ไลฟ์สไตล์

อลังการ "ดุริยนาฏนวมินทร์"

อลังการ "ดุริยนาฏนวมินทร์"

31 ต.ค. 2561

น้อมรำลึกในพระปรีชาสามารถด้านวรรณศิลป์ นาฏศิลป์ และดุริยศิลป์ ในหลวง ร.9

        เพื่อน้อมรำลึกในพระปรีชาสามารถ และพระอัจฉริยภาพด้านวรรณศิลป์ นาฏศิลป์ และดุริยศิลป์ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพระราชนิพนธ์บทเพลงอันไพเราะวิจิตร งดงาม และลึกซึ้งแก่ปวงชนชาวไทย มูลนิธิวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพฯ โดย ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานกรรมการ ร่วมกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม โดยการสนับสนุนของ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด จัดการแสดงดนตรีน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร “ดุริยนาฏนวมินทร์" รอบกาล่า โดยได้รับเกียรติจากบุคคลสำคัญในหลากหลายแวดวง อาทิ ม.ล.วิฏราธร จิรประวัติ, ดร.จิรายุ-ท่านผู้หญิงอรนุช อิศรางกูร ณ อยุธยา, ท่านผู้หญิงมณฑินี มงคลนาวิน, ท่านผู้หญิงอรศรี วังวิวัฒน์, อานันท์ ปันยารชุน, วุฒา ภิรมย์ภักดี, รศ.นพ.กฤษณ์-คุณหญิงฟิโนล่า จาฏามระ, ณฐินี ศรียุกต์ศิริ, นันดา-ไกรทิพย์ ไกรฤกษ์ ฯลฯ มาร่วมรับชมงานแสดงดนตรีครั้งสำคัญนี้ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันก่อน

อลังการ \"ดุริยนาฏนวมินทร์\"

ดร.จิรายุ-ท่านผู้หญิงอรนุช อิศรางกูร ณ อยูธยา

อลังการ \"ดุริยนาฏนวมินทร์\"

 ดร.ฮาราลด์ ลิงค์

         ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าวว่า การแสดงดนตรี “ดุริยนาฏนวมินทร์” เป็นการรวมตัวของหลายฝ่าย ทั้งมูลนิธิวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพฯ คณะบัลเล่ต์ วงโยธวาทิตโรงเรียนวัดสุทธิวราราม คณะนักร้องประสานเสียงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักร้องรับเชิญ รวมทั้งหมดกว่า 300 ชีวิต โดยได้เชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์อันทรงคุณค่าในหลากหลายท่วงทำนอง ทั้ง บทเพลงพระราชนิพนธ์เพลงมาร์ช ที่สะท้อนความมั่นคงของชาติ บรรเลงโดยวงโยธวาทิตโรงเรียนวัดสุทธิวราราม นอกจากนี้ยังมีบทเพลงพระราชนิพนธ์ชุดแรกที่พระราชทานออกเพื่อการลีลาศ ที่สร้างความอภิรมย์แก่ประชาชน บรรเลงโดยวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ รวมทั้ง บทเพลงพระราชนิพนธ์ 3 บท ที่ทรงพระราชนิพนธ์คำร้องขึ้นเป็นภาษาอังกฤษ ขับร้องโดยนักร้องรับเชิญ นอกจากนั้นยังมีเพลง Lullaby (ค่ำแล้ว) ที่ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อปี 2549 เพื่อกล่อมพระราชโอรสและพระราชธิดาเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ และปิดรายการเพลงขององก์แรกด้วยเพลงแผ่นดินของเรา ซึ่งบทเพลงทุกเพลงล้วนสร้างความประทับใจและตราตรึงอยู่ในความทรงจำของผู้ที่ได้รับชม
         “สำหรับบทเพลงพระราชนิพนธ์ที่จัดแสดงในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถทางด้านดุริยศิลป์ วรรณศิลป์ และนาฏศิลป์ โดยแบ่งการแสดงเป็น 2 องก์ ได้แก่ องก์ที่ 1 เพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และ องก์ที่ 2 มโนราห์ บัลเล่ต์ (Manohra Ballet) บัลเล่ต์สัญชาติไทย ที่เมื่อ พ.ศ. 2504 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระราชนิพนธ์เพลงชุด “กินรี สวีท” สำหรับการแสดงบัลเล่ต์เรื่อง “มโนราห์” เปิดการแสดงครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2505” มูลนิธิวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพฯ กล่าว

อลังการ \"ดุริยนาฏนวมินทร์\"

ณฐินี ศรียุกต์ศิริ-นันดา ไกรฤกษ์-อานันท์ ปันยารชุน-วุฒา ภิรมย์ภักดี-ไกรทิพย์ ไกรฤกษ์

         วุฒา ภิรมย์ภักดี ประธานกรรมการ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพระปรีชาสามารถและพระเกียรติคุณทางด้านดนตรีเป็นที่ชื่นชมในระดับสากล ทรงเป็นคีตกวีและนักดนตรีที่ชาวโลกยกย่อง บทเพลงพระราชนิพนธ์ทุกเพลงที่ได้พระราชทานไว้ล้วนเป็นบทเพลงอันทรงคุณค่าที่ควรอนุรักษ์ และเผยแพร่อย่างกว้างขวาง โดยบุญรอดบริวเวอรี่ ได้จัดทำโครงการเผยแพร่บทเพลงพระราชนิพนธ์ต่อเนื่องมาตลอดเวลาหลายปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ และทำหน้าที่สืบสานบทเพลงพระราชนิพนธ์ไว้     

อลังการ \"ดุริยนาฏนวมินทร์\"

ฉัตรชัย-ณัฐวรรณ ทีปสุวรรณ

         “งานนี้ยังได้จัดการแสดงบัลเล่ต์ชุด ‘มโนห์รา’ ขึ้น ซึ่งเป็นการแสดงบัลเล่ต์ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการแสดงครั้งแรก ณ เวทีสวมอัมพร เมื่อ พ.ศ.2505 โดยเชิญบทเพลงชุด ‘กินรี สวีท’ มาประกอบกับการแสดงบัลเล่ต์ที่ผสมผสานการเต้นบัลเล่ต์คลาสสิกกับนาฏยศิลป์ไทย ในครั้งนั้นพระองค์ทรงอำนวยการสร้าง กำกับ และทรงฉายภาพด้วยพระองค์เอง และการแสดงบัลเล่ต์ ‘มโนห์รา’ บรรเลงโดยวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพฯ ในครั้งนี้ จะทำให้เราได้ย้อนรำลึกถึงพระปรีชาสามารถทางด้านดนตรีของพระองค์และเพื่อเผยแพร่บทเพลงพระราชนิพนธ์ที่พระราชทานไว้ให้คงอยู่เป็นมรดกของแผ่นดินสืบไป”  วุฒา กล่าว

         ภายในงานคับคั่งไปด้วยบุคคลสำคัญจากหลากหลายแวดวง ที่พร้อมใจมาร่วมชมการแสดงฯ และร่วมแบ่งปันความรู้สึกที่ได้มีโอกาสชื่นชมการแสดงดังกล่าว ที่สะท้อนพระอัจฉริยภาพทั้ง 3 ด้านของศิลปกรรม ได้แก่ ดุริยศิลป์ วรรณศิลป์ และนาฏศิลป์ ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ในระดับสากล   

อลังการ \"ดุริยนาฏนวมินทร์\"

รศ.นพ.กฤษณ์-คุณหญิงฟิโนล่า จาฏามระ

         เริ่มจาก ม.ล.วิฏราธร จิรประวัติ กล่าวว่าตลอดระยะเวลาที่ได้ชมการแสดงครั้งนี้ ทุกบทเพลงพระราชนิพนธ์ที่ได้รับฟัง นอกจากทำให้คิดถึงพระองค์มากยิ่งขึ้นแล้ว ยัง    ชื่นชมในพระอัจฉริยภาพของพระองค์ที่ทรงมีพระปรีชาสามารถในการพระราชนิพนธ์บทเพลงได้หลากหลายแนว ทั้งเพลงมาร์ช ที่สะท้อนความความมั่นคงของชาติ จากนั้นต่อด้วยความรู้สึกนุ่มนวลผ่านบทเพลงพระราชนิพนธ์ที่พระราชทานออกเพื่อการลีลาศ รวมถึงพระอัจฉริยภาพด้านวรรณศิลป์ที่ทรงพระราชนิพนธ์คำร้องเป็นภาษาอังกฤษ อย่างบทเพลง Still on my mind หรือในดวงใจนิรันดร์ ที่ทรงพระราชนิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เองเป็นเพลงแรก ซึ่งในแต่ละบทเพลงได้ถ่ายทอดอารมณ์และความหมาย ที่สามารถสะท้อนสิ่งที่พระองค์ต้องการสื่อสารกับพสกนิกรผ่านบทเพลงพระราชนิพนธ์ และทำให้อยากกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์และเหตุการณ์ต่าง ๆ ของประเทศไทยในแต่ละช่วงที่พระองค์พระราชนิพนธ์แต่ละบทเพลงขึ้นมา รวมทั้งเป็นครั้งแรกที่ได้ชมมโนห์รา บัลเล่ต์ ซึ่งเป็นการแสดงที่หาชมได้ยาก และสะท้อนถึงพระปรีชาสามารถของพระองค์ในการนำความเป็นไทยมาผสมผสานกับสากลได้อย่างลงตัว 

อลังการ \"ดุริยนาฏนวมินทร์\"

พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา-สุพรรณรัศมิ์ ศิริหงษ์-วนิดา ดุละลัมพะ-บุษบา มัยลาภ-ทิพย์สุดา ศิริกุล

         ปาณเกศ ศาตะมาน เผยว่าความที่ตอนเด็กๆ เคยเรียนบัลเล่ต์กับท่านผู้หญิงวราพร ปราโมช  ซึ่งท่านเคยแสดงเป็นมโนห์ราคนที่สอง บวกกับเคยร่วมแสดงเป็น งู ในการแสดงมโนห์รา บัลเล่ต์ ซึ่งครั้งนั้นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จฯ มาชมการแสดงด้วย ถือเป็นความภาคภูมิใจครั้งหนึ่งในชีวิตอย่างหาที่สุดมิได้ ดังนั้นจึงตั้งตารอชมการแสดงมโนห์รา บัลเล่ต์ในครั้งนี้ และประทับใจในการแสดงที่ตื่นตาตื่นใจอย่างมาก สวยงามทั้งเสื้อผ้าและท่าเต้นที่ครูโจ้ (สุธีศักดิ์ ภักดีเทวา) ได้ออกแบบและปรับท่าทางต่าง ๆ ให้เข้ากับยุคสมัย ทันสมัยกว่าเดิม และยังมีท่าทางต่าง ๆ ที่ผสมผสานความเป็นไทยเข้าไป อย่าง ท่าจีบมือเหมือนการรำไทย  เป็นท่วงท่าในการเต้นบัลเล่ต์ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในการเต้นบัลเล่ต์ของประเทศตะวันตก ซึ่งองค์ประกอบโดยรวมลงตัวเมื่อเข้ากับเพลงพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 9 ทั้งยังเป็นเรื่องราวจากนิทานชาดกของไทย ที่นำมาจัดแสดงในรูปแบบของไทยผสมผสานตะวันตก ก็จะคงอยู่เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยต่อไป และเป็นครั้งแรกที่ได้ฟังเพลงพระราชนิพนธ์ที่แสดงโดยวงออเคสตร้าและวงโยธวาทิต ไพเราะมาก นอกจากนี้บทเพลงพระราชนิพนธ์ ยังถือเป็นมรดกล้ำค่าของแผ่นดินที่ลูกหลานคนไทยควรสืบสานให้คงอยู่ตลอดไป” 

อลังการ \"ดุริยนาฏนวมินทร์\"

พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์-โพธิพงษ์-ยุพา-นวลพรรณ ล่ำซำ

        วฤตดา ภิรมย์ภักดี เผยว่าในฐานะที่ตัวเองเป็นนักดนตรี และชอบฟังดนตรีคลาสสิก ยอมรับเลยว่า บทเพลงพระราชนิพนธ์แต่ละบทเพลงมีรายละเอียดที่ท้าทายนักดนตรี และทรงมีพระปรีชาสามารถในการพระราชนิพนธ์บทเพลงในหลากหลายแนวมาก ทั้งเพลงมาร์ช ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์เพลงปลุกใจทำให้คนไทยรู้สึกถึงความสามัคคีปรองดองกัน รวมไปถึงบทเพลงอื่นๆ ในแง่ของความไพเราะสวยงาม รวมทั้งมีความหมายที่ลึกซึ้ง สำหรับบทเพลงพระราชนิพนธ์ที่ชื่นชอบมากที่สุด คือ แว่ว หรือ Echo ที่มีท่วงทำนองไพเราะงดงาม และทรงพระราชนิพนธ์ทำนองและคำร้องภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เอง ที่สำคัญคือเป็นครั้งแรกที่ได้ชมมโนห์รา บัลเล่ต์ และชื่นชมในพระอัจริยภาพของพระองค์ท่านเป็นอย่างมาก ในการนำศิลปะที่เป็นสากลมาผสมผสานกับความเป็นไทยไว้อย่างลงตัว”