Lifestyle

ครูคือผู้สร้าง"คน"เอไอแทนที่ไม่ได้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...   ปาริชาติ บุญเอก [email protected] -

 


          การศึกษาคือ การสร้างคน และการสร้างสังคมทำอย่างไรให้คนเป็นคนดีและมีคุณภาพ สร้างสังคม คือ สังคมที่อยู่มีความปกติสุข อยู่ร่วมกันได้ และเอื้ออาทรกันโลกอนาคตมีเอไอเข้ามา แต่สิ่งจำเป็นที่ต้องมีอยู่ ก็คือ “คุณครู” ซึ่งเป็นคนสำคัญในการสร้างคาแร็กเตอร์ ปลูกฝังความคิดดีๆ ให้แก่นักเรียนและบุตรหลาน รวมไปถึงทักษะอื่นๆ ที่สำคัญ เช่น ความคิดสร้างสรรค์ หรือการทำงานร่วมกับผู้อื่น

 

 

ครูคือผู้สร้าง"คน"เอไอแทนที่ไม่ได้

 

          เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในทุกส่วนของการใช้ชีวิต ไม่เว้นแม้ในด้านการศึกษา หลายคนอาจมองว่าเอไอจะเข้ามาแย่งงานมนุษย์ แต่ในฐานะครู ซึ่งเป็นกำลังหลักในการพัฒนาการศึกษา ภายใต้โจทย์ใหญ่ของการสร้างคนและสร้างสังคม จึงเป็นไปไม่ได้เลยว่าหุ่นยนต์จะมาทำหน้าที่ตรงนี้แทนได้ แต่ขณะเดียวกัน หน้าที่สำคัญของครูคือ การสามารถนำเทคโนโลยีต่างๆ ที่มี มาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนให้มีความหลากหลายและเชื่อมโยงสู่โลกอนาคต


          ธานินทร์ ทิมทอง ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จำกัด กิจกรรมเพื่อสังคมด้านการศึกษา กล่าวว่า “คุณครู” เป็นคนสำคัญในการสร้างคาแร็กเตอร์ ปลูกฝังความคิดดีๆ ให้แก่นักเรียนและบุตรหลาน รวมไปถึงทักษะอื่นๆ ที่สำคัญ เช่น ความคิดสร้างสรรค์ หรือการทำงานร่วมกับผู้อื่น

 

 

ครูคือผู้สร้าง"คน"เอไอแทนที่ไม่ได้

 


          ดังนั้นการสอนของครู ต้องมี 3 ส่วนสำคัญ ทั้งในเรื่องของความหลากหลาย การเรียนการสอนต้องมีความหลากหลาย มีกิจกรรม กระบวนการ เครื่องไม้เครื่องมือใหม่ๆ เข้ามาผสมในการเรียนรู้มากขึ้น ต้องมีแพทเทิร์นที่หลากหลายมากขึ้น สองคือ ความเชื่อมโยงการเรียนการสอนในยุคถัดไป ต้องเชื่อมโยงกับอนาคตเขา และสาม การสร้างความเป็นมนุษย์ต้องปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ทำอย่างไรให้เขาเป็นคนกตัญญูรู้คุณ ซื่อสัตย์ สุจริตเทคโนโลยีเครื่องไม้เครื่องมืออย่างเหมาะสมจะช่วยได้ในเรื่องของการปรับกระบวนการเรียนการสอน และการปรับการใช้เครื่องมือที่เหมาะสมในห้องเรียน ให้แก่เด็กๆ นี่เป็นตัวสำคัญ

 

 

 

ครูคือผู้สร้าง"คน"เอไอแทนที่ไม่ได้



          เทคโนโลยี แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ
          ธานินทร์ กล่าวว่า เทคโนโลยีแก้ปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ 100% ถ้าอินฟราสตรักเจอร์พร้อม และมีการเปิดใจ เปิดรับจากคุณครูอย่างเหมาะสม ปัจจุบัน คุณครูส่วนใหญ่จะกระจุกอยู่ที่ในเมือง ขณะที่ครูตามต่างจังหวัด ครูคนหนึ่งสอน 4-5 วิชาสอนทั้งไทย อังกฤษ สังคม พละ ถ้ามีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริมการเรียนการสอนของครู ให้มีคุณภาพมากขึ้น เด็กสนุกมากขึ้น เด็กมีส่วนร่วม การศึกษาก็จะกระจายไปสู่พื้นที่นั้นได้ ความเหลื่อมล้ำก็ลดลงได้


          “จริงๆ แล้ว โรงเรียนของเด็กกลุ่มนั้น ถ้าเขาได้รับโอกาส เขาจะตั้งใจไม่แพ้เด็กในเมืองเลย เราไปทำโรงเรียนหนึ่งที่บนดอยแม่แจ่ม บริจาคคอมพิวเตอร์ เอาโซลูชั่นไปลง เด็กที่นี่ตั้งใจมาก ทำคะแนนสอบได้ดีกว่าด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่เขาพูดไทยไม่ชัด มันสะท้อนว่า ถ้าทรัพยากรกระจายตัวอย่างเหมาะสม ความเหลื่อมล้ำจะลดลง เพราะความเหลื่อมล้ำเป็นโจทย์ใหญ่ที่สุดในประเทศเรา ซึ่งเรามองย้อนกลับไปที่โจทย์ของประเทศในเรื่องสังคม ก็คือ ความเหลื่อมล้ำ การที่จะแก้ความเหลื่อมล้ำได้ คือ การสร้างคน ผ่านการศึกษาที่ดี ทำอย่างไรให้คนรากหญ้าได้รับการศึกษาที่ดี โดยมีเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่ดีนั่นเอง" ธานินทร์ กล่าว

 

ครูคือผู้สร้าง"คน"เอไอแทนที่ไม่ได้

 

 


          ทั้งนี้ เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น ทำโมเดลการเรียนรู้แบบผสมผสานในห้องเรียน โดยเริ่มจากวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ก่อน เป็นโมเดลโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์ช่วยโรงเรียนที่ขาดโอกาสกว่า 150 โรงเรียนทั่วประเทศ มีทั้งโรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนเอกชนทุกครั้งที่จัดอบรมสัมมนาครู มีครูให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมมาก


          ปี 2560 ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับคูปองครู ที่กระทรวงศึกษาธิการจัดทำขึ้นมาเพื่ออบรมครูให้มีความรู้เพิ่มขึ้น โดยเริ่มที่กลุ่มสาระวิชาวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ปี 2561 เพิ่มเติมหลักสูตรที่ตอบโจทย์และเป็นทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ทั้งเรื่อง สะเต็ม เอดูเคชั่น, ครูสอนคิด, วิทยาศาสตร์, คณิตศาสตร์, เทคนิคการเล่าเรื่อง, วิธีการสื่อสารต่างๆ หรือกิจกรรมการเล่น เล่นอย่างไรให้ได้เรียนรู้ สอนเรื่องเกมวิชาชนะใจ ทำอย่างไรให้ชนะใจเด็กๆ ได้


          ขณะนี้ เข้าสู่ปีที่ 3 เน้นสื่อการเรียนการสอนที่ครูสามารถนำไปใช้ได้จริงเช่น สะเต็ม จะให้สะเต็มบ็อกซ์ ครูสามารถนำไปจัดกิจกรรมในห้องเรียนได้เลย หรือมีโปรแกรม Coding ใส่ทรัมป์ไดรฟ์ให้

 

ครูคือผู้สร้าง"คน"เอไอแทนที่ไม่ได้

 


          การเรียนรู้-ปรับตัว สำคัญ
          ธานินทร์ อธิบายว่า จากประสบการณ์ในการทำงาน จาก 150 โรงเรียน เด็กประมาณ 5 หมื่นกว่าคน ครูหลักพันคน พบว่า ความแอ็กทีฟหรือไม่แอ็กทีฟ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุ ถึงแม้ว่าในอนาคตภายใน 10 ปี ครูจะเกษียณออกไปประมาณ 2 แสนคน เป็นช่วงแห่งการเปลี่ยนเจเนอเรชั่นครูครั้งใหญ่


          "จากเคสที่เราเคยทำ เอาเทคโนโลยีไปช่วยครู ช่วยนักเรียน มีครูท่านหนึ่งที่เชียงใหม่ ชื่อ ครูอัมรา รักชาติ เคยเป็นครูฝ่ายปกครองมา และต้องมาสอนวิทยาศาสตร์โดยใช้เครื่องมือใหม่ๆ อายุ 58 ปี อีก 2 ปีเกษียณแล้ว ครูบอกว่า “ช่วยสอนครูหน่อย ครูว่ามันดี” จนครูท่านนี้กลายเป็นไอดอลของครูท่านอื่นๆ เพราะสามารถบูรณาการการเรียนการสอน ตัวเทคโนโลยี และวิชาวิทยาศาสตร์ ได้อย่างลงตัวที่สุด จนท่านบอกว่า “ทำไมครูเกิดเร็วไป น่าจะมีเวลาใช้เทคโนโลยีพวกนี้นานๆ”

 

 

ครูคือผู้สร้าง"คน"เอไอแทนที่ไม่ได้

 


          หรือในขณะเดียวกัน ครูรุ่นใหม่ๆ ที่พบ อย่างในก่อการครู เห็นครูที่จบมา 2-3 ปี กล้าเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ กล้าเปลี่ยนกิจกรรมการเรียนการสอนเต็มไปหมดเลย สิ่งที่มีผลมากกว่าเจเนอเรชั่นคือ การเรียนรู้ และการปรับตัว และการเปิดใจจะทำให้การเรียนรู้ของเด็กๆ ในอนาคตดีขึ้นได้ แต่ก็ต้องฝากความหวังไว้ที่ครู ที่มีใจ มีทัศนคติในการเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ เหล่านี้ด้วยการพูดคุยแลกเปลี่ยนจะเป็นช่องทางหนึ่งในการปรับเปลี่ยนวิธีคิดให้เร็วขึ้นก็ได้


          “อย่างที่บอกว่า ภายใน 10 ปี มีครูเกษียณเฉลี่ยปีละ 2 หมื่นคน 10 ปีก็ 2 แสนคน ในขณะที่ครูทั้งระบบ 4 แสนคน แสดงว่าครูในปัจจุบัน ส่วนใหญ่อายุเกิน 50 ปี พอผ่านไปเกือบ 10 ปีข้างหน้า จะเป็นการกระจายตัวของเจเนอเรชั่นที่หลากหลาย นี่คือโครงสร้างที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะฉะนั้น สิ่งที่ท้าทายและถือเป็นโอกาสคือ ถ้าเร่งนำเสนอแนวทางที่ดี ที่ถูกต้อง เครื่องไม้เครื่องมือที่หลากหลายเหล่านี้ให้ครูเริ่มใช้เริ่มปรับตัว ในอนาคตการศึกษาจะเปลี่ยนหมด ที่หลายๆ คนไม่คิดว่าจะเปลี่ยนได้ แต่มันเกิดขึ้นจริง เพราะการเปลี่ยนเจอเนอเรชั่นเหล่านี้"

 

 

ครูคือผู้สร้าง"คน"เอไอแทนที่ไม่ได้


          ความพร้อมของเครื่องไม้เครื่องมือ 
          แม้ว่าจะทำเรื่อง เอดูเคชั่น เทคโนโลยี แต่สิ่งที่น่าจะดีกว่าคือ มีหลายคนที่เก่งๆ มานำเสนอโซลูชั่นที่หลากหลาย และคุณครูเลือกโซลูชั่น เทคโนโลยีที่เหมาะสมไปใช้ในการเรียนรู้กับเด็ก กับพื้นที่ และช่วงอายุของเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญคือโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) โลกต้องไป 4.0 คอมพิวเตอร์, IoT หรือ AI แต่โรงเรียนประจำอำเภอบางที่ คอมพิวเตอร์ยังไม่ครบชั้นเลย เด็ก 5 คน รุมคีย์บอร์ดตัวหนึ่ง เรื่องของอินฟราสตรักเจอร์จึงสำคัญ เครื่องไม้เครื่องมือต้องพร้อม สองคือ ซอฟต์แวร์หรือโซลูชั่นถึงตามมา 

 

 

ครูคือผู้สร้าง"คน"เอไอแทนที่ไม่ได้

 


          ที่สำคัญมากกว่านี้พัฒนาการในวัยเด็กสำคัญในระยะยาวมาก ทั้งการเรียนรู้และอื่นๆ ถ้ามีเครื่องไม้เครื่องมือปฐมวัยมากขึ้น ในการเสริมสร้างมันน่าจะช่วยเติมเต็มให้เป็นฐานที่ดีสำหรับการสร้างคนของประเทศ โจทย์สำคัญถ้าต้องการให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาจริงๆ ต้องมองว่ามันเป็นโจทย์ร่วมของทุกคนในสังคม โดยมีรัฐบาลเป็นคนอำนวยความสะดวก และหาองค์กร หน่วยงาน หรือมูลนิธิเข้ามาสนับสนุน ทำให้แต่ละเรื่องมันเกิด และรวมพลังกัน ถ้าทำแบบนี้ จะเป็นโจทย์ที่ถูกต้อง และเป็นแนวทางที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่แท้จริง 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ