ไลฟ์สไตล์

ยกระดับการกำจัดขยะมูลฝอยเมืองอุดร

ยกระดับการกำจัดขยะมูลฝอยเมืองอุดร

07 ต.ค. 2562

ยกระดับการกำจัดขยะมูลฝอยเมืองอุดรเป็นพลังงาน...สู่การขาย Carbon Credit

เทศบาลนครอุดรธานีให้ความสำคัญกับการจัดการขยะมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน เพราะถือว่าขยะของเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ต้องมีการจัดการให้ถูกวิธีและต้องทำควบคู่กันไปทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง  เริ่มตั้งแต่การรณรงค์คัดแยกขยะจากแหล่งกำเนิด โดยการให้ชุมชนเข้ามาบริหารในรูปแบบของกองทุนขยะ และในกระบวนการเก็บขนไปยังแหล่งกำจัดเทศบาลได้ให้สิทธิเอกชนเข้ามาดำเนินการเพื่อให้การเก็บขนมีความรวดเร็วลดปัญหาการตกค้างของขยะ ตามนโยบายสะอาดก่อนสว่าง  ในส่วนของปลายทางก็คือการกำจัด ซึ่งเดิมมีการกำจัดโดยวิธีการฝังกลบแบบถูกหลักสุขาภิบาล บนพื้นที่ 296 ไร่ มาเป็นเวลาเกือบ 20 ปี มีขยะสะสมมากกว่า 1 ล้านตัน และขณะนี้บ่อกำจัดใกล้จะเต็มแล้ว ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาในเรื่องการหาพื้นที่กำจัดใหม่ ตลอดจนปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ดังนั้น เทศบาลนครอุดรธานีจึงได้มีแนวทางในการกำจัดขยะรูปแบบใหม่ให้มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเทศบาลนครอุดรธานีจะแบ่งการจัดการตามประเภทของขยะออกเป็น 2 ประเภท คือ ขยะติดเชื้อ และขยะทั่วไป สำหรับขยะอันตรายหรือขยะอิเล็กทรอนิกส์เทศบาลทำการรวบรวมและส่งมอบให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นผู้จัดการ

ยกระดับการกำจัดขยะมูลฝอยเมืองอุดร

โดยการกำจัดขยะติดเชื้อที่มาจากสถานพยาบาล เทศบาลได้สร้างโรงงานกำจัดขยะติดเชื้อซึ่งกำจัดขยะติดเชื้อด้วยเตาเผาแบบหมุน หรือ Rotary Kline 2 ก๊าซร้อนที่เกิดจากการเผาจะถูกบำบัดด้วยระบบควบคุมมลพิษ ขี้เถ้าที่เกิดในระบบจะถูกเก็บรวบรวมและนำไปกำจัดในหลุมฝังกลบแบบ Secure Landfill ที่อยู่ในพื้นที่โรงกำจัดขยะมูลฝอยติดเชื้อ

ส่วนการกำจัดขยะทั่วไปที่มีปริมาณมากที่สุด ในปัจจุบันได้มีการยกระดับระบบกำจัดขยะมูลฝอย โดยร่วมมือกับ บริษัท ไทยโซริด รีนิวเอเบิล เอ็นเนอร์ยี จำกัด เข้ามาร่วมลงทุนและเปิดตัวโรงงานกำจัดขยะระบบใหม่ที่จะเปลี่ยนขยะมูลฝอยชุมชนให้เป็นพลังงานแท่งเชื้อเพลิง RDF (Refuse Derived Fuel) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการกำจัดขยะได้ถึง 300 ตันต่อวัน ทำให้สามารถกำจัดทั้งขยะที่เกิดขึ้นใหม่ควบคู่ไปกับการกำจัดขยะเดิมที่ฝังกลบอยู่ในบ่อขยะเพื่อเพิ่มพื้นที่ของบ่อขยะได้อีกด้วย ซึ่งการดำเนินการทางเอกชนได้ลงทุนเองทั้งหมด และเทศบาลจะจ่ายค่ากำจัดขยะในอัตรา 375 บาท/ตัน ส่วนรายได้ที่เกิดขึ้นจากการขายแท่งพลังงานต้องแบ่งคืนให้เทศบาล ในอัตรา 2.5% เป็นระยะเวลาตามสัญญา 25 ปี การเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการขยะสามารถลดข้อจำกัดและปัญหาในการดำเนินการของเทศบาลได้ ทำให้การจัดการขยะมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ กระบวนการเปลี่ยนขยะมูลฝอยให้เป็นเชื้อเพลิงยังสามารถนำมาคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้จากการดำเนินโครงการ หรือเรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” ที่สามารถซื้อขายในตลาดคาร์บอน ที่เทศบาลนครอุดรธานีได้เข้าร่วมเป็นเทศบาลต้นแบบ กลไกส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งสู่เมืองคาร์บอนต่ำ (Low Carbon City Program: LCC) นอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ตัวการภาวะโลกร้อนแล้ว รายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตยังสามารถนำกลับมาใช้ในการบริหารจัดการขยะของเมืองได้อีกด้วย และเพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เมื่อเร็วๆนี้ ทางเทศบาลอุดรธานี ยังได้ทำ MOU ร่วมกับบริษัทสิ่งแวดล้อมเกาหลีดำเนินโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism:CDM) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการนำก๊าซจากหลุมฝังกลบขยะปัจจุบันมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า เพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง

ยกระดับการกำจัดขยะมูลฝอยเมืองอุดร

ยกระดับการกำจัดขยะมูลฝอยเมืองอุดร

ยกระดับการกำจัดขยะมูลฝอยเมืองอุดร

ทั้งหมดนี้ก็คือกระบวนการบริหารจัดการขยะมูลฝอยที่เทศบานครอุดรธานีให้ความสำคัญ และดำเนินการด้วยการร่วมทุนกับเอกชนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดทั้งในแง่การจัดการและการบริหารซึ่งระบบการบริหารจัดการขยะมูลฝอยเป็นพลังงานดังที่เทศบาลทำอยู่นี้ ถือเป็นการบริหารจัดการขยะมูลฝอยที่ดีที่สุดและยั่งยืนที่สุดในปัจจุบันนี้