ไลฟ์สไตล์

คอลัมน์เที่ยวนี้ขอเล่า-ซอกแซกในไลพ์ซิก

คอลัมน์เที่ยวนี้ขอเล่า-ซอกแซกในไลพ์ซิก

20 พ.ย. 2552

ยิ่งซอกแซกในไลพ์ซิก(Leipzig) ยิ่งพบว่า เป็นเมืองหนึ่งในเยอรมนีที่สมควรเที่ยวอย่างร่ำไรเป็นอย่างยิ่ง

 ยังไม่ต้องขยับไปไหนไกล  แค่นั่งรถไฟมาถึงสถานีไลพ์ซิกก็ขลุกอยู่ได้ครึ่งค่อนวัน เพราะเป็นสถานีใหญ่ที่ซุกชอปปิ้งมอลล์ขนาดมหึมาเอาไว้ในชายคาสถานีรถไฟด้วย

            ฉันมาถึงไลพ์ซิกด้วยความเข้าใจผิดหลายประการ หลงคิดว่าไลพ์ซิกเป็นเมืองเล็กที่ซ่อนตัวอยู่ใกล้กับเมืองใหญ่อย่างเบอร์ลิน ที่ไหนได้ไลพ์ซิกเป็นเมืองใหญ่ที่มีชาวเมืองอาศัยกระจุกตัวกว่า 5 แสนคน 

            ทีแรกคิดว่าเป็นเมืองใหม่ไร้เดียงสาของเยอรมนี แต่กลับเป็นเมืองที่มากมายไปด้วยประวัติศาสตร์  แถมเป็นเมืองสำคัญแห่งหนึ่งของรัฐแซกโซนี  และจัดระบบให้เป็นเขตปกครองพิเศษที่มีระบบการบริหารจัดการเมืองเป็นของตัวเอง

มากกว่าประวัติศาสตร์ที่ข้นคลั่กไลพ์ซิกยังเป็นเมืองที่อายุเกือบพันปี  เคยเป็นศูนย์กลางทางการค้าและอุตสาหกรรมเครื่องจักรที่สำคัญ 

            แต่แม่เหล็กที่ดึงดูดให้ฉันเหาะเหินเดินอากาศจากกรุงเทพฯด้วยสายการบินกาตาร์แอร์เวย์ส (0-2259-2701-3) ให้มาถึงเบอร์ลินแล้วนั่งรถไฟต่อมาหาไลพ์ซิก เป็นเพราะฉายาที่ถูกเรียกว่าเป็นปารีสน้อย(Little Paris) ทำให้อยากดั้นด้นมาเพื่อดูไลพ์ซิก ว่ามุมไหนที่มีกลิ่นอายของปารีส

และนอกจากเป็นเมืองการค้าไลพ์ซิกยังมีชื่อทางด้านความเป็นเมืองดนตรีและเสียงเพลง กวี นักดนตรี นักแต่งเพลงชื่อก้องโลกหลายคน อาทิ วากเนอร์   ชูมานน์ และโยฮันน์ ล้วนแต่เคยมาผลิตผลงานคุณภาพของพวกเขาช่วงเวลาที่อยู่ในไลพ์ซิก นั่นทำให้ไลพ์ซิกมีมหาวิทยาลัยทางด้านดนตรีและการแสดงตั้งอยู่  คอยผลิตศิลปินหน้าใหม่และศิลปินคุณภาพมานับไม่ถ้วน  ที่โด่งดังหน่อยก็เห็นจะเป็นวงออเคสตราของไลพ์ซิก และคณะนักร้องประสานเสียง

อีกด้านหนึ่งที่ไลพ์ซิกมีชื่อคือเป็นศูนย์กลางคมนาคมทางรถไฟในแถบยุโรปตอนกลางในช่วงศตวรรษที่ 19 แต่ปัจจุบันไลพ์ซิกที่ยกให้เป็นศูนย์กลางในด้านการจัดแสดงสินค้านานาชาติในแถบยุโรปตอนกลาง

  ประวัติศาสตร์ยุคหนึ่งของไลพ์ซิกที่ถูกพูดถึงกันเยอะคือในยุคที่นโปเลียนเดินทัพเข้าเยอรมนี โดยเลือกใช้ไลพ์ซิกเป็นที่ฐานที่มั่นและศูนย์บัญชาการของกองทัพ  แต่กองทัพของนโปเลียนก็เคยพ่ายแพ้ที่เมืองแห่งนี้นี่เอง

    ไลพ์ซิกถูกพูดถึงอีกครั้ง ตอนถูกถล่มอย่างหนักในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2  ตอนนั้นไลพ์ซิกเสียหายยับเยินอย่างหนัก แต่ก็ได้รับการฟื้นฟูมาเรื่อยๆ

ฉันพาตัวเองไปถึงสะดือเมืองของไลพ์ซิกแถวศาลาว่าการเมืองเก่า (Old Town Hall) ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1556 ในสไตล์เรเนสซองส์ ตั้งอยู่บริเวณจัตุรัสประจำเมือง  และจัดได้ว่าเป็นอาคารยุคเรเนสซองส์หลังใหญ่ที่สุดในเยอรมนีที่ยังคงเหลือไว้ให้คนรุ่นนี้เห็น มีความยาวเกือบ 100  เมตร ที่จริงเป็นอาคารสองหลังที่ถูกสร้างให้เชื่อมกัน และมีหอคอยสูง และอะไรไม่เท่าการตกแต่งด้านในที่ดูสง่างาม

ปัจจุบันทำเป็นพิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ของเมือง ผ่านภาพเขียนงานแกะสลักไม้ และรูปปั้น รวมถึงงานศิลปะแขนงอื่นๆ  ด้านล่างเป็นร้านขายของที่ระลึก ร้านอาหารและคาเฟ่ 

         ในอาณาบริเวณเมืองเก่าของไลพ์ซิก มีพิพิธภัณฑ์ โบสถ์ และอัดแน่นไปด้วยสถาปัตยกรรมอันเก่าแก่ไม่แพ้หัวเมืองอื่นในเยอรมนี

            ไม่ไกลจากเมืองไกลเป็นมหาวิทยาลัยไลพ์ซิก (Leipzig University) อันโด่งดัง  มหาวิทยาลัยแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1409 เดิมทีมีโบสถ์เซนต์เปาโลอยู่ภายในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ด้วยแต่มติของระบบคอมมิวนิสต์ให้ทำลายลงเมื่อปี ค.ศ.1961  จึงมีการสร้างโบสถ์หลังใหม่ขึ้นมา

              ปัจจุบันถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งของเยอรมนีและเก็บงำประวัติศาสตร์เอาไว้ไม่น้อย

นอกจากประวัติศาสตร์ที้เปอะเปื้อนเมืองไลพ์ซิกยังมีเสียงดนตรีคลอเคลียชาวเมืองอยู่ตลอดเวลา  ไม่ว่าจะเดินเหินผ่านถนนสายไหนหรือมุมไหน จะมีนักดนตรีเร่มาคอยขับกล่อมบรรเลงเพลงแลกเหรียญยูโร

แต่ถ้าจะฟังกันเป็นกิจจะลักษณะต้องไปที่เกวานเฮ้าส์(Gewandhaus) สถานที่ที่มีไว้แสดงดนตรี จัดคอนเสิร์ต และดูออเคสตราที่ดีที่สุดในยุโรป  แถมยังเป็นอาคารที่สามารถชมผลงานศิลปะที่เกี่ยวเนื่องกับงานด้านดนตรีได้อีกด้วย

ช่วงสงครามโลกครั้งที่2 อาคารหลังนี้เสียหายไปไม่น้อยแต่ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ด้วยสถาปัตยกรรมที่แปลกตาไปกว่าอาคารที่อยู่รายรอบ

ผลจากการที่อนุญาตให้สองเท้าพาซอกแซกไปตามซอกซอยของไลพ์ซิกอย่างไม่ให้โมงยามมาคอยบงการชีวิตจึงพบว่า ไลพ์ซิกอาจไม่ฉ่ำสุนทรีย์เท่าปารีส แต่อยู่ด้วยแล้วโล่งใจสบายจิตอย่างบอกไม่ถูก เข้าตำราเมืองน่าแฮงก์

กาญจนาหงษ์ทอง