ฝันไกลสู่สกุลเงินหลักของชาวโลก
นายเดวิด มาร์คัส แม่ทัพของโครงการ Libra บอกว่า หนึ่งในเป้าหมายโครงการนี้ คือการช่วยให้ประชากร 1.7 พันล้านคนทั่วโลก ที่ไม่เคยมีบัญชีธนาคาร สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน และสกุลเงินที่มีเสถียรภาพได้
ขณะที่ มีรายงานว่า ปัจจุบัน เฟซบุ๊กมีจำนวนผู้ใช้งานทั่วโลก 2.4 พันล้านคน และนี่จะเป็นฐานผู้ใช้งานรายสำคัญที่ช่วยให้ความนิยามสกุลเงินดิจิทัล Libra แพร่ขยายจนกลายเป็นสกุลเงินหลักได้อย่างไม่ยาก เมื่อเทียบกับสกุลเงินดิจิทัลคู่แข่งค่ายอื่นๆ
ก่อนหน้านี้ ในงานประชุมนักพัฒนาประจำปีของเฟซบุ๊กครั้งล่าสุด F8 2019 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา “มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก” ซีอีโอเฟซบุ๊ก เคยกล่าวไว้ว่า เขาต้องการทำให้การส่งเงินทำได้ง่ายดายเหมือนกันส่งรูปภาพ คือทำได้ผ่านดิจิทัล รวดเร็วเรียลไทม์ ไม่มีค่าใช้จ่าย และปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่า ช่วงเวลาการประกาศเปิดตัว Libra เกิดขึ้นในช่วงเบอร์ 1 เครือข่ายสังคมออนไลน์ของโลกรายนี้ กำลังเผชิญภาวะที่ยากลำบากที่สุดช่วงหนึ่งของบริษัท จากการถูกกดดันทั้งในเชิงกฎระเบียบจากรัฐบาล
และการถูกจับตามองจากภาคการเมืองถึงการเป็นสื่อดิจิทัลอันทรงอิทธิพล รวมถึงการรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้งานจนถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างผิดวัตถุประสงค์
สำหรับสกุลเงินดิจิทัลล่าสุดนี้ น่าจะพร้อมให้สาวกเฟซบุ๊ก เข้ามาทดลองใช้จริงได้เร็วๆ นี้ โดยเจ้าของโครงการบอกว่า จะพยายามกำหนดค่าธรรมเนียมใช้งานไว้ในอัตราต่ำมากๆ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายที่มีอุปสรรคในการใช้บริการทางการเงิน สามารถเข้าถึงได้ตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้ ส่วนการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์นั้น คาดว่าต้องรอไปถึงปี 2563
ยักษ์ใหญ่ตบเท้าหนุนเสถียรภาพค่าเงิน
อีกความน่าสนใจของสกุลเงินดิจิทัล Libra ที่นำโดยเฟซบุ๊ก ก็คือ เฟซบุ๊ก กำหนดบทบาทความ “เป็นกลาง” ให้กับตัวเอง โดยจัดตั้ง สมาคมลิบร้า (Libra Association) เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรมาเป็นผู้ควบคุมดูแลสกุลเงินดิจิทัลนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า มีความตั้งให้สกุลเงินนี้เป็น “สินค้าสาธารณะ (public good)”
ปัจจุบันสมาคมฯ มีสมาชิกผู้ก่อตั้ง 28 ราย จากหลากหลายประเทศและภาคส่วนครอบคลุม เทคโนโลยี การเงิน และองค์กรไม่แสวงผลกำไร ได้แก่ Mastercard, Visa, eBay, Paypal, Spotify, Uber, Lyft, Vodafone, Stripe, Facebook, บริษัทบล็อกเชนอย่างCoinbase, Anchorage
รวมทั้งกองทุนร่วมทุนAndreessen Horowitz, Breakthrough Initiatives แต่ละรายมีสิทธิยกมือโหวตรายละ 1 เสียงเท่ากัน รวมทั้งเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการด้วย พร้อมตั้งความหวังว่าก่อนการเปิดตัวเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการในปีหน้า น่าจะมีจำนวนสมาชิกไม่ต่ำกว่า 100 ราย
สมาคมลิบร้า ยังได้ออกการเสนอขายสินทรัพย์ที่นำมาเป็นโทเคน หรือ Security Tokens (STOs) ของตนเอง ชื่อว่า Libra Investment Token
ถือเป็นแนวทางหนึ่งในการระดมทุนเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินงานของสมาคมฯ ซึ่งสมาชิกที่เข้ามาอยู่ในเครือข่ายของสมาคมฯ ต้องเข้ามาลงทุนขั้นต่ำใน STOs รายละ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
แต่ก็ใช่ว่าใครจะเข้ามาลงทุนในสมาคมลิบร้าได้ง่ายๆ เพราะมีเกณฑ์เข้มข้นเพื่อปกป้องเสถียรภาพทางการเงินของสกุลเงินดิจิทัลนี้ไว้ในระดับสูง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นองค์กรที่ทำธุรกิจด้านเฮดจ์ฟันด์เงินดิจิทัล จะต้องมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การจัดการ (AUM) มากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนบริษัทนอกกลุ่มคริปโต ก็ต้องมีขนาดของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market cap) มากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเช่นกัน