
ปรับโฉมวิทยาศาสตร์สุขภาพ"อาทิตย์ อุไรรัตน์"ก้าวต่อไปม.รังสิต
แวดวงอุดมศึกษาเอกชนสดใสมีชีวิตชีวาขึ้นมาทันตาราวกับต้นไม้ได้ปุ๋ยวิเศษ !! เมื่อผลประเมินคุณภาพภายนอกรอบสองของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ระบุมหาวิทยาลัยเอกชน 18 แห่งผ่านประเมินสมศ.
และมหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่งผ่านประเมินในกลุ่ม 4 ซึ่งเน้นผลิตบัณฑิตระดับดีและระดับดีมาก โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยรังสิตเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งเดียวที่ผ่านประเมินระดับดีมากในการผลิตบัณฑิตหลายสาขาทั้งวิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต มองว่า ผลประเมินของสมศ.ครั้งนี้ถือเป็นความก้าวหน้าของชาติ และเชื่อว่าสมศ.จะนำทางการศึกษาไทยไปในทิศทางที่ถูกต้อง มหาวิทยาลัยรังสิตภาคภูมิใจกับผลประเมินที่ออกมา ก้าวต่อไปของมหาวิทยาลัยจะต้องทำให้ดีขึ้นในทุกสาขาโดยสาขาไหนที่ผลิตบัณฑิตได้ดีอยู่แล้ว ก็จะรักษาระดับไว้ให้ได้ ส่วนสาขาใดที่ยังไปไม่ถึงระดับดีมาก ก็จะค้นหาจุดบกพร่องและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น
"มหาวิทยาลัยรังสิตมีจุดเน้นในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ เช่น แพทย์ พยาบาล เภสัช และเติบโตอย่างต่อเนื่องจากปี 2547 มีนักศึกษา 3,000 คนมาถึงปัจจุบันมีนักศึกษาถึง 5,000 คน แม้ผลประเมินของสมศ.ยังไปไม่ถึงระดับดีมากแต่ก็อยู่ในระดับดี การพัฒนายังทำได้ไม่เต็มที่เพราะสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพใช้งบลงทุนสูงมาก" ดร.อาทิตย์ กล่าว
อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิตแจกแจงว่า มหาวิทยาลัยเอกชนต้องลงทุนเองทั้งหมด แตกต่างจากมหาวิทยาลัยรัฐที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล แต่ก็จะปรับปรุงสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพใหม่หมดเลย เช่น การเพิ่มเครือข่ายโรงพยาบาลที่รับนักศึกษาแพทย์เข้าไปฝึกงานจากเดิมมีโรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลเด็ก โรงพยาบาลฉะเชิงเทรา ก็จะเจรจากับโรงพยาบาลอื่นๆ ช่วยรับนักศึกษาแพทย์เข้าไปฝึกงาน เช่น โรงพยาบาลเลิดสิน รวมทั้งสร้างอาคารหอพักนักศึกษาแพทย์ ปีหน้ามหาวิทยาลัยได้ร่วมกับ Malardalen University ประเทศสวีเดนเปิดหลักสูตรปริญญาตรีพยาบาลสองภาษาใช้เวลาเรียน 4 ปีโดยเรียนในไทย 2 ปีและสวีเดน 2 ปีตั้งเป้ารับรุ่นแรก 50 คน
เช่นเดียวกับการพัฒนาด้านงานวิจัย ซึ่ง ดร.อาทิตย์ อธิบายว่าเป็นโจทย์ที่ยากสำหรับมหาวิทยาลัยเอกชนทั้งหลายเพราะมีข้อจำกัดด้านงบประมาณซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูง และการขอทุนทำวิจัยจากหน่วยงานรัฐของมหาวิทยาลัยก็ทำได้ยากมาก เนื่องจากระเบียบราชการเปิดให้มหาวิทยาลัยรัฐเท่านั้นที่สามารถขอทุนทำวิจัยจากหน่วยงานรัฐได้ ทำให้ในปัจจุบันอาจารย์ของมหาวิทยาลัยรังสิตหาทุนทำวิจัยได้แค่ปีละ 70 ล้านบาท แต่ก็เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีผลงานวิจัยมากระดับแถวหน้าและผลประเมินของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ให้ผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยรังสิตมีคุณภาพอยู่ในระดับดีมาก
"ตอนนี้มหาวิทยาลัยมีนักศึกษาปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอกทั้งหมด 2.2 หมื่นคน อาจารย์ 800 คน จะพัฒนาบัณฑิตให้มีคุณภาพมากขึ้นเน้น 3 ข้อคือ ข้อแรกต้องไม่เก่งแต่ด้านวิชาการ ไม่เรียนอยู่บนหอคอยงาช้าง จะต้องพร้อมที่จะเผชิญกับโลกแห่งความเป็นจริง ข้อที่สองต้องเรียนรู้และวิจัยมากขึ้น และข้อที่สามมีความเข้าใจสังคมไทยและติดดินมากขึ้น ได้ร่วมกับบริษัทและสถานประกอบการต่างๆ ผลิตบัณฑิตผ่านโครงการสหกิจศึกษาเพื่อจะได้รู้ถึงคุณลักษณะบัณฑิตที่สถานประกอบการต้องการและนักศึกษาเรียนจบแล้วสามารถไปทำงานได้จริง" อธิการบดีม.รังสิตกล่าว
ส่วนการพัฒนาอาจารย์มุ่งส่งเสริมให้ทำผลงานวิชาการและงานวิจัยเพื่อเลื่อนตำแหน่งวิชาการ มีวิธีการจูงใจโดยเพิ่มค่าตอบแทนตามตำแหน่งวิชาการ ส่งอาจารย์ไปเรียนต่อต่างประเทศเพื่อพัฒนาความรู้และนำวิทยาการใหม่ๆ มาสอนนักศึกษา ช่วง 3-5 ปีข้างหน้ามหาวิทยาลัยยังคงเดินหน้าผลิตบัณฑิตและงานวิจัยที่มีคุณภาพสู่สังคมโดยไม่มุ่งเน้นเฉพาะสาขาใดสาขาหนึ่ง แต่จะทำให้มีคุณภาพดีเหมือนกันหมดในทุกสาขา
0ธรรมรัช กิจฉลอง/เรื่อง
ประชาสัมพันธ์ม.รังสิต/ภาพ0