ไลฟ์สไตล์

"ปวดขา" มีที่มาจากโรคหัวใจจริงหรือ

"ปวดขา" มีที่มาจากโรคหัวใจจริงหรือ

11 พ.ย. 2552

คุณเคยปวดขาไหม แล้วเคยคิดไหมว่ามันอาจจะเกี่ยวเนื่องกับหัวใจได้

อาการปวดขาเป็นๆ หายๆ จะเป็นมากขึ้นเมื่อเดินโดยที่พอเดินได้ช่วงหนึ่งก็จะปวด (มักจะเป็นระยะเวลาหรือระยะทางเท่าเดิม) เมื่อหยุดพักก็จะหาย พอเดินอีกก็ปวดอีก ถ้าเกิดมีอาการแบบนี้ละก็ อาจจะต้องสงสัยไว้ก่อนว่าหลอดเลือดส่วนปลายที่เลี้ยงขาของคุณอาจจะมีปัญหาเสียแล้ว คนส่วนใหญ่มักไม่สนใจ แต่ถ้าบอกว่าหลอดเลือดหัวใจมีปัญหา รายไหนรายนั้นรีบมาหาหมอแทบไม่ทัน

สาเหตุของอาการปวดขา
 อาการปวดขาเป็นๆ หายๆ ดังกล่าวนี้ ทางการแพทย์เรียกว่า intermittent claudication จริงๆ แล้วสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าวมีหลายประการด้วยกัน เช่น จากหลอดเลือดแดงที่ขาตีบหรืออุดตัน เส้นประสาทที่ไปเลี้ยงขาผิดปกติ เช่นถูกกดทับ เป็นต้น ซึ่งแพทย์จะทราบได้ว่าเป็นโรคไหน จากประวัติ ตรวจร่างกาย และการตรวจพิเศษเพิ่มเติม แต่เพื่อให้เป็นเรื่องของหัวใจจะขอพูดเรื่องของหลอดเลือดละครับ เพราะอย่างผมเคยบอกว่าอาการดังกล่าวมักเกี่ยวเนื่องกับหัวใจได้
 หลอดเลือดแดงที่มาเลี้ยงที่ขานั้น จริงๆ แล้วก็เป็นส่วนต่อจากหลอดเลือดที่มาจากหัวใจ ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจถ้าเราพบว่าหลอดเลือดแดงที่ขา (ซึ่งเป็นส่วนปลาย) ตีบ หลอดเลือดแดงที่หัวใจ (ซึ่งเป็นส่วนต้น) อาจจะเป็นส่วนที่มีปัญหาด้วย
 ทั้งนี้ บางคนที่มีหลอดเลือดแดงที่ขาตีบแต่ไม่มีอาการ (ทราบได้โดยการตรวจพิเศษซึ่งเดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟังครับ) ถ้าติดตามคนกลุ่มนี้ไปก็ยังพบว่า ร้อยละ 36 ตายด้วยโรคหัวใจ และถ้ารวมทั้งการตายจากสาเหตุของโรคหัวใจและหลอดเลือดอื่นๆ เช่นหลอดเลือดสมอง ก็ยังพบว่ากลุ่มที่ไม่มีอาการนี้ สาเหตุการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดก็ยังมากถึงร้อยละ 52 ดังนั้น การตรวจประเมินผลเบื้องต้นของหลอดเลือดแดงที่ขา อาจจะมีความจำเป็นในกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะมีโรคหลอดเลือดอยู่แล้ว เช่น คนที่เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูงไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ หรืออ้วน เป็นต้น
 สำหรับการตรวจทางห้องปฏิบัติการจะทำให้บอกผลได้ชัดขึ้นว่าหลอดเลือดแดงส่วนปลายของเรายังปกติดี อยู่ หรือไม่ วิธีง่ายๆ ก็คือ การวัดความดันที่ขา (ankle systolic blood pressure) เทียบกับความดันที่แขน (brachial systolic blood pressure) แล้วนำมาเปรียบเทียบกัน ค่าอัตราส่วนนี้เรียกว่า Ankle/Brachial index หรือเรียกย่อๆ ว่า ABI โดยถ้าค่านี้มากกว่าหรือ เท่ากับ 0.9 เรียกว่าหลอดเลือดแดงยังอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ เพราะถ้าหลอดเลือดที่ขาตีบ ความดันก็จะลดลง คล้ายๆ กับท่อน้ำที่ตัน ความดันของน้ำในท่อน้ำลดลง แต่ถ้าค่าที่ต่ำกว่านี้แสดงว่าผลความดันหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงที่ขาลดลงกว่าปกติ ซึ่งบ่งถึงความผิดปกติของหลอดเลือดแดงได้
 อาการของ intermittent claudication นั้น การรักษาที่ดีที่สุดคือการออกกำลังกายด้วยการเดิน โดยจะต้องเดินด้วยความเร็วพอสมควร ถ้าเกิดอาการปวดมากแล้วจึงหยุดพัก พอหายปวดก็เดินต่ออีก ทำสลับกันไปคือเดินแล้วพัก แล้วค่อยๆ เพิ่มระยะเวลาของการเดินขึ้น จนได้ระยะเวลารวมในการเดิน 30 นาที เดินอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน 3-6 เดือน  นอกจากนี้คือการรับประทานยาซึ่งมีส่วนช่วย การใช้บอลลูนขยายหลอดเลือดหรือผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือด ทำได้แต่ต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป
 สำหรับหลอดเลือดแล้ว โอกาสที่หลอดเลือดส่วนต้น (หัวใจ) มีโรคร้ายแล้วปลาย (หลอดเลือดที่ขา) จะดีก็คงยาก แต่ก็ใช่ว่าจะเสมอไปนะครับ เพราะต้นจะร้ายปลายก็อาจจะดีได้ ถ้ารู้จักกลับตัวกลับใจอยู่ห่างๆ จากปัจจัยเสี่ยงทั้งหลายของโรคหลอดเลือดไว้ พร้อมกับออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ
โรงพยาบาลพญาไท โทร. 1772