ตอนอายุประมาณ 1 ปีครับ

                   อย่าลืมใส่พืชน้ำที่มีรากยาวหรือมีความยาว เช่น ดอกจอก หรือสาหร่ายลงไปเพื่อให้เป็นที่หลบของลูกปลาด้วยครับ แต่สำหรับคนที่พอจะมีเวลาก็ตักลูกปลาแยกออกมา หรือจะใส่แม่ปลาท้องแก่ในตะกร้าที่มีรูเพื่อให้ลูกปลาสามารถว่ายออกไปได้แทนก็ได้ หรือถ้าคิดอยากเลี้ยงแบบไม่ต้องดูแลมาก ไม้น้ำที่ใส่ลงไปก็ช่วยให้ลูกปลารอดจากการถูกกินได้พอสมควร หลายท่านก็เลี้ยงอย่างนี้และออกลูกออกหลานจนแน่นก็เยอะครับ

               คราวนี้ใครที่เลี้ยงแล้วรู้สึกยากก็น่าจะไม่ยากแล้วนะครับ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ