
ค่าย-เรียน-งาน3สิ่งที่บัณฑิตต้องมี
"เด็กทุกวันนี้อยากได้เงินเดือนสูงๆ แต่ต้องการทำงานน้อยๆ จิตอุทิศและความอดทนต่ำ จบมาแล้วทำงานยังไม่ได้ดีเท่าทีควร ต้องเสียเวลาฝึกกันอีก ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป หรือระบบการศึกษาในปัจจุบัน"
เป็นถ้อยคำของผู้ประกอบการหลายรายสะท้อนถึงคุณภาพเด็กไทยในปัจจุบัน
จะว่าไปแล้วช่วงเวลาที่อยู่ในมหาวิทยาลัย นักศึกษาสามารถเรียนรู้ได้อย่างหลากหลาย ทั้งวิชาการ ควบคู่ไปกับการทำกิจกรรม และทำงาน โดยเฉพาะการทำกิจกรรม "ค่าย" ที่นักเรียนนักศึกษา นักกิจกรรม หรือนักเคลื่อนไหวต่างๆ ใช้เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ กล่อมเกลา หรือเรียกสั้นๆ ว่าการ "สร้างคน" ขึ้นมาที่ยอมรับกันว่าได้ผลมากนักต่อนัก
"ผศ.พูลเกียรติ์ นาคะวิวัฒน์" รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนา มทร.ธัญบุรี ผู้ก่อตั้งชมรมราชมงคลอาสาพัฒนา และส่งเสริมให้นักศึกษาออกค่าย ด้วยความที่ตระหนักในพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานไว้ว่า...บัณฑิตจะต้องมีคุณค่าในตัวเองมีทั้งวิชาความรู้และทักษะวิชาชีพ ประหนึ่งว่าเป็นเหรียญ 2 ด้าน หน้าหัว คือคุณธรรม จริยธรรม หน้าก้อย คือวิชาความรู้ทักษะอาชีพ ขาดด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้ เพราะจะทำให้เหรียญนั้นไม่มีราคาค่างวดอะไรเลย นำไปใช้สอยอะไรก็ไม่ได้
"ผมตั้งใจว่าจะพยายามทำให้บัณฑิตของ มทร.ธัญบุรีทุกคนได้ผ่านการเข้าค่ายก่อนสำเร็จการศึกษาออกไปรับใช้สังคม เป็นบัณฑิตที่สมบูรณ์ รวมทั้งจะพยายามให้อาจารย์ พนักงาน และบุคลากรทุกภาคส่วนของ มทร.ธัญบุรีมีโอกาสได้สัมผัสชีวิตชาวค่ายด้วยเช่นกัน" ผศ.พูลเกียรติ์กล่าว
วริทธิ์ แจ่มใส หรือ ตั้ง นักศึกษาปีที่ 4 คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ที่ปรึกษากลุ่มกิจกรรมอิสระลูกโดมสานฝัน เป็นอีกคนที่บอกว่า ค่ายสอนให้เขาเป็น "คน" อย่างสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นการออกค่ายสร้างอาคารเรียน ที่เกาะยาวน้อย จ.พังงา การไปสอนหนังสือให้กะเหรี่ยง ที่ชุนชนป่าละอู การไปค่ายสร้างในพื้นที่ต่างๆ ตั้งแต่เรียนอยู่ปี 1 ล่าสุด เป็นแกนนำชวนน้องๆ ชาว จ.เพชรบุรี ไปจัดค่ายแนะแนวระบบการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไปให้แก่น้องๆ ม.ปลาย 120 คน ที่ ร.ร.เบญจมเทพอุทิศ จ.เพชรบุรี เมื่อต้นเดือนกันยายน
"การแนะแนวครั้งนี้ทำให้น้องๆ ได้รู้จักตนเอง สามารถเลือกเส้นทางเพื่อการศึกษาได้อย่างถูกต้อง ปลูกฝังจิตสาธารณะและคุณลักษณะของบัณฑิตที่ดีอีกด้วย" ตั้งกล่าว
การสร้างคนใช่ว่าจะมีแต่งาน "ค่าย" เท่านั้น น้องๆ ยังสามารถเรียนรู้การทำงานจริงไปพร้อมกับ "วิชาการ" ได้ด้วย อย่างเช่น วัชรากร ใบบัว นักศึกษาปีที่ 1 สาขาศิลปการแสดง เอกนาฏศิลป์ไทย คณะศิลปกรรมศาสตร์ มรภ.สวนสุนันทา ที่เข้าประกวด “โค้ด ออฟ บิวตี้ : สยาม ยัง เมกอัพ แอนด์ บอดี้ เพนท์ อาร์ติสต์ คอนเทสต์” จนได้รางวัลชนะเลิศเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ด้วยความที่ชอบการแต่งหน้ามาตั้งแต่เด็กๆ ปัจจุบันเขาใช้วิชาความรู้ที่เขามีอยู่รับงานแต่งหน้าด้วย
"การเรียนรู้ในโลกปัจจุบันใช่ว่ามีเพียงในห้องสี่เหลี่ยมเท่านั้น แต่การเรียนรู้จากการประกวด แข่งขัน ทำให้เรามีทักษะมากขึ้น ที่สำคัญยังนำไปใช้เป็นอาชีพสร้างรายได้ให้อีกด้วย ขอให้เราตั้งใจและมุ่งมั่นในสิ่งที่ทำก็เพียงพอแล้ว" วัชรากรกล่าว
เช่นเดียวกับ นฤมล บุตรละคร และ พีรวิชญ์ ชัยจันดี นิสิตชั้นปีที่ 4 สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คณะวิทยาการสารสนเทศ ม.มหาสารคาม (มมส.) ที่ร่วมกันออกแบบและจำหน่ายเสื้อผ้าออนไลน์แห่งแรกของประเทศไทย Designcushy.Com ให้ลูกค้าเข้ามาออกแบบเสื้อ เลือกสี ขนาด ประเภทชาย-หญิง และเลือกรูปแบบเสื้อ แขนสั้น แขนยาว คอวี คอกลม ออกแบบลวดลายของเสื้อผ้าได้จากรูปภาพในระบบ หรือรูปภาพที่ลูกค้าออกแบบ พร้อมห้องแชทคุยเรื่องเสื้อผ้าแฟชั่นกับดีไซเนอร์เกี่ยวกับการแต่งตัว เป็นการทำการตลาดออนไลน์ หรือ อี-มาร์เก็ตติ้ง ที่ใครสนใจก็สั่งซื้อได้
ไม่ต่างจาก "บอย" จามิกร ศรีคำ นักศึกษาปีที่ 3 และ "โน้ต" ธีรธัช โน๊ตศิริ นักศึกษาปีที่ 1 สาขาศิลปการถ่ายภาพ วิทยาลัยเพาะช่าง มทร.รัตนโกสินทร์ ที่ใช้เวลาว่างฝึกฝนทักษะ "การถ่ายภาพ" ส่งเข้าประกวดได้รางวัลการันตีความสามารถมากมาย โดยเฉพาะ "บอย" ได้รางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี จากการประกวดภาพถ่ายทั่วประเทศครั้งที่ 6 จัดโดยสมาคมถ่ายภาพกรุงเทพ หัวข้อ "เศรษฐกิจพอเพียง" ส่วน "โน้ต" ได้รางวัลเหรียญเงิน
"ส่วนการประกวดภาพถ่ายของสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (สวพท.) หัวข้อ "ทรัพากรชีวภาพที่บ้านฉัน" บอย ได้รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 จาก และโน้ต ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ทั้งคู่บอกว่า "การฝึกฝนอย่างจริงจังและมุ่งมั่น" คือเคล็ดลับความสำเร็จของพวกเขา
ใบปริญญาที่ได้กับความรู้ที่มีจะคุ้มค่ากับค่าเทอมที่พ่อแม่ควักจ่ายหรือไม่ บัณฑิตเท่านั้นคือผู้ที่รู้คำตอบ
0 หทัยรัตน์ ดีประเสริฐ 0