
ไหว้...หลวงพ่อโตวัดบางพลีใหญ่ในสืบสานประเพณี 'รับบัว'
พระครูวิบูลธรรมานุกิจ เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่ใน และ นายชนินทร์ สว่างแก้ว ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดหนามแดง ในฐานะไวยาวัจกรวัดบางพลีใหญ่ใน ได้เล่าถึงความเป็นมาของ พิธีรับบัว ว่า พิธีนี้มีมาเป็นร้อยปีแล้ว เป็นประเพณีท้องถิ่น ในสมัยก่อนจะมีกลุ่มชนอยู่ ๓ ชาติด้วย
ทั้งนี้ ชาวรามัญพื้นที่ทำมาหากินฝืดเคือง เพราะว่าคนมากขึ้นจะแยกตัวไปอยู่พระประแดง ก่อนที่จะไปพระประแดง เดินทางประมาณขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ทั้งนี้ ชาวไทย ชาวลาว ก่อนที่จะส่งชาวรามัญไปอยู่ที่พระประแดงก็ได้นำดอกบัวไปให้ชาวรามัญ ชาวรามัญก็นำไปนมัสการหลวงพ่อโตก่อนที่จะไป และขอน้ำมนต์ของหลวงพ่อโตไปฝากชาวพระประแดงที่นั่น และก็นำดอกบัวไปบูชาพระกฐาภักษ์ ที่พระประแดงด้วย
หลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๓ ศอก ๑๐ นิ้ว ลอยน้ำมาตามลำน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ประชาชนชาวกรุงศรีอยุธยาได้อัญเชิญท่านลงน้ำมาพร้อมกัน ๓ องค์ องค์แรก คือ หลวงพ่อวัดบ้านแหลม จ.สมุทรสงคราม องค์ที่ ๒ หลวงพ่อโสธร วัดหลวงพ่อโสธร จ.ฉะเชิงเทรา ได้ลอยน้ำมาพร้อมกัน และ ๓ หลวงพ่อโต ซึ่งลอยเข้ามาตามคลองสำโรง ชาวบ้านที่พบเห็นจึงได้อัญเชิญท่านขึ้นฝั่ง ตั้งแต่ปากคลองสำโรงแล้ว แต่ท่านไม่ขึ้น
ชาวบ้านริมลำคลองสำโรง จึงได้บวงสรวงท่านว่า ท่านจะขึ้นตรงไหน เลยทำแพขึ้น ๑ แพ แล้วผูกกับองค์ท่าน เพื่อจะชะลอท่านแล้วก็บอกกับท่านว่า ท่านจะหยุดตรงไหนก็ขอให้แพนั้นหยุด จากนั้นแพก็มาหยุดที่หน้า วัดบางพลีใหญ่ ซึ่งสมัยก่อนเรียกว่า วัดพิชัยชนะสงคราม
ตั้งแต่นั้นมา ชาวบางพลีก็ศรัทธาท่านตลอด พอถึงวันที่ ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี จะมี ประเพณีรับบัว โดยในวันนั้นจะมีการไหว้องค์หลวงพ่อโตก่อน พอ ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๑ ก็อัญเชิญหลวงพ่อโตแห่ไปทางบก โดยแห่ไปตามถนนสายบางนา-ตราด ไปแวะที่จระเข้ใหญ่-เคหะบางพลี แล้วก็ไปที่จ.สมุทรปราการ จากนั้นไปที่สำโรง จากสำโรงเข้ามาอัญเชิญหลวงพ่อลงในเรือ ในวันที่ ๑๓ ค่ำ นิมนต์ท่านไปตามลำคลอง พอวันรุ่งขึ้น ๑๔ ค่ำ จะเป็นงานประเพณีรับบัว
ซึ่งเป็นประเพณีใหญ่ ประชาชนก็จะมาอยู่รวมกันตั้งแต่ ๖-๗ โมงเช้า จะมีขบวนประกวด ทุกคนที่อยู่สองฟากฝั่งคลองจะโยนบัวไปที่องค์หลวงพ่อโต
ชาวรามัญพอขึ้น ๑๓ ค่ำ จะเริ่มเดินทางมาจากพระประแดง แล้วจะมาสว่างที่บางพลี คือ ๑๔ ค่ำ บางทีก็จะมาถึงประมาณตี ๑ ตี ๒ จะมีการร้องรำทำเพลงกันอยู่ในเรือ แล้วคนไทยกับคนลาวที่เป็นคนเดิมๆ ก็จะทำขนมข้าวต้มมัด ให้คนรามัญมาต้อนรับ และก็นำดอกบัวที่หาไว้มาให้คนรามัญด้วย
คนรามัญก็เอาดอกบัวขึ้นมาถวายกับหลวงพ่อโต ที่อยู่ในเรือ พอรุ่งเช้าจะมีข้าวต้มมัดให้กินกัน จากนั้นก็นมัสการหลวงพ่อโต ขอพร แล้วก็จะนำน้ำมนต์กลับไปที่พระประแดง ไปบูชาพระกฐาภักษ์ ที่พระประแดง
ในเช้าวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เริ่มประมาณ ๐๗.๐๐ น. จะลอยจากหน้าวัดไปจนถึงที่ว่าการอำเภอบางพลี มีพิธีประกวดเรือ มอบถ้วยรางวัล องค์หลวงพ่อโตจะนำขบวนไป พอถึงเวลาประมาณ ๑๐ โมงเช้า และจะกลับมาอยู่ที่วัด องค์หลวงพ่อโตจะเต็มไปด้วยดอกบัว โผล่เฉพาะเศียรเท่านั้น ซึ่งเป็นความศรัทธาของชาวบางพลี และประชาชนที่มาเที่ยวงาน
ดอกบัว ที่ได้จากการโยนของประชาชน ก็จะมีคนนำกลับไปบูชาพระที่บ้าน และจะนำไปฝากคนท้อง เพื่อเอาไปต้มดื่ม เป็นความเชื่อว่า จะคลอดลูกง่าย
บางวัดก็นำเอาเกสรดอกบัวไปตากแห้ง แล้วก็นำไปผสมทำเป็นพระเครื่อง ทางวัดก็จะนำเอาดอกบัวที่เหลืออยู่หน้าองค์หลวงพ่อโต ที่อยู่บนเรือ เอามาวางไว้ที่หน้าโบสถ์ ประชาชนก็มาหยิบไปฝากญาติพี่น้องหมด ไม่เคยมีเหลือ ในช่วง ๒๐-๓๐ ปีที่ผ่านมา องค์หลวงพ่อโตจะแสดงปาฏิหาริย์ ตอนนั้นเป็นวัดเล็กๆ ไม่ได้เหมือนตอนนี้ เจ้าอาวาสไม่มีเงินที่จะบูรณะวัด จึงไปบอกองค์หลวงพ่อโต อยากจะมีทรัพย์เงินทอง จะบูรณะวัด ท่านก็แสดงปาฏิหาริย์ เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๒๐ ปาฏิหาริย์ก็คือ องค์หลวงพ่อจะนิ่ม คือ คนที่ไปปิดทองเห็นว่า องค์หลวงพ่อนิ่มลง ทางวัดก็บูรณะวัดมาเรื่อยๆ คนก็เข้ามา
แล้วปัจจุบันก็จะมีการฉลองให้ท่านทุกปี เรียกว่า วันฉลององค์หลวงพ่อนิ่ม ในวันวิสาขบูชา
หลวงพ่อนิ่ม ก็คือ หลวงพ่อโต ในวันอาทิตย์จะมีคนเข้ามากราบไหว้สักการะ แก้บนกันเยอะมาก บางคนก็เข้ามาขอพรให้ประสบความสำเร็จ
ทางวัดก็จะมีการให้ในเรื่องของธรรมะ การสอนธรรมะในวันพระ และ ๓ เดือนก็จะมีการบริจาคโลหิต ก็ให้ประชาชนที่มานมัสการหลวงพ่อโตนั้นมาบริจาคโลหิต คือกิจกรรมภายในวัด ที่ให้ประชาชนที่มานมัสการหลวงพ่อโต แล้วจะได้ธรรมะกลับไป
ต่อไปจะให้เด็กมาเรียนธรรมะในวันอาทิตย์ด้วย เงินต่างๆ ที่บริจาคในตู้ จะนำไปพัฒนาการศึกษา ไปมอบทุนการศึกษาให้โรงเรียนต่างๆ โรงพยาบาล
และอีกส่วนหนึ่งก็จะนำมาบูรณะวัด บางส่วนที่เหลือก็จะนำไปบริจาคให้โรงเรียน จะแจกจ่ายไปทุกโรงเรียน โรงเรียนไหนที่มีความประสงค์ ก็เข้ามาขอได้
ปัจจุบัน ประเพณีรับบัว ยังมีการสืบสานกันอยู่ ตราบนานเท่านาน