Lifestyle

ร.ร.ตชด.บ้านห้วยสลุงบ้านหลังที่สองของเด็กบ้านไกล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  0 ชุลีพร อร่ามเนตร 0  [email protected]

 

 

 

          สิ่งหนึ่งที่ทุกคนจะนึกถึงเมื่อถามถึง “โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน หรือตชด.” คือความห่างไกลออกไปจากชุมชนเมือง อยู่ติดชายแดน กว่าจะเข้าไปถีงโรงเรียนต้องใช้เวลานานแสนนาน เช่นเดียวกับเด็กๆ นักเรียน “โรงเรียน ตชด.บ้านห้วยสลุง” โรงเรียนในสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน(ตชด.) ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.แม่ระมาด จ.ตาก ที่ต้องเดินทางมาจากหมู่บ้านที่ห่างออกไปประมาณ 50-60 กิโลเมตรในพื้นที่ดอยสูง รวมถึงเด็กที่บ้านใกล้แต่ผู้ปกครองต้องออกไปทำงานนอกพื้นที่ และเด็กยากจน เด็กด้อยโอกาส ทำให้โรงเรียนแห่งนี้ต้องมีแหล่งพักพิงเปิดเป็นโรงเรียนกินนอน เพื่อช่วยเหลือเด็กๆ

 

 

 

ร.ร.ตชด.บ้านห้วยสลุงบ้านหลังที่สองของเด็กบ้านไกล

 

 

          โรงเรียน ตชด.บ้านห้วยสลุง จ.ตาก เปิดสอนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 มีนักเรียนคละชั้น รวมกันเพียง 80 กว่าคน ซึ่งอยู่ห่างไกลจากในตัวเมืองหลายร้อยกิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของ ด.ต.หญิง วิไล ธนวิภาศรี ครูใหญ่ของโรงเรียน ด้วยความยากจน ความห่างไกล โรงเรียนจึงได้จัดอาคารพักนอนเป็นอาคารชั่วคราวให้ มีการจัดนมผงพระราชทานให้นักเรียนทุกคนในตอนเช้า และจัดสรรอาหารกลางวันโดยการสนับสนุนจาก อปท.ในพื้นที่ มีโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ทั้งการปลูกพืชผักและเลี้ยงสัตว์ เช่น ปลา หมู และไก่ เพื่อนำผลผลิตที่ได้มาเป็นวัตถุดิบทำอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนทั้งโรงเรียน


          ด.ต.หญิงวิไล เล่าว่า นักเรียนส่วนใหญ่อยากมาโรงเรียนทุกวัน เพราะพวกเขามองว่าโรงเรียนเป็นมากกว่าสถานศึกษาที่ให้วิชาความรู้ ทักษะอาชีพ แต่เป็นบ้านหลังที่สอง เพราะโรงเรียนเป็นที่พึ่งพิงที่สำคัญที่สุด เนื่องจากเด็กบางคนครอบครัวของพวกเขาอาจจะไม่สามารถมอบให้ เด็กส่วนหนึ่งต้องออกจากสถานศึกษาเพื่อไปเป็นกำลังแรงงานหลักของบ้าน

 

 

ร.ร.ตชด.บ้านห้วยสลุงบ้านหลังที่สองของเด็กบ้านไกล

 


          “โรงเรียนมีทั้งเด็กไปกลับ และเด็กบ้านไกลที่ต้องพักนอนในโรงเรียน นอกจากให้ความรู้ด้านวิชาการ ให้เด็กอ่านออกเขียนได้ มีทักษะอาชีพแล้ว โรงเรียนจะต้องดูแลชีวิตความเป็นอยู่ เรียกได้ว่าดูแลตั้งแต่ตื่นนอนไปยังเข้านอน เพราะพวกเขาได้ฝากทั้งชีวิตและปากท้องไว้ในทุกๆ วัน มื้ออาหาร และที่พักอาศัย จึงต้องดีที่สุดที่พวกเขาจะได้รับจากโรงเรียน” ครูใหญ่เล่า




          นักเรียนโรงเรียน ตชด.บ้านห้วยสลุง ส่วนใหญ่เป็นเด็กชาติพันธุ์ หลายคนต้องการความช่วยเหลือในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดูแลความเป็นอยู่ด้านคุณภาพชีวิต สุขอนามัย อุปกรณ์การศึกษา ปัญหาด้านระยะทางและการเดินทางในพื้นที่กันดาร บางส่วนที่ไกลออกไปต้องใช้บริการรถรับส่งรายเดือนซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณเดือนละ 250-300 บาท


          สำหรับอาหารแต่ละมื้อของเด็ก ต้องมีการวางแผนล่วงหน้าเพื่อให้ได้สารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายอย่างครบถ้วน ส่วนการบริหารจัดการเรือนพักนอนใช้จัดระบบพี่ดูแลน้องทั้งเรื่องที่พักและอาหาร เป็นการฝึกความรับผิดชอบ ความมีระเบียบวินัย และการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่น

 

 

ร.ร.ตชด.บ้านห้วยสลุงบ้านหลังที่สองของเด็กบ้านไกล

 


          ด.ช.ธนชัย วิเชียรรังสี นักเรียนชั้นป.6 โรงเรียน ตชด.บ้านห้วยสลุง เล่าว่า เขาเป็นเด็กบ้านไกลหรือเด็กพักนอนที่โรงเรียน ทุกคนจะมีความรับผิดชอบในการใช้ชีวิตร่วมกัน อาทิ พวกเด็กโตอย่างเขาจะจัดเวรดูแลเรื่องอาหารมื้อเช้าและมื้อเย็น ส่วนน้องๆ เด็กเล็กจะช่วยกันดูแลความสะอาดในโรงเรียน อาคารเรียน อาหารที่จัดหาเป็นข้าวสวยหุงร้อนๆ และทำกับข้าวง่ายๆ หนึ่งอย่าง เช่น ผัดผัก หรือแกงจืด บางครั้งก็มีน้ำพริกเพิ่มขึ้นอีกอย่าง ซึ่งการจัดเตรียมต้องมีปริมาณเพียงพอสำหรับทุกคน 


          ดังนั้น การมาพักอยู่ที่โรงเรียน นอกจากได้เรียนรู้วิชาการ มีความรู้แล้ว ยังต้องรับผิดชอบตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย อย่างบางคนต้องเตรียมวัตถุดิบ หั่นหมู หั่นผัก ไปจนถึงการล้างจาน และเมื่อกลับบ้านก็ได้นำการอยู่ร่วมกัน การทำงานบ้านต่างๆ ไปช่วยเหลือที่บ้าน เพื่อแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ได้ ซึ่งเมื่อทางกสศ.เข้ามาช่วยสนับสนุนทุนช่วยด้านการศึกษา การใช้ชีวิต ทำให้พวกเขาได้นำมาซื้ออุปกรณ์ การเรียนการสอน และช่วยเป็นค่าใช้จ่ายให้แก่ทางบ้าน

 

 

ร.ร.ตชด.บ้านห้วยสลุงบ้านหลังที่สองของเด็กบ้านไกล

 


          เช่นเดียวกับ ด.ญ.จิตรานุช วิเทศสุขสม นักเรียนชั้น ป.6 เล่าว่า เด็กบ้านไกลส่วนใหญ่จะรักโรงเรียนมาก เพราะต้องอาศัยอยู่ในโรงเรียนเหมือนบ้าน โรงเรียน ตชด.บ้านห้วยสลุง จึงเป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นบ้านอีกหลังของพวกหนู และเมื่อ กสศ.ได้มาลงพื้นที่ ได้มาให้ทุนการศึกษา จะช่วยแบ่งเบาและเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ครอบครัวของเราได้


          ขณะนี้ทีมงานของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้กระจายกันลงพื้นที่ โรงเรียนสังกัด ตชด. ตามภูมิภาคต่างๆ ภายหลังการลงนามความร่วมมือระหว่าง กสศ. และ ตชด. เพื่อคัดกรองและสนับสนุนนักเรียนที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์การคัดเลือกนักเรียนทุนเสมอภาค โดยมี น.ส.วลัยรัตน์ ศรีอรุณ รองประธานคณะกรรมการบริหาร กสศ. และประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข นายไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ. และคณะ รับทราบถึงปัญหาอุปสรรคต่างๆ ในการดำเนินงาน เช่น ปัญหาการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเพื่อจัดเก็บข้อมูลรายได้และสถานะครัวเรือน ทั้งข้อมูลภูมิสารสนเทศ และข้อมูลภาพถ่ายสภาพบ้านของนักเรียน ตชด. พบว่าเด็กเกือบทั้งหมดมีฐานะยากจนพิเศษ ขาดเรียนบ่อยเพราะต้องช่วยผู้ปกครองหารายได้ ส่วนใหญ่อายุไม่ตรงตามเกณฑ์ เนื่องจากครอบครัวโยกย้ายถิ่นฐานบ่อยตามแหล่งการจ้างงาน ขณะที่ครัวเรือนมีรายได้ไม่แน่นอน ได้รับเพียงค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำหรือน้อยกว่า

 

 

ร.ร.ตชด.บ้านห้วยสลุงบ้านหลังที่สองของเด็กบ้านไกล

 


          นายไกรยส กล่าวว่า การลงพื้นที่ เป็นโอกาสสำคัญของบุคลากรทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับภารกิจเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาในทุกระดับ ในการนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการทำงาน นอกจากนั้นยังช่วยทำให้ทราบว่า เด็กๆ เห็นโรงเรียนเป็นบ้านหลังที่สอง ใช้เวลากับโรงเรียนมากกว่าที่บ้าน และครูเป็นเสมือนพ่อแม่ของเด็กอีกคน ซึ่ง กสศ.จะแชร์ข้อมูลเหล่านี้ไปให้ประชาชน ภาคเอกชน ห้างร้านที่สนใจจะเข้ามาเป็นหุ้นส่วนของความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. มีเงินอยู่ก้อนไม่ใหญ่ เทอมละประมาณ 1,500-2,500 บาทต่อคน ให้แก่เด็กยากจนพิเศษเหล่านี้ แต่ถ้าภาคเอกชนในจังหวัด ท้องถิ่น หรือประเทศอยากจะมาช่วยเติมเต็มช่องว่างทางโอกาสและคุณภาพการศึกษาให้แก่เด็กเยาวชนเหล่านี้ให้มากกว่า 1,500-2,500 บาท กสศ.ก็พร้อมที่จะเป็นสะพานบุญให้ความพยายามช่วยเหลือและความเป็นภาคีหุ้นส่วนความเสมอภาคทางโอกาสสามารถเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน จากประชาชนทุกคนในสังคมไทย

 

 

 

ร.ร.ตชด.บ้านห้วยสลุงบ้านหลังที่สองของเด็กบ้านไกล

 


          กสศ.จัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่นักเรียนในสังกัด ตชด.
          - ปัจจุบันมีสถานศึกษาในสังกัด บช.ตชด. รวมทั้งสิ้น 218 แห่ง
          - โรงเรียน ตชด. จำนวน 168 โรง
          - ศูนย์การเรียน ตชด. จำนวน 50 ศูนย์
          - โดยกว่า 20% เป็นโรงเรียนที่เดินทางยากลำบากมากไม่สามารถเข้าถึงได้โดยรถยนต์ในทุกฤดู
          - ครูตชด.ได้ลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน บันทึกข้อมูลนักเรียนเข้ามาในระบบ iSEE จำนวน 15,787 คน
          - คัดกรองเรียบร้อยแล้วจำนวน 13,037 คน คิดเป็น 82% โดยนักเรียนกลุ่มนี้มาจากครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ย 1,200 บาทต่อคนต่อเดือน
          - นักเรียนระดับชั้นอนุบาล-ประถมศึกษา จัดสรรในภาคเรียนนี้ละ 1,500 บาทต่อคน
          - นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาจัดสรรภาคเรียนละ 2,500 บาทต่อคน
          - 50% นักเรียนได้รับอุดหนุน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายครองชีพ ค่าเดินทาง บรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า
          - 50% จัดสรรให้แก่โรงเรียนเป็นค่าอาหาร ค่ากิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต
          - ผู้ที่สนใจบริจาคเงิน ใช้สิทธิลดหย่อนภาษี 2 เท่าได้อัตโนมัติที่ https://donate.eef.or.th/main-donate หรือสอบถามโทร.0-2079-5475
          ที่มา:กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ