
การหย่อนสมรรถภาพทางเพศคืออะไร?
การหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (Erectile Dysfunction) หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่ากามตายด้านนั้น คือภาวะที่อวัยวะเพศชายไม่สามารถแข็งตัวได้สมบูรณ์
ในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ อาการนี้อาจเกิดขึ้นกับผู้ชายในช่วงวัยใดก็ได้ แต่ก็มักจะพบมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น
สาเหตุของโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศมักจะมีหลายสาเหตุร่วมกัน หากมีหลายสาเหตุก็จะทำให้มีโอกาสเกิดมากขึ้น ปัจจัยที่เป็นสาเหตุได้แก่
- อายุ ปัจจุบันพบว่า คนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงต่อภาวะนี้ และเสี่ยงมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น
- สังคมและเศรษฐกิจ พบว่าผู้ที่มีรายได้สูง มีความรู้ อาชีพที่ดีจะมีปัญหา ED น้อยกว่าคนที่มีรายได้น้อย
- โรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรัง โรคประจำตัวต้องเป็นโรคเรื้อรังที่เป็นมานานพอควรเป็นโรคที่มีผลต่อหลอดเลือดแดง หลอดเลือดดำ กล้ามเนื้อบริเวณอวัยวะเพศสามารถทำให้โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เช่นโรคเบาหวาน โรคไต โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคหลอดเลือดแดงแข็ง atherosclerosis
- พฤติกรรมการดำรงชีวิตได้แก่ การสูบบุหรี่ และการออกกำลังกาย
- ED ที่เกิดจากจิตใจพบได้ประมาณร้อยละ 10-20 ของผู้ป่วยโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ภาวะดังกล่าวอาจจะเกิดจากความเครียด ความวิตกกังวลเกี่ยวกับงาน ครอบครัว ความกลัวความล้มเหลวทางเพศสัมพันธ์ หรือถูกตำหนิจากคู่ครองทำให้หมดความมั่นใจ
อาการของการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
อาการอย่างไรที่เข้าข่ายเป็นอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ( Erectile Dysfunction: ED) อาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศแบ่งตามระดับความรุนแรงของอาการ จากการศึกษาในชายสูงอายุในมลรัฐแมสซาชูเซตส์ ( Massachusetts Male Aging Study) ซึ่งศึกษาระบาดวิทยาของอาการนี้ไว้ดังนี้
- หย่อนสมรรถภาพในระดับต่ำ: ผู้ป่วยสามารถมีอวัยวะเพศแข็งตัวพอดีสำหรับการมีเพศสัมพันธ์ได้เกือบทุกครั้ง
- หย่อนสมรรถภาพระดับปานกลาง: ผู้ป่วยสามารถมีอวัยวะเพศแข็งตัวดีสำหรับการมีเพศสัมพันธ์ได้เป็นบางครั้ง
- หย่อนสมรรถภาพระดับรุนแรง: ผู้ป่วยไม่สามารถมีอวัยวะเพศแข็งตัวดีพอสำหรับการมีเพศสัมพันธ์ได้เลย
หากคุณมีอาการดังกล่าวนานเกิน 2 เดือนหรืออาการเกิดซ้ำควรปรึกษาแพทย์วิธีรักษาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
วิธีรักษาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
- หลีกเลี่ยงการรับสารนิโคตินจากการสูบบุหรี่ งดดื่มแอลกอฮอล์ และสารเสพย์ติดอื่นๆ
- ถ้ายาที่ใช้อยู่เป็นสาเหตุของการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ แพทย์ผู้ให้การรักษาอาจเปลี่ยนยาชนิดใหม่ให้
- กรณีที่การหย่อนสมรรถภาพทางเพศมีสาเหตุจากปัญหาด้านอารมณ์หรือจิตใจ แพทย์หรือผู้ให้คำปรึกษาทางจิตเวชจะเป็นผู้ที่สามารถให้คำแนะนำที่เหมาะสมเพื่อรักษาอาการดังกล่าวได้
- ถ้าระดับเทสโทสเทอโรนในเลือดต่ำ สามารถรักษาได้ด้วยการฉีดเทสโทสเทอโรนเข้าร่างกายหรือแปะที่ผิวหนัง
- อาจต้องทำการรักษา ถ้ามีภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนสูง (Hyperthyroidism) หรือ ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ (hypothyroidism) จนเกินไป
- การรักษาด้วยยา Bromocriptine เพื่อรักษาระดับของโปรแลคตินที่เพิ่มมากเกินไป
- ในปัจจุบันมีการรักษาด้วยยารับประทานสามชนิดที่มีประสิทธิภาพ นั่นคือ ยาไวอะกร้า (sildenafil) ยาเลวิตร้า(vardenafil) และยาเซียลิส (tadalafil) ยาทั้งสามชนิดสามารถรักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้โดยทำให้เลือดไหลเวียนเข้าไปสู่อวัยวะเพศชายได้ในระหว่างมีการกระตุ้นทางเพศ
- การใช้เครื่องปั๊มสูญญากาศเพื่อช่วยให้เกิดการแข็งตัว
- การฉีดยา alprostadil ด้วยตัวเอง ยาชนิดนี้เป็นยาที่ทำให้หลอดเลือดขยายตัว เพื่อนำเลือดเข้าสู่อวัยวะเพศชาย จนเกิดการแข็งตัว แพทย์ของคุณจะเป็นผู้แนะนำเทคนิควิธีการฉีดยาที่ถูกต้อง
- รักษาด้วย ESWT เป็นเทคโนโลยีล่าสุดในการรักษาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ อันเนื่องจากเลือดไปเลี้ยงอวัยวะเพศไม่เพียงพอขณะมีเพศสัมพันธ์ด้วย Shock Wave Therapy คือ การใช้คลื่นเสียงที่มีความเข้มต่ำแบบแรงกระแทกจากภายนอก (Low-Intensity Extracorporeal Shock Wave Therapy : LI-ESWT) ไปกระตุ้นบนอวัยวะเพศของผู้ป่วย เป็นผลทำให้เกิดการสร้างหลอดเลือดใหม่เพิ่มขึ้นในอวัยวะเพศจากหลอดเลือดเดิม
เมื่อหลอดเลือดในอวัยวะเพศทำงานได้ดีขึ้น การตื่นตัวและการขยายของอวัยวะเพศจึงมีประสิทธิภาพมากขึ้น นับเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะผิดปกติการแข็งตัวของอวัยวะเพศ ซึ่งมีความปลอดภัยสูง ปลอดภัยจากผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยการใช้ยา
ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ไม่ใช่โรคร้าย แต่เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้กับคุณผู้ชายทุกคนตามธรรวมชาติของวัย ในต่างประเทศเปิดกว้างสำหรับการปรึกษาเพื่อรักษาภาวะนี้มานานแล้ว เนื่องจากเล็งเห็นถึงความสำคัญของชีวิตคู่ และป้องกันปัญหาครอบครัวอันจะส่งผลไปถึงการงานและคุณภาพชีวิตด้วย
หากท่านใด เริ่มถึงวัย มีอาการดังกล่าว สามารถปรึกษาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้กับ ศัลยแพทย์เฉพาะทาง ระบบทางเดินปัสสาวะ ในโรงพยาบาล หรือคลินิกดูแลสุขภาพเพศชาย ศูนย์ดูแลสุขภาพและความงาม โรงพยาบาลจุฬารัตน์9 แอร์พอร์ต โทร 085-3329229