ไลฟ์สไตล์

"พ่อ-แม่"ต้นแบบที่ดีพ่อ-ครูแชมป์โอลิมปิกเลี้ยงลูก

"พ่อ-แม่"ต้นแบบที่ดีพ่อ-ครูแชมป์โอลิมปิกเลี้ยงลูก

01 ธ.ค. 2552

การเลี้ยงลูกในสังคมยุคใหม่อันเต็มไปด้วยการไหล่บ่าของวัฒนธรรมต่างชาติและสื่อนานาชนิดที่ชักจูงเด็กไปได้ทั้งในแง่ที่ดีและไม่ดี นับเป็นโจทย์ชีวิตที่ผู้ปกครองทั้งหลายต่างหนักใจกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวที่พ่อหรือแม่ต้องเลี้ยงลูกโดยลำพัง ซึ่งนับเ

ดังเช่น "สุจินต์ วรศรัณย์" วัย 54 ปี พ่อของน้องตั้ว "ธนภัทร วรศรัณย์" อดีตนักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ซึ่งคว้าเหรียญทองในการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ประจำปี 2552 ที่เม็กซิโก "สุจินต์" เล่าว่า เมื่อ 10 ปีก่อน เขาต้องสูญเสีย "เย็นฤดี วรศรัณย์" ภรรยา จากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ทำให้เขาต้องเลี้ยงดูลูกชายทั้งสองคนคือ น้องตั้ว วัย 7 ขวบ และน้องชาย "ตังตัง" พุฒิพงศ์ วัย 4 ขวบ พร้อมกับดูแลธุรกิจส่วนตัวเพียงลำพัง

 "แค่ชั่วพริบตาชีวิตผมเปลี่ยนไปหมด ช่วงแรกผมกับลูกๆ เสียใจมาก เด็กๆ หงอยอยู่พักใหญ่เพราะคิดถึงแม่ ผมต้องเลี้ยงลูกคนเดียวก็มานั่งนึกจะทำได้ดีเหมือนภรรยาหรือเปล่า ผมเชื่อว่าผู้หญิงเลี้ยงลูกได้ดีกว่าผู้ชาย แต่เมื่อมาคิดดูก็บอกตัวเองไม่ว่าจะเป็นยังไง ขอเลี้ยงลูกให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้" สุจินต์เล่าจุดเริ่มต้นของการเลี้ยงลูก

 "สุจินต์" ตั้งเป้าหมายอบรมเลี้ยงลูกให้เป็นคนดีมากกว่าคนเก่ง ตอนเด็กๆ ลูกชายคนโตไม่มีวี่แววว่าจะเป็นเด็กเก่งด้านวิทยาศาสตร์ เพียงแต่ชอบคณิตศาสตร์มากกว่าวิชาอื่นๆ เขาก็ส่งเสริมลูกโดยปลูกฝังให้รักการอ่านหนังสือและสร้างบรรยากาศในบ้านเพื่อให้ลูกรักวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เช่น ซื้อหนังสือการ์ตูนโดราเอมอน  พงศาวดารจีน นวนิยายกำลังภายใน จะไม่ห้ามลูกเวลาขอซื้อหนังสือเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ รวมทั้งเมื่อมีเวลาว่างจะพาลูกไปชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ด้วย และสิ่งที่เขาเน้นมากคือ การให้ลูกๆ ไปเรียนดนตรี เช่น เปียโน เพราะเชื่อว่าการพัฒนาเด็กให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ต้องพัฒนาทั้งด้านสติปัญญา (ไอคิว) และอารมณ์ จิตใจ(อีคิว)ไปพร้อมกัน

 "ผมเชื่อว่าพ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกก่อน เพราะลูกยึดพ่อแม่เป็นต้นแบบ ถ้าลูกเห็นพ่อแม่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ในบ้าน เขาจะเลียนแบบ ผมไม่ส่งเสริมลูกให้ดูละครทีวีเพราะบางเรื่องบ่มเพาะพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ให้เด็ก เป็นพิษต่อสังคม ยิ่งเด็กแยกแยะไม่ได้ว่าอะไรถูกอะไรผิดก็ทำตามจนเกิดปัญหาต่อตัวเอง ครอบครัวและสังคม จะสอนลูกอย่าเห็นแก่ตัวเพราะคนเห็นแก่ตัวจะไม่มีใครคบหาและสร้างปัญหาแก่สังคม รู้จักประหยัด มัธยัสถ์ อยู่อย่างพอเพียง ไม่ตกเป็นทาสวัตถุนิยมและไม่ยึดติดกับเทคโนโลยี เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ใช้เท่าที่จำเป็น ไม่ใช้เงินเลี้ยงลูกเพราะเงินทดแทนความรัก ความเอาใจใส่ที่พ่อแม่มีต่อลูกไม่ได้ จึงให้ความรัก ความเอาใจใส่ลูกอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องตั้งแต่เล็กจนโต"

 พ่อของแชมป์ฟิสิกส์โอลิมปิกปีล่าสุดยอมรับว่า เลี้ยงลูกให้ดีได้มาจนถึงทุกวันนี้เพราะครูและโรงเรียนช่วยอบรมสั่งสอนลูก ทั้งโรงเรียนพญาไท โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย และโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โดยเฉพาะ "ครูนิทัศน์ ศรีพงษ์พันธ์" ครูสอนวิชาฟิสิกส์ ชั้นม.4 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ซึ่งให้โอกาสลูกชายคนโตเข้ารับการอบรมความรู้ด้านฟิสิกส์ และลูกก็ได้พัฒนาตนเองกระทั่งคว้าเหรียญทองฟิสิกส์โอลิมปิกวิชาการมาครอง

 ขณะเดียวกันจากการที่เขาได้พูดคุยบ่อยๆ กับ "ดร.ธงชัย ชิวปรีชา" ที่ปรึกษาโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนช่วงที่ลูกชายคนโตเรียนอยู่ ทำให้เข้าใจว่า "ประเทศไทยต้องการนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์อีกมาก จะได้ไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีต่างชาติตลอดไป" จึงเปลี่ยนความคิดจากเดิมตั้งใจให้ลูกเรียนหมอซึ่งลูกก็สอบติดรับตรงที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดยไม่รู้ว่าจะได้รับทุนจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.) เรียนปริญญาตรี-เอก และทำวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สาขาฟิสิกส์ที่อังกฤษ 10 ปี  แต่ลูกชอบเรียนด้านวิทยาศาสตร์มากกว่าหมอ จึงให้ลูกชายคนโตสละสิทธิ์เรียนหมอ เพื่อรับทุนจากสสวท. ส่วนลูกชายคนเล็กอยู่ชั้นม.4 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์

 ดร.ธงชัย บอกถึงการดูแลลูกศิษย์ว่า คุยกับครูที่โรงเรียนให้ดูแลลูกศิษย์เหมือนลูกตัวเอง และใช้ความจริงใจเอาชนะใจลูกศิษย์ จะบอกกับลูกศิษย์เสมอว่า เมื่อมีโอกาสมาเรียนในโรงเรียนที่ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลมากที่สุด อีกทั้งมีครู อุปกรณ์การเรียนการสอนพรั่งพร้อม ก็ต้องตั้งใจเรียนให้เต็มที่

 "ผมมีลูกชาย 2 คน เขาเรียนจบปริญญา ทำงานกันหมดแล้ว หลักการเลี้ยงลูกของผมเชื่อว่าพ่อแม่เป็นต้นแบบของลูก เด็กจะเรียนรู้จากต้นแบบ พ่อแม่จึงต้องเป็นต้นแบบที่ดี ผมสอนลูกให้เป็นคนดี ใช้ชีวิตพอเพียง ไม่ฟุ่มเฟือย โดยทำเป็นตัวอย่าง และให้เวลาแก่ลูกให้มากที่สุด พูดคุยกันด้วยเหตุผล ปล่อยให้ลูกเรียนในสิ่งที่ชอบ พาไปเยี่ยมปู่ย่าตายายที่อยู่ต่างจังหวัดทุกปี เพื่อจะได้อบอุ่นใจและเห็นสภาพชีวิตที่หลากหลาย" 

 ท้ายสุด "ครูนิทัศน์" เชื่อว่าลูกศิษย์เปรียบเหมือนลูก จึงให้โอกาสลูกศิษย์ได้พัฒนาความรู้ในสาขาที่ถนัด และให้ความเป็นกันเอง หากไม่เข้าใจก็มาถามได้ตลอด และคอยตักเตือนเมื่อเห็นลูกศิษย์ประพฤติไม่เหมาะสม  

 0ธรรมรัช   กิจฉลอง0