
"มะกา"เปลือกสมานแผล
14 ต.ค. 2552
หนึ่งในพรรณไม้ที่เป็นสมุนไพรนั้น "มะกา" แม้มีสรรพคุณไม่มากนัก แต่คนโบราณมักจะใช้ใบขับเสมหะ ส่วนเปลือกซึ่งมีรสฝาดใช้สมานแผล
เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ในวงศ์ EUPHORBIACEAE สูงเต็มที่ราว 10 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาล มีชื่อเรียกต่างกันขึ้นกับท้องถิ่นนั้นๆ บ้างเรียก ก้องแกบ, ซำซา มัดกา เป็นต้น
ใบ เป็นใบเดี่ยว ขึ้นเรียงสลับตามกิ่ง ทรงรี กว้าง 4-6 เซนติเมตร ยาว 10-20 เซนติเมตร โคนสอบ ปลายแหลมมน ผิวใบเกลี้ยง ก้านใบสั้น ขอบเรียบ มีเส้นแขนงใบราว 8-14 คู่
ดอก ออกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบ มีดอกขนาดเล็กเวลาบานสีเหลือง มีดอกเพศผู้และดอกเพศเมียอยู่ในกลุ่มหรือกระจุกเดียวกัน
ผล ทรงกลมขนาดเล็ก เมื่อแก่จะแห้งแตก
ขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด ตอนกิ่ง ขึ้นได้ทุกสภาพดิน ความชื้นและแสงแดดปานกลาง พบตามป่าเบญจพรรณ ป่าชายทะเล
"นายสวีสอง"