ล่าสุด นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้นำทีมผู้บริหารในสังกัด ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความสำเร็จการใช้ประโยชน์จุดติดตั้งเน็ตประชารัฐ บ้านวังสะแก จ.ฉะเชิงเทรา
ซึ่งประชาชนทั้งที่หมู่บ้านนี้ และพื้นที่ใกล้เคียง ได้ต่อยอดการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) และไวไฟความเร็วสูงของเน็ตประชารัฐ ไปสู่การทำเกษตรอัจฉริยะ (สมาร์ท ฟาร์มมิ่ง)
ทั้งนี้ ในพื้นที่ได้มีการสาธิตเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) สำหรับฉีดพ่นสารเหลวในพื้นที่เกษตร ซึ่งกำลังเป็นเครื่องมือใหม่ ที่ช่วยให้กษตรกรปลูกข้าวใน จ.ฉะเชิงเทรา เข้าถึงการใช้ดิจิทัลลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตต่อแปลง
นายธีรพงษ์ กาญจนกันติกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทวดา คอร์ป สตาร์ทอัพสายยูเอวี (UAV) หรือ อากาศยานไร้คนขับผู้ให้บริการโดรนด้านการเกษตร และชีวภัณฑ์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ (เซอร์วิส โพรไวเดอร์) โดรนสำหรับการเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรปลูกข้าวภายใน จ.ฉะเชิงทรา ประมาณ 100 ราย เริ่มเข้ามาใช้บริการโดรนเพื่อช่วยพ่นยาในแปลงข้าว โดยมีพื้นที่แปลงข้าวรวมกันไม่ต่ำกว่า 3,000 ไร่ คิดค่าบริการอยู่ที่ 80-100 บาทต่อไร่
ทั้งนี้ การให้บริการจะครอบคลุมทั้ง การใช้โดรนในการฉีดพ่น สำรวจแปลงข้าว วัดปริมาณปุ๋ยในแปลง เพื่อจะให้ปุ๋ยได้อย่างถูกต้องตามความต้องการของพืช จากเดิมเกษตรกร ไม่มีเครื่องมือวัด มักซื้อปุ๋ยตามร้าน
เราเข้ามาปรับเปลี่ยนกระบวนการ ด้วยการวัดความต้องการก่อนให้ปุ๋ย ซึ่งสูตรของสารชีวภัณฑ์จะถูกปรับเปลี่ยนไปตามสภาพที่ดินว่า ขาดสารอะไร เพื่อเกิดความเหมาะสม ดังนั้น ประโยชน์สำหรับเกษตรกร ก็คือ การลดต้นทุนการผลิตต่อไร่
และในทางกลับกันก็เพิ่มผลผลิตต่อไร่ อีกทั้งประเด็นสำคัญที่สุด คือ การลดความเสี่ยงของแรงงานหรือเกษตรกรจากการที่ต้องสัมผัสกับสารเคมีที่ใช้ฉีดพ่นในพื้นที่เกษตร
“จากประสบการณ์ที่เคยทำในพื้นที่แปลงนาข้าวอินทรีย์ใน ต.ท่าไข่ อ.เมือง จ.ฉะเชิงทรา จากเดิมมีผลผลิต 200 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มเป็น 600 กิโลกรัมต่อไร่ ที่จังหวัดนี้เราให้บริการมาได้ 1 ปีแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีเกษตรกรในจังหวัดอื่นๆ สมัครใช้บริการของเรา เช่น ปทุมธานี อยุธยา อุบลราชธานี เป็นต้น อีกทั้งขยายการให้บริการโดรนกับแปลงพืชผักสวนครัวด้วย ช่วยเพิ่มผลผลิตได้”
นอกจากนี้ ในพื้นที่ฉะเชิงทรา ยังได้เริ่มปรับเปลี่ยนการให้สารเคมีของเกษตรกรด้วย โดยเปลี่ยนเป็นใช้สารชีวภัณฑ์ที่ไม่อันตราย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของเกษตรกร ซึ่งตอนนี้ มากกว่า 50% ได้ปรับเปลี่ยนตามคำแนะนำ และได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากเกษตรกรว่า ได้ผลดีกว่าสารเคมีแบบเก่า
ไทยต้องไปให้ถึง “เกษตรอัจฉริยะ”
กรรมการผู้จัดการของ เทวดา คอร์ป พูดถึงบทบาทความสำคัญและประโยชน์ของเทคโนโลยี ที่จะช่วยเกษตรกรไทย และโอกาสในการก้าวไปสู่การทำเกษตรอัจฉริยะว่า
ปัจจุบัน สภาพอากาศทั้งโลกเริ่มมีแนวโน้มแย่ลง อากาศร้อนมากขึ้น การทำเกษตรจะได้รับผลผกระทบมาก ทั่วโลกในตอนนี้เริ่มหันมาใช้เทคโนโลยีในการทำการเกษตรมากขึ้นเรื่อยๆ และประเทศไทย ซึ่งเป็น 1 ในสถานที่ ที่เหมาะสมกับการเกษตรมากที่สุดในโลก หรือ สุวรรณภูมิ ซึ่งเราทำการเกษตรเป็นเศรษฐกิจหลักของประเทศ
“จากแนวโน้มดังกล่าว การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยี มาช่วยแก้ปัญหาด้านแรงงาน ช่วยลดต้นทุน ช่วยเพิ่มผลผลิต ยกระดับคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์การเกษตร นับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน จากที่ได้ทำงานร่วมกับเกษตรกรมาในหลากหลายพืช เช่น ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย พืชผักสวนครัวต่างๆ ประสบกับปัญหาเหมือนๆ กัน
คือ ขาดแคลนแรงงาน แรงงานมีความแม่นยำต่ำ การสูญเสียสูง ใช้สารเคมีสิ้นเปลือง/ไม่เต็มประสิทธิภาพ/ไม่ถูกต้อง ทำให้สินค้าเกษตรไม่มีคุณภาพ ทั้งที่ตลาดในประเทศและในต่างประเทศมีความต้องการสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามอัตราการเจริญเติบโตของประชากรโลก นวัตกรรมการเกษตร ระบบ Smart Farming จะช่วยให้เกษตรกรเอาชนะปัญหาและความท้าทายเหล่านี้ได้”
อีกข้อเสนอแนะสำคัญ คือ ประเทศไทย ต้องรีบเร่งในการสร้างความรู้ความเข้าใน และพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ ให้เห็นถึง นวัตกรรมการเกษตร ซึ่งจะช่วยให้ครอบครัวหรือชุมชนของเกษตรกรเดิม ได้มีรายได้มากขึ้น เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง สังคมเข้มแข็ง นำไปสู่ความยั่งยืนของประเทศชาติอย่างแท้จริง
******************************