
ปรับภูมิทัศน์ "สวนรุกขชาติ" ทั่วไทย เพิ่มศักยภาพท่องเที่ยวพื้นที่อนุรักษ์
การปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์สวนพฤกษศาสตร์และสวนรุกขชาติในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่กว่า 70 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้มีความสวยงาม ดึงดูดใจแก่ผู้มาเยือน ภายใต้โครงการพัฒนาสวนพฤกษศาสตร์และสวนรุกขชาติเพ
"ทั่วประเทศเรามีสวนอยู่ 71 แห่ง แต่จะทำเป็นโครงการนำร่องก่อน 22 แห่งในทุกภาคของประเทศ ภายใต้งบโครงการไทยเข้มแข็ง มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี งบที่ใช้ในปีแรกจะเน้นการก่อสร้างพวกอาคารและปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคเป็นหลัก เช่น บ้านพัก อาคารสัมมนา ศูนย์อาหาร ศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยว บางแห่งที่มีอยู่แล้วก็จะปรับปรุงใหม่ให้ทันสมัยและสวยงามยิ่งขึ้น ส่วนงบปีที่ 2 และ 3 จะเน้นไปทางการบำรุงรักษามากกว่า"
สุวิทย์ รัตนมณี รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เผยรูปแบบการดำเนินโครงการ ซึ่งที่ผ่านมาสวนดังกล่าวไม่ค่อยได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเท่าที่ควร ทั้งนี้เนื่องจากความไม่พร้อมของสวนในด้านต่างๆ ในขณะงบประมาณที่ได้มาในแต่ละปีก็มีอยู่จำกัด ทำให้การพัฒนาสวนแต่ละแห่งให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สมบูรณ์และครบวงจรจึงมีปัญหาไม่คืบหน้าเท่าที่ควร
"ขณะนี้มีบางแห่งที่เราได้เข้าไปดำเนินการแล้วอย่างที่มวกเหล็ก ก็เริ่มปรับปรุงภูมิทัศน์ไปบ้างแล้ว ต่อไปเมื่อสร้างบ้านพักเสร็จเรียบร้อยเราก็บริการที่พักด้วย เมื่อเข้าไปเที่ยว เข้าไปพักกลับออกมา เราก็มีกล้าพันธุ์ไม้แจกให้ด้วยเพื่อเขาจะได้เอาไปปลูกที่บ้าน นี่สิ่งที่เราอยากเห็น"
รองอธิบดีกรมอุทยานยังระบุอีกว่า การปรับปรุงภุมิทัศน์ของสวนแต่ละแห่งนั้น แม้โครงสร้างหลักเหมือนกัน แต่รูปแบบจะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่นั้นๆ ด้วย นอกจากนี้ภายในสวนยังเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์ไม้มงคล พืชสมุนไพร พันธุ์ไม้หายาก ตลอดจนพันธุ์ไม้พื้นเมือง แต่ที่เป็นไฮไลท์ก็คือสวนทุกแห่งจะมีไม้ประจำจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ซึ่งขณะนี้เชื่อว่าหลายคนยังไม่รู้เลยว่าต้นไม้ประจำจังหวัดของตัวเองคือต้นอะไร
"รูปแบบการจัดภูมิทัศน์แต่ละแห่งจะไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับพื้นที่ด้วย อย่างที่มวกเหล็กมีน้ำตก ใกล้ภูเขาจะต่างจากที่เพ จ.ระยอง ซึ่งอยู่ติดกับทะเล รูปแบบการจัดก็จะแตกต่างกันไป โดยเรามีทีมงานมืออาชีพคอยดูแล แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่ละเลยก็คือการร่วมมือกับคนในชุมชน องค์กรปกครองท้องถิ่นในการช่วยกันดูแลรักษา เพราะสวนเหล่านี้จะเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพ คนในชุมชนก็มีรายได้ เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามา เศรษฐกิจในชุมชนก็จะขับเคลื่อนต่อไปได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของการอนุรักษ์ และสวนทุกแห่งสามารถเข้าชมฟรี ยกเว้นค่าที่พัก" สุวิทย์กล่าวทิ้งท้าย
โครงการพัฒนาสวนพฤกษศาสตร์และสวนรุกขชาติเพื่อเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวทางธรรมชาติในพื้นที่เชิงอนุรักษ์ จึงนับเป็นอีกก้าวของกรมอุทยานในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติแบบครบวงจร ที่ไม่ใช่แค่สถานที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจเท่านั้น แต่ยังเป็น "พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต" ในการเรียนรู้ธรรมชาติของคนทุกวัยอีกด้วย
"สุรัตน์ อัตตะ"