ไลฟ์สไตล์

เรียนรู้วัฒนธรรมผ่านยุคสมัย (English Today)

เรียนรู้วัฒนธรรมผ่านยุคสมัย (English Today)

11 ต.ค. 2561

 English Today   สถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พาไปเรียนรู้วัฒนธรรมแต่ละยุคสมัย

Cultural generations (2)

      Silent Generation  หมายถึง ผู้ที่เกิดในช่วงระหว่าง the Great Depression (ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 1929) และสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1929-1945) เชื่อกันว่าคำว่า Silent Generation มาจากการที่คนในยุคนี้เน้นที่อาชีพการงานมากกว่าการทำกิจกรรมเคลื่อนไหวต่าง ๆ ซึ่งอาจเป็นเพราะพวกเขาโตมาในยุค The Second Red Scare หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า McCarthyism ซึ่งเป็นลัทธิปลุกผีคอมมิวนิสต์และกำจัดศัตรูทางการเมืองที่มีความเห็นต่างที่ชูโดยวุฒิสมาชิกโจเซฟ แมกคาร์ธี จากพรรคริพับลีกัน ทำให้หลายคนเลือกที่จะสงบปากสงบคำเพราะเกรงภัยมาถึงตัว

เรียนรู้วัฒนธรรมผ่านยุคสมัย (English Today)

มาร์ติน ลูเธอร์ คิง

       แม้คนในยุคนี้จะสนใจในเรื่องทำมาหากินเป็นหลัก แต่กลับเป็นยุคที่มีผู้นำทางการเมืองและสิทธิมนุษยชนชื่อดังเกิดขึ้นมากมาย อาทิ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง, ทะไลลามะที่ 14, โคฟี แอนนัน, จอห์น แมคเคน, เช เกบารา, แมลคัม เอ็กซ์ เป็นต้น
      คนในยุค Silent Generation ยังเป็นที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า The Lucky Few หรือยุคคนที่โชคดีเพราะแม้จะเกิดในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำและสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ก็เติบโตเป็นผู้ใหญ่ในช่วงที่เศรษฐกิจเฟื่องฟูระหว่างทศวรรษ 1950 ถึงต้นทศวรรษ 1960 ความโชคดีประการต่อมาคือ พวกที่ต้องไปเป็นทหารสู้รบในสงครามก็ไม่เจอสงครามที่หนักหนาสาหัสเหมือนสงครามในยุคก่อนที่มีตัวเลขผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บสูงมาก และประการสุดท้ายคือ ยุคนี้เป็นยุคที่งานการหาง่ายและรายได้ดี แต่แปลกที่คนจำนวนไม่น้อยกลับเลือกที่จะทำงานที่เดิมจนเกษียณ ไม่นิยมเป็น job hopper หรือผู้ที่ชอบเปลี่ยนงานบ่อย ๆ 

เรียนรู้วัฒนธรรมผ่านยุคสมัย (English Today)

Baby Boomers  

         Baby Boomers  หมายถึง ผู้ที่เกิดในช่วง ค.ศ. 1946-1964 ซึ่งเป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีอัตราการเกิดสูงทั่วโลก หรือที่เรียกว่ายุคเบบี้บูม เฉพาะในสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวมีทารกเกิดถึง 77 ล้านคนหรือคิดเป็นเกือบ 44% ของประชากรทั้งประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการผลิตขยายตัวอย่างรวดเร็วเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
      ภายในยุคเบบี้บูมยังมีการแยกย่อยออกไปเป็นกลุ่มที่รู้จักกันในชื่อ Generation Jones ซึ่งเป็นพวกเบบี้บูมยุคหลังที่เกิดในช่วงปลายทศวรรษ 1950 ถึงกลางทศวรรษ 1960 คนกลุ่มนี้มักบ่นว่าพวกเบบี้บูมรุ่นพี่เป็นพวกที่มีโอกาสตักตวงประโยชน์จากยุคเบบี้บูแบบเต็ม ๆ ขณะที่พวกตนต้องมาเก็บเกี่ยวเศษเสี้ยวที่เหลือ

เรียนรู้วัฒนธรรมผ่านยุคสมัย (English Today)

      คนยุคเบบี้บูมเติบโตมาในช่วงสงครามเย็นและสงครามเวียดนาม และหลายคนโตพอที่จะจดจำเหตุการณ์ลอบสังหารประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี ประธานาธิบดีคนที่ 35 ของสหรัฐที่เมืองแดลลัส มลรัฐเทกซัส เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 1963 เหตุการณ์เลวร้ายต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้คนยุคเบบี้บูมหันมาเป็นขบถต่อค่านิยมความเชื่อของคนรุ่นพ่อแม่ ทำให้เกิดวัฒนธรรม
ใหม่ ๆ มากมาย  
      หนึ่งในวัฒนธรรมย่อยที่โดดเด่นในยุคนี้คือ hippie culture  hippie (หรือ hippy) หมายถึง สมาชิกของขบวนการเคลื่อนไหวที่ปฏิเสธขนบธรรมเนียมที่เป็นกระแสหลักของสังคมอเมริกัน แม้ว่าขบวนการนี้ส่วนหนึ่งจะเกิดจากการต่อต้านรัฐบาลสหรัฐที่เข้าไปร่วมรบในสงครามเวียดนาม (ค.ศ.1955-1975) แต่พวกฮิปปี้ก็ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง

เรียนรู้วัฒนธรรมผ่านยุคสมัย (English Today)
     

   พวกฮิปปี้จะทำตัวแปลกแยกจากสังคมชนชั้นกลางที่พวกเขามองว่าถูกครอบงำด้วยวัตถุนิยมและการกดขี่ และพัฒนารูปแบบการใช้ชีวิตเฉพาะของตัวเองขึ้น โดยหลายคนเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดโดยเฉพาะกัญชา พวกเขานิยมไว้ผมยาว สวมรองเท้าแตะ ไว้หนวดเครายาวรุงรัง ผู้หญิงนิยมสวมกระโปรงยาวกรอมพื้นตัวหลวมโคร่ง ในประเทศไทยจะพูดถึงการแต่งกายของคนกลุ่มนี้ว่าเป็นพวก “5ย” คือ ไว้ผมยาว สวมรองเท้ายาง นุ่งกางเกงยีนส์ ใส่เสื้อยืดและสะพายย่าม
      วลียอดนิยมอันหนึ่งของฮิปปี้หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า  flower child หรือบุปผาชน คือ “Make love, not war” เพราะพวกเขารักอิสระ ใฝ่หาเสรีภาพ เกลียดชังความรุนแรง หลงใหลธรรมชาติและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ดนตรีโฟล์คและร็อคเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมฮิปปี้ นักดนตรีที่โด่งดังในยุคนี้ได้แก่ บ็อบ ดิลลัน เดอะบีเทิลส์ เดอะโรลลิงสโตนส์ เป็นต้น

เรียนรู้วัฒนธรรมผ่านยุคสมัย (English Today)
     

      กระแสฮิปปี้ค่อย ๆ จางไปในกลางทศวรรษ 1970 เปิดทางให้พวก yuppies  (ที่เป็นคำย่อมาจาก young urban professionals) หรือคนหนุ่มสาวในเมืองที่มีหน้าที่การงานดี ๆ รายได้สูง ๆ และใช้ชีวิตหรูหราสะดวกสบายเข้ามาแทนที่ในช่วงทศวรรษที่ 1980 ซึ่งยัปปี้จำนวนไม่น้อยเคยเป็นฮิปปี้มาก่อน
 แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ
                                                                                      ผศ. ชลาธิป  ชาญชัยฤกษ์

                                                                     English Today   สถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย