ไลฟ์สไตล์

พระเจ้าเข้านิพพาน 
๑ เดียวที่...วัดท่าฬ่อ อ.เมืองพิจิตร

พระเจ้าเข้านิพพาน ๑ เดียวที่...วัดท่าฬ่อ อ.เมืองพิจิตร

13 พ.ย. 2552

ปางพระพุทธรูป คือ ลักษณะของพระพุทธรูป ทำตามพระมหาปุริสลักษณะ ที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา แบ่งได้ตามแหล่งและยุคในประวัติศาสตร์ ดังนี้ แคว้นคันธาระ มี ๙ ปาง อินเดีย มี ๗ ปาง ลังกา มี ๕ ปาง ทวารวดี มี ๑๐ ปาง ศรีวิชัย มี ๖ ปาง ลพบุรี มี ๗ ปาง เชียงแสน ม

   ในจำนวนปางพระพุทธรูปทั้งหมด พระพุทธรูปปางพระพุทธเจ้าเข้านิพพาน หรือ "พระเจ้าเข้านิพพาน" นั้นถือว่า เป็นพระพุทธรูปปางที่ไม่ค่อยพบเห็นในวัดทั่วๆ ไป เท่าที่ทราบ องค์ที่สมบูรณ์ที่สุด ต้องยกให้ พระเจ้าเข้านิพพาน ที่ประดิษฐานอยู่ในหลวงพ่อพวง หรืออุโบสถหลังเก่า วัดท่าฬ่อ ต.ท่าฬ่อ อ.เมือง จ.พิจิตร

 ส่วนอีกองค์หนึ่งนั้น ประดิษฐานอยู่ในวิหารพระเจ้าเข้านิพพาน หรือวิหารแกลบ ตั้งอยู่ในบริเวณวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่) อ.เมือง จ.พิษณุโลก

 พระครูวินัยธรมานัส จนฺทสีโล เจ้าอาวาสวัดท่าฬอ บอกว่า การตั้งถิ่นฐานของประชาชนในตำบลท่าฬ่อ ไม่มีหลักฐานระบุไว้ชัดเจนว่า มีการตั้งถิ่นฐานมาตั้งเมื่อใด รู้แต่เพียงว่า มีอายุประมาณร้อยกว่าปี ตามอายุการก่อตั้งวัดท่าฬ่อ

 โดยพื้นที่ของตำบลในอดีต เป็นป่าทึบ มีชาวบ้านรวมตัวกันเข้ามาจับจองเป็นรุ่นๆ บุกเบิกแผ้วถางป่าเป็นที่อยู่อาศัย และเป็นที่ทำกินอยู่ริมน้ำน่าน ตามลำคลอง และเป็นที่มาของชื่อตำบลท่าฬ่อ เพราะในสมัยนั้นจะใช้ล้อเลื่อนสำหรับลากไม้ หรือล้อเกวียนในการขนส่งผลผลิตทางการเกษตร จนเป็นชุมชนที่รวมตัวของเหล่าล้อเลื่อน / ล้อเกวียนต่างๆ ที่มาจอดรอบบริเวณริมท่าน้ำเต็มไปหมด จนชาวบ้านเรียกว่า "ท่าล้อ" และผิดเพี้ยนเป็น "ท่าฬ่อ" จนถึงปัจจุบัน

 ส่วนเหตุแห่งการสร้าง “พระพุทธรูปปางพระพุทธเจ้าเข้านิพพาน” นั้น พระครูวินัยธรมานัส อธิบายให้ฟังว่า การสร้างพระพุทธเจ้าเข้านิพพาน เป็นปางที่สร้างตามพระพุทธประวัติตอนถวายพระเพลิงพุทธสรีระ ที่เมืองกุสินารา

  ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานในรุ่งอรุณวันเพ็ญเดือน ๖ ขณะพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา ที่ใต้ต้นไม้สาละ คูเมืองกุสินารา มัลลกษัตริย์ แห่งกุสินารา ทรงจัดการพระพุทธสรีระ ห่อด้วยทุกูลพัสตร์ภูษาผ้าเนื้อดี ๕๐๐ ชั้น แล้วอัญเชิญลงหีบทอง ที่เต็มด้วยน้ำมันหอม และถวายพระเพลิงโดย มัลลกษัตริย์ ๔ พระองค์ ชำระกายให้บริสุทธิ์ แต่งเครื่องทรงชุดใหม่ นำเพลิงเข้าไปจุดที่พระจิตกาธานทั้ง ๔ ทิศ ณ มกุฎพันธเจดีย์ ด้านทิศตะวันออกของพระนคร แต่ไม่สามารถจุดติดได้ ทั้งๆ ที่เป็นเชื้อเพลิงอย่างดี

 พระอนุรุทธเถระ จึงแจ้งให้มัลลกษัตริย์ทราบว่า “มหาบพิตร เทพยดาทั้งหลายมีความประสงค์จะรอคอยท่าน พระมหากัสสปะเถระ พระสาวกผู้ใหญ่ก่อน เพื่อให้ท่านถวายบังคมพระยุคลบาทของพระศาสดา ถ้าพระมหากัสสปะเถระ ยังมิได้ถวายนมัสการตราบใด เพลิงจะจุดไม่ติดตราบนั้น”

 เมื่อพระมหากัสสปะเถระ มาถึงแล้วเข้าไปยังจิตกาธาน กระทำประทักษิณเวียนสามรอบ แล้วยืนอภิวาททางเบื้องพระบาท แล้วตั้งจิตอธิษฐาน กราบทูลว่า

 “ข้าแต่พระบรมครู ข้าพระพุทธเจ้าผู้ชื่อว่า มหากัสสปะ เป็นสาวกที่พระพุทธองค์ทรงตั้งไว้ในตำแหน่งผู้เลิศทางธุดงค์ในกาลเบื้องต้น พระพุทธองค์ประทานบรรพชาอุปสมบทให้แก่ข้าพระพุทธเจ้า แล้วประทานเปลี่ยนผ้ามหาบังสุกุลที่ทรงพิจารณาจากศพนางปุณณทาสีให้ร่วมใช้กับพระพุทธองค์ ข้าพระพุทธเจ้า คือ กัสสปะเพียงผู้เดียวนี้ อนึ่ง คำกราบทูลของข้าพระองค์นี้ เป็นความสัตย์จริง ขอให้พระบาททั้งสองของพระองค์จงออกมาจากหีบทองรองรับการอภิวาทของข้าพระบาทในกาลบัดนี้เถิด”

 สิ้นคำกราบทูลประหนึ่งว่า พระพุทธองค์ทรงรับทราบคำกราบบังคมทูล ก็บันดาลพระบาททั้งคู่ ทำลายผ้าที่หุ้มห่อพระพุทธสรีระทั้ง ๕๐๐ ชั้น และทำลายหีบทองออกมาปรากฏภายนอกดุจดวงพระอาทิตย์ พ้นจากกลีบเมฆออกมาปรากฏอยู่ดูน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก จึงเป็นที่มาของพระปางนี้

 พระครูวินัยธรมานัส ยังบอกด้วยว่า พระพุทธเจ้าเข้านิพพานของวัดท่าฬ่อ  สันนิษฐานว่า สร้างไว้เมื่อกว่า ๑๐๐ ปีที่แล้ว เดิมทีประดิษฐานอยู่ในวิหารหลวงตากริม เมื่อกรมศิลปากรมาบูรณะภาพในวิหารเมื่อปี ๒๕๔๕ จึงย้ายมาเก็บไว้ที่วิหารหลวงพ่อพวง

 หากพุทธศาสนิกชนท่านใดอยากเดินทางไปกราบไหว้สักการะ สอบถามเส้นทางได้ที่ โทร.๐๘-๙๕๖๕-๖๔๔๘

พระเจ้าเข้านิพพานที่วัดใหญ่
  "พระเจ้าเข้านิพพาน" ประดิษฐานอยู่ในวิหารพระเจ้าเข้านิพพาน หรือวิหารแกลบ ตั้งอยู่ในบริเวณวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่) อ.เมือง จ.พิษณุโลก อยู่ทางด้านใต้ของพระวิหาร พระศรีศาสดา

 ภายในวิหาร มีพระพุทธรูปนั่งขนาดใหญ่ มีพระสาวกอยู่ข้างหน้าหลายองค์  จุดเด่นบริเวณกลางวิหารมีหีบปางพระเจ้าเข้านิพพาน ซึ่งสมมติว่า เป็นหีบพระพุทธสรีระ ตั้งอยู่บนแท่นสลักลวดลายงดงาม

 พุทธลักษณะ ของพระพุทธเจ้าเข้านิพพาน ถือเป็นพระพุทธรูปอีกปางหนึ่งที่แปลกตากว่าพุทธรูปทั่วไป คือ มีพุทธลักษณะเป็นหีบทอง บรรจุพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า ทำด้วยศิลา ขนาดกว้าง ๔๖ เซนติเมตร ยาว ๑๖๐ เซนติเมตร สูง ๔๕ เซนติเมตร มีลักษณะเป็นหีบบรรจุพระศพสีทองเหลืองอร่าม ตั้งอยู่บนฐานที่ลงรักปิดทอง และประดับประดาลวดลายกระจกอย่างสวยงาม โดยที่ปลายด้านหนึ่งมีพระบาท ๒ ข้างยื่นออกมา

 ส่วนที่ด้านหน้าและด้านท้ายหีบศพ มีพระมหากัสสปเถระ นั่งนมัสการพระบรมศพอยู่ และพระพุทธรูปขนาดใหญ่ประทับอยู่ด้านหลัง นับเป็นพระพุทธรูปปางที่น่าอัศจรรย์ไม่น้อย

 ที่ปลายหีบพระบรมศพ มีพระบาททั้งคู่ยื่นออกมา โดยมีรูปปูนปั้นลงรักปิดทองของพระมหากัสสปเถระ และพระอรหันตสาวก รวม ๕ องค์ นั่งนมัสการพระบรมศพ ทางด้านหน้า ด้านหลังและด้านท้าย รอบๆ จิตกาธาน

 สำหรับคติความเชื่อของพุทธศาสนิกชน ที่เดินทางมากราบไหว้ขอพรจากพระเจ้าเข้านิพพาน และหีบพระบรมศพนั้น ต่างเชื่อว่า เมื่อได้มากราบพระบาทของพระพุทธเจ้าแล้วอธิษฐานขอสิ่งที่ต้องการแล้วจะสัมฤทธิผลทุกประการ

 จึงทำให้มีพุทธศาสนิกชน และนักท่องเที่ยวแห่แหนเดินทางมากราบไหว้ขอพรจากพระเจ้าเข้านิพพาน และหีบพระบรมศพ อย่างไม่ขาดสายตลอดทั้งปี

"ไตรเทพ ไกรงู"