
ร่วมฟื้นฟูป่าและพัฒนาแหล่งน้ำ
บริหารจัดการ ดิน น้ำ ป่า และชุมชนห้วยปลาหลด ภายใต้โครงการ "เซ็นทรัล ทำ"
กลุ่มเซ็นทรัล สานต่อนโยบายเพื่อสังคมอย่างยั่งยืนต่อเนื่อง ด้วยการร่วมมือกับ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดทำ “โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ตามแนวพระราชดำริ” สนับสนุนและพัฒนาตัวอย่างการจัดการ ดิน น้ำ ป่า และชุมชนห้วยปลาหลด ภายใต้โครงการ “เซ็นทรัล ทำ”
พิชัย และสุพัตรา จิราธิวัฒน์ ร่วมสร้างฝาย
พร้อมเปิดประสบการณ์เมนูพื้นถิ่นจากบ้านห้วยปลาหลดสไตล์ “เชฟส์ เทเบิล บาย เอ็กซ์คูซีฟ เชฟ” สร้างสรรค์จานพิเศษที่ปรุงจากผลผลิตทางการเกษตรของชุมชน โดยฝีมือหัวหน้าเชฟจากโรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทาราแม่สอด โดยได้รับเกียรติจาก ดร.รอยล จิตรดอน, พิชัย-สุพัตรา-สมกมล จิราธิวัฒน์, ชัยพฤกติ์ เชียรธานรักษ์ นายอำเภอแม่สอด จักรพงษ์ มงคลคีรี ผู้ใหญ่บ้าน ชุมชนบ้านห้วยปลาหลด ม.ล.ขวัญทิพย์ เทวกุล เป็นต้น เข้าร่วมงานที่บ้านห้วยปลาหลด ต.ด่านแม่ละเมา อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อวันก่อน
สมกมล จิราธิวัฒน์-ม.ล.ขวัญทิพย์ เทวกุล
พิชัย จิราธิวัฒน์ บอสใหญ่กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า กลุ่มเซ็นทรัล ตระหนักถึงความสำคัญของผืนป่า โดยมีตัวแปรที่สำคัญคือ “น้ำ” จึงได้น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเป็นกรอบแนวคิดในการทำงานด้านการฟื้นฟูป่าและพัฒนาแหล่งน้ำในชุมชนบ้านห้วยปลาหลดอย่างยั่งยืน โอกาสนี้ได้มอบเงินจำนวน 1,413,880 บาท แก่มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการดิน น้ำ ป่า และชุมชน ได้แก่ การสร้างฝายภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อชะลอน้ำและกักเก็บน้ำ ช่วยบรรเทาความรุนแรงของกระแสน้ำในลำธาร ลดการกัดเซาะพังทลายของดิน และใช้เป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคในครัวเรือน ตลอดจนทำการเกษตร นอกจากนี้ยังสนับสนุนงบประมาณปรับปรุงอาคารเรียน โรงอาหาร เรือนนอนนักเรียนและห้องสุขา โรงเรียนบ้านห้วยปลาหลดอีกด้วย
ช่วยกันขนวัสดุไปสร้างฝาย
รังสรรค์เมนูเด็ดจากวัตถุดิบชุมชน
ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ กล่าวว่า บ้านห้วยปลาหลด เป็นชุมชนของชาวเขาเผ่ามูเซอ เดิมดำรงชีวิตด้วยการทำไร่เลื่อนลอยและปลูกฝิ่นทำให้สภาพป่าเสื่อมโทรม และแหล่งน้ำไม่อุดมสมบูรณ์ ต่อมาเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2517 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรและมีพระราชกระแสให้ปลูกพืชที่ทำรายได้ เช่น กาแฟอาราบิก้า ทดแทนการปลูกฝิ่น พร้อมทั้งตั้ง “ตลาดมูเซอ” เพื่อจำหน่ายผลผลิตและเป็นช่องทางหนึ่งในการนำรายได้เข้าสู่ของชุมชน เป็นแรงบันดาลใจให้ชาวบ้านหันมาปลูกกาแฟผสมในพื้นที่ป่าและประกอบอาชีพวนเกษตร จนปัจจุบันพื้นที่ป่ามีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น เป็นตัวอย่างของคนปลูกป่าและอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างดี
ผลิตภัณฑ์ชุมชน