
วัดโมลีโลกยาราม ที่สุดแห่ง...สำนักเรียนพระปริยัติธรรม
วัดโมลีโลกยาราม ราชวรวิหาร เป็นวัดโบราณ สร้างในสมัยอยุธยา แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างเมื่อใด ใครเป็นผู้สร้าง ในสมัยนั้นเรียกว่า วัดท้ายตลาด เพราะอยู่ต่อจากตลาดเมืองธนบุรี
แต่เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี ได้ทรงรวม อุปจาร วัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) และวัดท้ายตลาดเข้าไปในเขตพระราชวัง ซึ่งเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์มาจำพรรษาตลอดรัชกาล
ในสมัยธนบุรี วัดนี้เป็นวัดในเขตพระราชฐาน จึงไม่มีพระสงฆ์อยู่ตลอดช่วงรัชกาล ส่วนพระวิหาร สันนิษฐานว่าได้ใช้เป็นฉางเกลือของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ภายในพระวิหารกั้นเป็น ๒ ตอน ปัจจุบัน ตอนหน้าที่หันออกคลองบางกอกใหญ่ ประดิษฐานพระพุทธรูปเป็นหมู่ บนฐานชุกชี ส่วนตอนหลังเป็นพื้นที่ค่อนข้างแคบ ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่
ต่อมา สมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงย้ายเมืองหลวงมาตั้งที่ฝั่งกรุงเทพฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นิมนต์พระสงฆ์ มาจำพรรษาทั้งที่วัดแจ้ง และวัดท้ายตลาด ทรงตั้งพระมหาศรี วัดราชสิทธาราม (วัดพลับ) เป็นพระเทพโมลี และภายหลังได้สถาปนาเป็น พระพุทธโฆษาจารย์ มาเป็นเจ้าอาวาสวัดท้ายตลาด
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ครั้งเป็นสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ได้โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์และสร้างพระอุโบสถ และพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดพุทไธศวรรย์"
ในสมัยนั้น การศึกษาวิชาการต่างๆ ต้องไปศึกษาตามวัด จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระโอรสไปศึกษาอักษรสมัยเบื้องต้น ในสำนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) ซึ่งเป็นพระราชาคณะแห่งวัดนี้ ขณะนั้นดำรงสมณศักดิ์เป็นพระพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของเจ้านายในสมัยนั้นมาก และยังเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ของ พระบาท สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๒ เมื่อเสด็จออกผนวช
ทั้งนี้ พระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดใหม่ทั้งพระอาราม ทรงพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดโมลีโลกสุธาราม” ภายหลังได้เรียกกันว่า “วัดโมลีโลกยาราม”
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ ทรงสร้างกุฎีตึกเจ้าอาวาส หอสวดมนต์ และหอกลาง
ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงปฏิสังขรณ์หอพระไตรปิฎกซึ่งเป็นโบราณสถานของวัด ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐิน ในปีพุทธศักราช ๒๔๑๘
ต่อมา เมื่อสมเด็จพระศรีสริเยนทราบรมราชินี เสด็จออกไปประทับกับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชโอรสพระองค์น้อยที่พระราชวังเดิมฝั่งธนบุรี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้รื้อพระตำหนักแดง* ที่เคยประทับในพระบรมมหาราชวังไปสร้างถวายที่พระราชวังเดิมทั้งหมู่
ครั้นสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระตำหนักแดงไปสร้างถวายเป็น กุฏิเจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงจัดลำดับพระอารามหลวงให้วัดโมลีโลกยารามเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิด ราชวรวิหาร และได้เสด็จพระราชดำเนินทอดถวายผ้าพระกฐินในปีพุทธศักราช ๒๔๕๘
ปัจจุบัน วัดโมลีโลกยาราม มี พระธรรมปริยัติโสภณ (วรวิทย์ ป.ธ.๘) เจ้าคณะภาค ๑๐ เป็นเจ้าอาวาส จำนวนพระภิกษุสามเณรที่เข้าจำพรรษาทั้งสิ้น ๑๒๖ รูป เป็นพระภิกษุ ๖๙ รูป สามเณร ๕๗ มีโรงเรียนพระปริยัติธรรม เปิดสอนแผนกบาลี ตั้งแต่ชั้นประโยค ๑-๒ ถึงเปรียญธรรม ๙ ประโยค และนักธรรมชั้นตรี ถึงชั้นเอก
พระภิกษุสามเณรทุกรูป ต่างได้ปฏิบัติศาสนกิจและศึกษาเล่าเรียน และบอกสอนพระธรรมวินัยตามความสามารถ วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร หรือ ชื่อลำลองว่า "วัดท้ายตลาด" เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร เป็นวัดที่สร้างในสมัยอยุธยา ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง และเหตุที่เรียกว่า วัดท้ายตลาด เนื่องจากอยู่ต่อจากตลาดเมืองธนบุรี ปัจจุบันชาวบ้านยังนิยมเรียกชื่อนี้อยู่
สำนักเรียนโมลีกายาราม
พระธรรมปริยัติโสภณ บอกว่า วัดโมลีโลกยาราม เป็นสำนักเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีที่มีผู้สอบได้เปรียญธรรมมากเป็นระดับต้น ๆ ของประเทศ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แบ่งออกเป็น ๒ ระยะ คือ ๑. ระยะแรก สำนักเรียนวัดโมลีโลกยาราม ในยุคต้นแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เคยเป็นสำนักเรียนที่มีการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกบาล ีแบบสอบด้วยปากเปล่ามาแล้ว ได้รับการก่อตั้งเป็นสำนักเรียนเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๓๔ ได้รับการปรับปรุงอย่างมากในระยะแรก เพราะสภาพวัดทรุดโทรม กอปรทั้งการบริหารการศึกษาของสำนักอยู่ในระยะเริ่มต้น ได้มีการเรียนการสอนการสอบมาตามลำดับ แต่ก็ไม่รุ่งเรืองนัก
๒.ระยะปรับปรุงสำนักเรียน โดยได้ปรับปรุงการเรียนการสอนอย่างจริงจังในพุทธศักราช ๒๕๔๑ โดยการบริหารงานการศึกษาของพระเทพปริยัติสุธี (วรวิทย์ คงฺคปญฺโญ) มีพระมหาสุทัศน์ วรทสฺสี ป.ธ.๙ เป็นพระอาจารย์ใหญ่สำนักเรียน มีคณะครูของสำนักเรียน ๑๕ รูป
สำนักเรียนได้ผลิตบุคลากรที่เป็นศาสนทายาทที่มีคุณภาพอย่างจริงจังตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๔๑ เป็นต้นมา โดยมีพระภิกษุสามเณรนักเรียนที่สอบได้ในระดับต่างๆ ตั้งแต่ประโยค ๑-๒ ถึงชั้นประโยค ป.ธ.๙ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๔๑ - ๒๕๕๐ จำนวน ๕๒๐ รูป
ส่วนการจัดชั้นเรียน สำนักเรียนได้จัดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี จำนวน ๘ ระดับชั้น ตั้งแต่ ชั้นประโยค ๑-๙ นอกจากนี้ การเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมจำนวน ๓ ระดับชั้น คือ นักธรรมชั้นตรี จำนวน ๑ ห้องเรียน นักธรรมชั้นโท จำนวน ๑ ห้องเรียน และนักธรรมชั้นเอก จำนวน ๑ ห้องเรียน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ศาสนสถานภายในวัด ได้ทรุดโทรมตามกาลเวลา คณะกรรมการวัด จึงได้จัดโครงการบูรณะและพัฒนาสำนักเรียนวัดโมลีโลกยารามเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมี สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสะเกศราชวรวิหาร ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นอง์ประธานอุปถัมภ์ฝ่ายบรรพชิต และ ดร.สร้อยเพชร เรศานนท์ เป็นประธานโครงการฝ่ายคฤหัสถ์
พุทศาสนิกชนร่วมบุญได้ที่ ชื่อบัญชี "โครงการบูรณะและพัฒนาสำนักเรียนวัดโมลีโลกยาราม" ธนาคารกรุงไทน สาขาพรานนก เลที่บัญชี ๑๙๖-๐-๑๑๖๕๓-๓ หรือสอบถามที่ โทร. ๐๘-๙๖๖๐-๑๔๖๔
เรื่อง... "ไตรเทพ ไกรงู"
ภาพ... "ธงชัย เปาอินทร์"