
ระวังแก๊งมิจฉาชีพจับลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพ์
หอค้าฯ โคราชจัดถกปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ หวังสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการ พร้อมเตือนแก๊งมิจฉาชีพแอบจับลิขสิทธิ์ แนะผู้ประกอบการปฏิเสธการตรวจจับหากไม่มีหมายค้น ด้านรองอัยการจังหวัดเผยกว่า 90% เป็นซอฟต์แวร์เถื่อนแต่สถิติการจับกุมหรือกระบวนการตัด
(24พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ในเขตพื้นที่เมืองนครราชสีมา ได้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน และปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญา โดยเป็นการตรวจสอบการละเมิดการใช้โปรมแกรมระบบปฏิบัติการที่ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ (os) ซึ่งส่วนใหญ่จะนิยมใช้โปรแกรมวินโดวส์ที่มีไมโครซอฟท์ เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในราชอาณาจักรไทย
รายงานข่าวแจ้งว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ออกปฏิบัติการตรวจสอบ โดยใช้หมายศาลจังหวัดนครราชสีมา ที่มีการดำเนินขออนุมัติไว้ล่วงหน้า ขออนุญาตตรวจค้นหาสิ่งผิดกฎหมายตามที่มีสายข่าวระบุถึงหน่วยงานที่มีการละเมิดการใช้โปรแกรมฯ ผิดกฎหมาย หรือโปรแกรมผี ในการออกปฏิบัติการครั้งนี้ ได้เน้นตรวจสอบสถานที่ราชการ โดยเฉพาะสถานศึกษาทุกระดับ ที่จะมีเครื่องคอมพิวเตอร์พีซีเป็นจำนวนมากไว้ใช้งาน แต่หลังจากข่าวการออกตรวจของเจ้าหน้าที่แพร่สะพัดออกไป ทำให้สถานศึกษาหลายแห่งรีบนำเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีปัญหาเก็บซุกซ่อนไว้ จึงไม่พบเป้าหมายตามที่ต้องการ เมื่ออกตรวจค้นสถานที่แห่งหนึ่งก็จะมีการโทรศัพท์แจ้งข่าวเตือนให้ทราบต่อๆ กัน สร้างปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่บริหารจัดการของแต่ละองค์กรพอสมควร
จากปัญหาดังกล่าว ทำให้ นางสุบงกช วงศ์วิชยาภรณ์ ประธานหอการค้า จ.นครราชสีมา ได้รับทราบข้อมูลจากสมาชิกหอการค้าฯ จึงได้จัดงานเสวนาในหัวข้อ "ปัญหาการละเมิดสิทธิ์" ที่ห้องประชุม หอการค้าจังหวัด โดยเป็นกิจกรรมการเผยแพร่ข้อมูล และรับฟังปัญหา พร้อมเสนอแนวทางแก้ไข ให้หน่วยงานต่างๆ และผู้ประกอบการ รวมทั้งพี่น้อง ประชาชนทั่วไป ได้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าลิขสิทธิ์ และเครื่องหมายการค้า เพื่อการป้องกันจากการกระทำผิดกฎหมายทางการค้าโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
อีกทั้งยังช่วยสร้างความมั่นคงให้กับธุรกิจของผู้ประกอบการที่เป็นรากฐานของเศรษฐกิจ โดยเชิญตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้เชี่ยวชาญ มาร่วมเป็นวิทยากร คือ นายทวิสันต์ โลณานุรักษ์ เลขานุการหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ,นายสมนึก ทอแสงทอง รองอัยการ จังหวัดนครราชสีมา ,พ.ต.อ.วิวัฒน์ สีลาเขตต์ ผกก.สภ.ด่านขุนทด อ.ด่นขุนทด นครราชสีมา ,นายประกาศิต สุทธิกุล นักวิชาการพาณิชย์ หัวหน้ากลุ่มงานปฏิบัติการป้องปราม สำนักงานป้องปรามการการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ,นายชยธวัช อติแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพย์สินทางปัญญา
นายประกาศิต เปิดเผยว่า พี่น้องประชาชนที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าทางทรัพย์สินทางปัญญาควรมีความเข้าใจ และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการละเมิดลิขสิทธิ์ รวมทั้งแนวทางการป้องกันผู้ที่แอบอ้างเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หาผลประโยชน์ การตรวจสอบเบื้องต้นเพื่อป้องกันการแอบอ้าง ในการปฏิบัติการทุกครั้ง เจ้าหน้าที่จะต้องแสดงหมายค้นที่อนุมัติโดยศาลจังหวัด ผู้ประกอบการควรตรวจสอบความถูกต้องของหมายค้นให้ละเอียด สามารถดูตัวอย่างหมายค้นได้ที่ http://ict.in.th/26 ต้องมาพร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นสัญญาบัตร ที่มีชื่อระบุในหมายค้น ผู้ประกอบการสามารถอนุญาตให้เฉพาะคนที่มีชื่อในหมายค้นเข้าตรวจสอบภายในร้าน ผู้ที่ไม่ปรากฎชื่อในหมายค้นไม่ควรให้เข้าไป ต้องมีช่างเทคนิค ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์มาด้วย หากพบการกระทำผิด จะไม่มีการยกเครื่องใดๆ ทั้งสิ้น แต่จะอายัดไว้ในที่เกิดเหตุ ตามแบบสากล และไม่มีการเรียกร้องขอเงิน เพื่อให้ยอมความในชั้นตำรวจ
สำหรับแก๊งมิจฉาชีพจับลิขสิทธิ์นั้นจะไม่มีหมายค้นจากศาลฯ มักจะนำใบบันทึกประจำวันมาแอบอ้าง ขอให้ผู้ประกอบการและผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ ที่มีความเสียงต่อการละเมิดลิขสิทธิ์ จงปฏิเสธการตรวจจับเมื่อไม่มีหมายค้น อย่างไรก็ตาม การละเมิดลิขสิทธิ์นั้นสามารถที่จะยอมความได้ แต่ต้องยึดหลักความถูกต้อง หากมีการเรียกค่าปรับมากเกินเหตุ เพื่อเป็นข้อต่อรองมิให้ดำเนินคดี เบื้องต้นควรยื่นขอประกันตัวออกมาเสียก่อน แล้วให้ผู้พิพากษาตัดสินในชั้นศาล อย่าไปยอมความอย่างเด็ดขาด
ด้านนายสมนึก ทอแสงทอง รองอัยการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึง กระแสข่าวเจ้าหน้าที่ลิขสิทธิ์วินโดวส์ ระดมกำลังเข้าตรวจค้นซอฟต์แวร์เถื่อน ทำให้เป็นที่วิตกกังวลของบรรดาผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ อีกทั้งยังลุกลามไปถึงสถานศึกษาต่างๆ หน่วยงานราชการทุกแห่ง เนื่องจากความเป็นจริงแล้วผู้ใช้ซอฟต์แวร์ที่ใช้งานกันอยู่กว่า 90% เป็นซอฟต์แวร์ที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งตรงกันข้ามกับสถิติของการดำเนินคดีที่เข้าสู่กระบวนการตัดสินความผิดในชั้นศาลนั้นยังไม่พบ ส่วนใหญ่จะสิ้นสุดในกระบวนการตกลงยอมความกันระหว่างผู้ละเมิด และเจ้าของลิขสิทธิ์ มีความเข้าใจว่าผู้บริโภคทุกคนนั้นส่วนใหญ่ไม่ใครต้องการที่จะใช้ของปลอม แต่ซอฟต์แวร์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีราคาแพงเกินกำลังของผู้บริโภค จึงเป็นสาเหตุสำคัญของการละเมิดลิขสิทธิ์โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
สำหรับสถานศึกษาต่างๆ และองค์กรหน่วยงานราชการที่ยังใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน ขอให้อย่าตื่นตระหนกกับกระแสข่าวที่เกิดขึ้น เนื่องจากองค์กรเหล่านี้ใช้ซอฟต์แวร์เพื่อการศึกษาใช้ในราชการ แต่ตามหลักการของกฎหมายนั้นมีความผิดแน่นอน แต่ทางเจ้าของลิขสิทธิ์บางรายอาจยกเว้นหรืออนุโลม โดยให้เหตุผลว่าโปรแกรมหรือซอฟต์แวร์ไม่ได้ถูกไปใช้ในการค้า หากมีเจ้าหน้าที่ที่อ้างว่าได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของลิขสิทธิ์เข้าตรวจค้น ขอให้ใช้สิทธิ์ตรวจสอบเอกสารหลักฐาน ให้ที่ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างชัดเจน ถึงแม้ว่าหากเจ้าของลิขสิทธิ์ จะดำเนินคดีตามกฎหมายจริง ก็ขอให้นำไปสู่ชั้นศาล ให้ศาลตัดสินความผิดพิจารณาโทษ อย่าตกเป็นเหยื่อของการแอบอ้างเพื่อหาผลประโยชน์ของมิจฉาชีพ อย่างไรก็ตามหลายฝ่ายมีการเสนอทางออกให้เจ้าของลิขสิทธิ์ของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ควรมีการปรับเปลี่ยนราคาให้เหมาะสม ตอบสนองความต้องการผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่ต้องการราคาถูก สามารถซื้อมาใช้ได้
ด้าน พ.ต.อ วิวัฒน์ ลีลาเขตต์ ผกก.สภ.ด่านขุนทด กล่าวสรุปผลการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ของ ตำรวจภูธร จ.นครราชสีมา ตั้งแต่ต้นปี 52 ถึงวันที่ 31 ต.ค.ในพื้นที่รับผิดชอบ ไม่พบแหล่งผลิตและแหล่งเก็บสินค้า หรือโกดังแต่อย่างใด มีแต่การจับกุมแหล่งจัดจำหน่ายเป็นคดีลิขสิทธิ์ 116 ราย ผู้ต้องหา 116 คน คดีเครื่องหมายการค้า 61 ราย ผู้ต้องหา 61 คน คดีภาพยนตร์ และวีดิทัศน์ 4 ราย ผู้ต้องหา 4 คน มูลค่าความเสียหาย สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ 4,485,624 บาท เครื่องหมายการค้า 1,473,542 บาท และ ภาพยนตร์ และวีดิทัศน์ 32,680 บาท