ไลฟ์สไตล์

"หลวงพ่อสมบูรณ์"พระผู้พลิกฟื้นศรัทธา...วัดพืชอุดม

"หลวงพ่อสมบูรณ์"พระผู้พลิกฟื้นศรัทธา...วัดพืชอุดม

12 พ.ย. 2552

“ให้เป็นสถานที่ชุมนุมสำหรับชาวพุทธทั้งหลาย ที่มีศรัทธามาศึกษาเรียนรู้ธรรมะจากภายนอก และภายใน ธรรมะภายนอกที่สามารถเห็นด้วยตาจากการชมนรก-สวรรค์ อันเป็นผลจากการกระทำกรรมดีและกรรมชั่ว ได้ส่งผลให้เกิดในภพภูมิต่างๆ ใน ๓๑ ภพภูมิ นั้นเป็นเบื้องต้น สามารถไปดูทั้

  นี่คือปณิธานในการพัฒนาวัดของ พระอธิการสมบูรณ์ สิริปุญโญ หรือหลวงพ่อสมบูรณ์ เจ้าอาวาสวัดพืชอุดม เลขที่ ๒๕ คลองสิบสอง สายหกวา หมู่ ๙ ต.พืชอุดม อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี

  นรก-สวรรค์ทั้ง ๓๑ ภพภูมิ ของวัดพืชอุดมถือว่าเป็นต้นแบบของการสร้างนรก-สวรรค์ของวัดอื่นๆ ทั้งนี้พระครูอุดมภาวนาภิรัต อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ ๗ เป็นผู้ริเริ่มสร้างสรรค์ออกแบบนรก-สวรรค์ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งเป็นวัดเดียวของไทยที่ได้หยิบยกเน้นเอาเรื่องราวของพระปฐมสมโพธิ ตอนทรงทำ ยมกปาฏิหาริย์ ''เปิดโลก'' ตลอดทั่วทั้งหมื่นจักรวาลขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดา ซึ่งได้นำเอามาเทศน์สั่งสอนกันมากที่สุด และเป็นตอนที่มีความสำคัญดีเยี่ยมที่สุด ที่ได้ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎก

  เนื่องจากวัดขาดการสานต่อนโยบายของพระครูอุดมภาวนาภิรัต ทำให้นรก-สวรรค์ ๓๑ ภูมิ เสื่อมโทรมไประยะหนึ่ง ศรัทธาประชาชนชนวัดพืชอุดมได้นิมนต์หลวงพ่อสมบูรณ์ เป็นพระลูกวัดอยู่ที่วัดอุดมมงคล หมู่ ๔ ต.ปากแพรก อ.เมือง จ.กาญจนบุรี เพราะพระครูกาญจนมงคล เจ้าอาวาสวัดอุดมมงคล เป็นลูกศิษย์ของพระครูอุดมภาวนาภิรัต ให้มาเป็นเจ้าอาวาส

  ทั้งนี้ หลวงพ่อสมบูรณ์ได้พัฒนาวัดเรื่อยมาจนปัจจุบัน ได้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของ จ.ปทุมธานี เป็นที่รู้จักกันดีในเชิงธรรมทัศนศึกษาที่ได้รับความนิยมสูงสุด จากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ
 
 ตั้งแต่หลวงพ่อสมบูรณ์มารับตำแหน่งเจ้าอาวาส เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๖ นอกจากปรับปรุงนรก-สวรรค์ ทั้ง ๓๑ ภพภูมิให้ใคล้เคียงเมื่อครั้งพระครูอุดมภาวนาภิรัตยังมีชีวิตอยู่แล้ว หลวงพ่อสมบูรณ์ยังปรับปรุงและก่อสร้างศาสนสถานภายในวัด ให้เหมาะสำหรับผู้มาปฏิติธรรม

  เช่น ปรับปรุงภูมิทัศน์ทั่วทั้งบริเวณวัด เพิ่มสวนหย่อม ปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มความร่มรื่นแก่ผู้มาเยี่ยมชมวัดและผู้มาปฏิบัติธรรม สร้างศาลาปฏิบัติธรรม รวมทั้งที่พักของผู้มาปฏิบัติธรรมโดยแยกเป็นสัดส่วนระหว่างชายหญิง

  เปิดการเรียนการสอนพระอภิธรรมขึ้นมาอีกครั้ง ตามหลักสูตรของอภิธรรมโชติกะวิทยาลัย หลักสูตรการสอน ๗ ปีครึ่ง จึงจะสำเร็จอภิธรรมบัณฑิต ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นต้น
 
 หลวงพ่อสมบูรณ์บอกว่า คงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้วัดพืชอุดมเป็นที่รู้จักของพุทธศาสนิกชนเท่ากับเมื่อครั้งที่พระครูอุดมภาวนาภิรัตยังมีชีวิตอยู่ แต่เมื่อได้รับความไว้วางใจให้กลับมาพลิกฟื้นวัดก็จะต้องทำให้เต็มกำลังความสามารถ ทั้งนี้ ต้องอาศัยพลังศรัทธาของพุทธศาสนิกชน เพราะการสร้างวัดพระสร้างได้แต่ต้องอาศัยปัจจัยหนุนจากพุทธศาสนิกชน
 
 อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การพัฒนาวัดเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ หลวงพ่อสมบูรณ์จึงจัดสร้างวัตถุมงคลขึ้นมาจำนวนหนึ่ง เช่น พระสมเด็จหนังเสือ  ตะกรุดหนังเสือ ราหูกะลาตาเดียว รวมทั้งผ้ายันต์ราหู สร้อยแกะจากกะลาตาเดียว เพื่อหาปัจจัยสมทบทุนสร้างอุโบสถ ศาลาหอไตร และศาลาปฏิบัติธรรม

   พุทธศาสนิกชนร่วมบุญได้ที่วัดพืชอุดม เลขที่ ๒๕ คลองสิบสอง สายหกวา หมู่ ๙ ต.พืชอุดม อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี หรือสอบถามรายละเอียดและเส้นทางไปวัดได้ที่โทร.๐-๒๕๖๓-๐๒๔๘, ๐-๒๕๖๓-๑๑๓๐

วัดสเตย์

  หลวงพ่อสมบูรณ์บอกว่า ทุกวันนี้การดึงคนเข้าวัด ดึงคนเข้าใกล้พระพุทธศาสนา ใกล้ธรรมะ พระและวัดต้องแข่งขันกับทางโลก ที่มีสิ่งรุมเร้าให้คนหลงมัวเมาในกิเลสมากมาย
 
 บางวัดเลือกใช้พิธีกรรม บางวัดเลือกใช้พระพุทธรูปและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัด ในขณะที่หลายวัดใช้เรื่องการปฏิบัติธรรม และการฟังธรรมเป็นการดึงคนเข้าวัด
 
 ที่วัดพืชอุดม นอกจากนรก-สวรรค์ ๓๑ ภพภูมิแล้ว วัดได้จัดฝึกปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่อง และโครงการหนึ่งที่ไม่เหมือนวัดใด คือ โครงการวัดสเตย์ (WAT STAY) ซึ่งได้รับการตัดสินให้เป็นโอท็อปด้านท่องเที่ยวระดับประเทศประจำปี ๒๕๔๙

  โครงการวัดสเตย์ เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากแนวความคิดที่ว่า วัดนอกจากมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ มีศาสนสถานที่สวยงาม มีพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้ว วัดต้องให้บริการชุมชน ต้องให้มีความพร้อมสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมด้วย ปีหนึ่งๆ คนเข้าวัดไม่กี่ครั้ง ส่วนใหญ่มาทำบุญเท่านั้น
 
  ส่วนเรื่องมาวัดเพื่อปฏิบัติธรรมนั้นน้อยมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่พร้อมของวัด ทั้งนี้ได้ปรับปรุงบริเวณวัดใหม่ทั้งหมด โดยมีการสร้างที่พักของผู้ปฏิบัติธรรมชาย ที่พักของผู้ปฏิบัติธรรมหญิง รวมทั้งห้องรับประทานอาหาร  แยกเป็นส่วนออกมาจากเขตของสงฆ์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มาปฏิบัติธรรม
 
  สำหรับความแตกต่างของวัดสเตย์ กับสถานที่ปฏิบัติธรรมนั้น หลวงพ่อสมบุญบอกว่า การตั้งชื่อเพื่อให้รู้สึกสบายๆ มีลักษณะเดียวกับวัดที่เปิดฝึกอบรมปฏิบัติธรรม
   การตั้งชื่อว่า วัดสเตย์นั้น เพื่อให้ผู้มาปฏิบัติธรรมรู้สึกเหมือนว่ามาพักผ่อนแบบสบายๆ ไม่ต้องเคร่งเครียด เหมือนกับมาปฏิบัติธรรมโดยตรง แต่มีการปฏิบัติธรรม และเรียนรู้วิธีคนปฏิบัติธรรมเป็นของแถม
 
  เหมือนกับคนไปพักโฮมสเตย์ในวันหยุด เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตชาวบ้าน จะมาวันเดียว ๓ วัน หรือ ๗ วัน ก็ได้ วัดไม่ได้เก็บค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเป็นหน้าที่ของวัด และพระที่ต้องสอนธรรมให้แก่ญาติโยมอยู่แล้ว

0 เรื่อง / ภาพ ไตรเทพ ไกรงู 0