Lifestyle

เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์เสด็จเปิดโรงพยาบาลรักษาโรคมะเร็ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ เสด็จไปทรงเปิดโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ด้วยทรงตระหนักถึงมหันตภัยจากโรคมะเร็งต่อพสกนิกรชาวไทย รักษาและตรวจความเสี่ยงของบุคคลทั่วไปควบคู่กับการวิจัยและบำบัดอย่างครบวงจร

 เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 29 ตุลาคม 2552 ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จไปยังอาคารโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เขตหลักสี่ เพื่อทรงประกอบพิธีเปิดโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โดยมีคณะผู้บริหารโรงพยาบาลและคณะผู้บริหารสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เฝ้ารับเสด็จ

 เมื่อเสด็จถึงทรงพระดำเนินเข้าพลับพลาพิธี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย จากนั้นประทับพระเก้าอี้ ทรงศีล ต่อมา รศ.ดร.พญ.จิรายุ เอื้อวรากุล ถวายสูจิบัตร และ ศ.กิตติคุณ นพ.จรัส สุวรรณเวลา รองประธานบริหารโรงพยาบาล กราบทูลรายงาน จากนั้น ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จไปทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ จากนั้นเสด็จกลับพลับพลาพิธี ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา 

 ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงก่อตั้งโรงพยาบาลศูนย์วิจัยศึกษาและบำบัดโรคมะเร็ง สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เพื่อเป็นศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการในการช่วยเหลือประชาชนชาวไทย ที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคมะเร็ง ด้วยทรงตระหนักถึงมหันตภัยอันร้ายแรงของโรคมะเร็งที่มีผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความทุกข์ของผู้ป่วยมะเร็งและสมาชิกในครอบครัว ต่อมาได้พระราชทานนามว่า "โรงพยาบาลจุฬาภรณ์"

 โรงพยาบาลจุฬาภรณ์นับเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางโรคมะเร็งที่มีความก้าวหน้าและทันสมัยแห่งหนึ่งในประเทศ ในการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 100 เตียง ให้บริการในรูปแบบที่ครบวงจร ตั้งแต่การประเมินความเสี่ยงโรคมะเร็งในบุคคลทั่วไป ตลอดจนการตรวจคัดกรองและการตรวจวินิจฉัยโรคที่แน่นอน รวมทั้งการรักษาด้วยวิธีการต่างๆ ตามระยะของโรค ตั้งแต่การผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด และการฉายรังสี โดยจัดโปรแกรมการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งเฉพาะโรคในแต่ละอวัยวะ ตามแนวทางปฏิบัติในรูปแบบเชิงวิจัย ทำให้มีการพัฒนาแนวทางการรักษาด้วยวิธีใหม่ๆ เพื่อให้เกิดผลการรักษาที่ดีที่สุด และเพิ่มโอกาสทางหายขาดได้มากที่สุด

 ในขั้นต้นมีโปรแกรมการดูแลรักษามะเร็งใน 4 อวัยวะ ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งในการดูแลรักษาผู้ป่วยของโรงพยาบาล 906 ทุกราย จะต้องผ่านคณะกรรมการกำหนดแนวทางการรักษาโดยคณะแพทย์สาขาวิชาชีพ ประกอบด้วย พยาธิแพทย์ รังสีแพทย์ อายุรแพทย์ด้านเคมีบำบัด รังสีรักษาแพทย์ ศัลยแพทย์ และเภสัชกร เพื่อร่วมกันพิจารณาวิเคราะห์หาแนวทางการรักษาที่ดี และเหมาะที่สุดสำหรับผู้ป่วย

 โรงพยาบาลจุฬาภรณ์เริ่มเปิดให้บริการผู้ป่วยตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2551 จนถึงปัจจุบัน โดยมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 336 คน ประกอบด้วย อาจารย์แพทย์ที่ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 24 คน แพทย์ที่อยู่ระหว่างการศึกษา 22 คน พยาบาลวิชาชีพและผู้ช่วยพยาบาล 117 คน นักวิทยาศาสตร์สุขภาพ 41 คน เภสัชกรและผู้ช่วยเภสัชกร 16 คน และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล 116 คน

 ทั้งนี้มีกิจกรรมครอบคลุมทั้งการศึกษาวิจัยและบำบัดโรคมะเร็ง โดยมุ่งเป้าให้ประชาชนปลอดภัยจากโรคมะเร็ง การบริการจึงครอบคลุมตั้งแต่ที่ยังไม่เป็นโรค ผู้ที่มีอาการสงสัยว่าจะเป็นโรค และผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งแล้ว โดยผู้ป่วยกลุ่มแรกจะมีบริการที่เรียกว่า คลินิกประเมินความเสี่ยงเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ผู้ที่สงสัยว่าเป็นโรคมะเร็งต้องกรอกข้อมูลแบบสอบถามผ่านระบบคอมพิวเตอร์ คำตอบจะถูกประมวลออกมาว่าผู้นั้นจะมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งชนิดใดหรือไม่ หากพบว่ามีการเสี่ยงก็จะได้พบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องมือที่ทันสัมยต่อไป

 ศ.กิตติคุณ นพ.จรัส สุวรรณเวลา รองประธานบริหารโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และรองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า นับตั้งแต่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์เปิดให้บริการมีประชาชนมารับบริการประเมินความเสี่ยงโรคมะเร็งจำนวน 1,963 ราย และเนื่องในวันประสูติเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี มีพระดำริให้เปิดโครงการตรวจรักษาส่องกล้องมะเร็งลำไส้ใหญ่ และตรวจพบผู้ป่วยมะเร็ง 5 รายที่ทำการรักษาไปแล้ว และอีก 55 รายที่กำลังทำการรักษาอยู่

 "นอกจากการให้บริการตรวจรักษาโรคมะเร็งแล้ว โรงพยาบาลยังมีการศึกษาวิจัยในระดับโมเลกุล เพื่อนำไปสู่การวิจัยและการรักษาโรคที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งศึกษาความเหมาะสมของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในคนไทย และยังมีการตรวจโครโมโซมในผู้ป่วยมะเร็งระบบโลหิตให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศอีกด้วย พร้อมกันนี้ ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ยังทรงร้อยสร้อยไข่มุก โครงการถักร้อยสร้อยรัก พระราชทานมาจำหน่าย เพื่อหารายได้มาช่วยมูลนิธิจุฬาภรณ์เพื่อโรงพยาบาลจุฬาภรณ์อีกด้วย" ศ.กิคติคุณ นพ.จรัส กล่าว

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ