Lifestyle

 ลำไส้อักเสบในสุนัข

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ - พิชิตปัญหาสัตว์เลี้ยง โดย- นสพ.วิรัช ธนพัฒน์เจริญ หรือหมอเล็ก  [email protected]

 

        สวัสดีครับสัปดาห์นี้หมอนำเรื่องลำไส้อักเสบในสุนัขมาเล่าให้เป็นประโยชน์ต่อเจ้าของน้องสุนัขนะครับ เมื่อพูดถึงเรื่องนี้หลายคนมักนึกถึงโรคลำไส้อักเสบจากพาร์โวไวรัส โดยหมอจะเล่าสู่กันฟังให้ทราบถึงสาเหตุ อาการ การป้องกัน และการรักษาครับ

 

            เริ่มต้นที่ สาเหตุของโรคลำไส้อักเสบในสุนัข โรคนี้เกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ เช่น พยาธิ เชื้อแบคทีเรีย และไวรัส แต่ที่ส่งผลกระทบรุนแรงคือการติดเชื้อไวรัสที่ชื่อว่าพาร์โวไวรัส หรือ Canine Parvovirus (CPV) กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง คือ ลูกสุนัขอายุระหว่าง 6 สัปดาห์ถึง 6 เดือนที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้มาก่อน และสามารถเกิดขึ้นได้กับสุนัขโตด้วยเหมือนกัน เชื้อพาร์โวไวรัสมักจะปนเปื้อนอยู่ในดินและมีชีวิตอยู่ได้นานในสิ่งแวดล้อมและติดต่อได้จากการสูดดม หรือสัมผัสกับอาเจียน และอุจจาระของสุนัขที่เป็นโรค 

          นอกจากนี้ในบางครั้งอาจพบว่าสุนัขติดเชื้อไวรัสมากกว่าหนึ่งเชื้อก็เป็นได้ เช่น อาจพบการติดเชื้อไวรัสโคโรนาซึ่งก็ทำให้สุนัขมีอาการท้องเสียเช่นกัน ส่วนสาเหตุอื่นๆ เช่น การติดพยาธิ หรือ แบคทีเรีย ก็อาจพบร่วมได้

          ทั้งนี้เจ้าของสามารถสังเกต อาการผิดปกติจากภายนอก ได้ เช่น อาการเซื่องซึม เบื่ออาหาร มีไข้ อาเจียน ท้องเสียอย่างรุนแรง หรือถ่ายเป็นเลือด และน้ำหนักลดอย่างรวดเร็วเนื่องจากเชื้อไวรัสเข้าไปทำลายระบบย่อยอาหารทำให้ไม่สามารถดูดซึมอาหารจำพวกโปรตีนและน้ำได้ส่งผลให้ร่างกายสุนัขอ่อนแรง เกิดภาวะขาดน้ำ และหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หากสังเกตพบอาการเหล่านี้รีบนำสุนัขไปพบสัตวแพทย์อย่างเร่งด่วนเพราะหากไม่รีบรักษาอาจจะทำให้สุนัขเสียชีวิตได้ภายใน 48-72 ชั่วโมง 

        ส่วน การตรวจรักษา ก็ต้องอาศัยการวินิจฉัยจากคุณหมอที่จะตรวจสอบจากประวัติ การตรวจร่างกาย และการตรวจเลือด โดยสิ่งที่ใช้ยืนยันได้ดี คือการใช้ชุด Test Kit CPV ตรวจแอนติเจนจากอุจจาระด้วยวิธี Elisa ซึ่งวิธีนี้จะมีข้อดีหลายอย่าง คือ ความไวในการตรวจค่อนข้างสูง ใช้เวลาทราบผลไม่นาน สามารถตรวจที่คลินิกได้เลย แต่มีข้อควรระวังเพราะไม่สามารถแยกเชื้อที่เกิดจากการทำวัคซีนและที่ได้รับจากธรรมชาติได้ ดังนั้นเจ้าของควรแจ้งสัตวแพทย์เรื่องวันที่ทำวัคซีนด้วยเพื่อเป็นข้อมูลในการตรวจวินิจฉัย 

          อย่างไรก็ตามยังไม่มียารักษาโรคลำไส้อักเสบจากไวรัสในสุนัขโดยตรง สัตวแพทย์จึงทำการวินิจฉัยโรคและรักษาไปตามอาการ ได้แก่ การให้สารน้ำ หรือวิตามินเพื่อทดแทนร่างกายของสุนัขที่สูญเสียน้ำจากการอาเจียนและท้องเสีย การรักษาด้วยยาต่างๆ เช่น ยาลดอาเจียน ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย แทรกซ้อน ทั้งนี้หลังการรักษาร่างกายของสุนัขรวมถึงระบบย่อยอาหารยังคงอ่อนแออยู่ในช่วงแรกๆ

       ดังนั้นควรให้สุนัขกินอาหารที่อ่อนและย่อยง่ายระหว่างการฟื้นตัวด้วย หากมีสัตว์เลี้ยงหลายตัวก็ควรแยกเลี้ยงสุนัขที่ติดเชื้อประมาณ 2 เดือน รวมทั้งหมั่นล้างทำความสะอาดภาชนะ และบริเวณที่สุนัขป่วยเคยอยู่ให้สะอาดด้วย

 

 

        สุดท้ายกันไว้ดีกว่าแก้นะครับ ซึ่งการป้องกันที่ดีที่สุด คือการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อพาร์โวไวรัสตั้งแต่ในช่วงอายุประมาณ 14-16 สัปดาห์ และให้สุนัขพักอยู่บ้านโดยไม่ควรพาออกนอกบ้านหลังฉีดวัคซีนไปแล้ว 2 สัปดาห์สำหรับสุนัขโตควรหมั่นพาสุนัขตรวจสุขภาพและไปฉีดวัคซีนประจำปีให้ครบตามกำหนดอยู่เสมอ เพียงเท่านี้น้องสุนัขก็ปลอดภัยจากโรคลำไส้อักเสบครับ!

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ