ไลฟ์สไตล์

ฟื้นวงการผ้าปาเต๊ะสุไหงโก-ลก
ตั้งแบรนด์ "สุมาตรา" ปลุกกระแส

ฟื้นวงการผ้าปาเต๊ะสุไหงโก-ลก ตั้งแบรนด์ "สุมาตรา" ปลุกกระแส

03 ต.ค. 2552

ยุคหนึ่งเมื่อหลายปีที่ผ่านมา "ผ้าปาเต๊ะ" หรือบาติกนับเป็นเครื่องแต่งกายที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในภาคใต้ตอนล่างรวมถึงชาวมาเลเซียและอินโดนีเซีย เนื่องจากมีลวดลายอ่อนช้อย สวยงาม และสีสันที่สะดุดตา แหล่งใหญ่ที่ผลิตคือที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส แต่ด้วยวัฒนธร

  เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ผ้าปาเต๊ะให้มีความทันสมัยเหมาะกับยุคปัจจุบัน อดิศักดิ์ จึงใช้เทคโนโลยีการผลิตให้มีความแตกต่างไปจากผ้าปาเต๊ะที่เห็นในท้องตลาดนั่นคือการออกแบบด้วยบล็อกพิมพ์ที่เป็นลวดลายตามความต้องการของลูกค้าแทนการเขียนด้วยมือ แต่ยังคงอนุรักษ์ลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของผ้าปาเต๊ะแบบดั้งเดิมไว้ เพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผ้าปาเต๊ะต้องฟื้นขึ้นมาให้เป็นของดีแห่งเมืองสุไหงโก-ลก ตลอดไป

 อดิศักดิ์ ย้อนอดีตให้ฟังว่า เมื่อครั้งที่เขายังเป็นเด็กได้เดินทางออกจากบ้านเกิด อ.แว้ง ไปอยู่ที่ อ.สุไหงโก-ลก เพื่อศึกษาเล่าเรียน ระหว่างที่เรียนหนังสือนั้นมีที่พักอยู่ใกล้กับแหล่งผลิตผ้าปาเต๊ะ จึงมีโอกาสซึมซับและเรียนรู้กรรมวิธีการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพแทบทุกขั้นตอน กระทั่งสำเร็จการศึกษาเส้นทางชีวิตสู่อาชีพรับราชการครูสอนที่โรงเรียนมัธยมสุไหงโก-ลก แต่ด้วยความรักและสนใจในศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นมาโดยตลอด จึงยังศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับงานด้านการทำผ้าปาเต๊ะมาตลอด และได้นำความรู้ไปสอนเด็กนักเรียน โดยหวังให้คนรุ่นใหม่ช่วยกันสืบสานมรดกและภูมิปัญหาชาวบ้านให้อยู่คู่ชุมชนตลอดไป

 “จำได้ว่าปี 2530 ศิลปะผ้าปาเต๊ะเริ่มลดหายไปจากท้องตลาด จะมีให้เห็นเพียงสินค้าประเภทผ้าถุงผู้หญิงเท่านั้น ส่วนเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายอื่นๆ ที่เคยผลิตจากผ้าปาเต๊ะแทบหาไม่ได้เลย ผมจึงพยายามถ่ายทอดวิชาความรู้สู่เยาวชนคนรุ่นใหม่ผ่านรูปแบบงานศิลปะในห้องเรียนเท่าที่จะทำได้ แต่ผลที่ได้มาไม่มากนัก ผมนอนคิดหลายตลบ สุดท้ายได้ลาออกจากราชการไปเล่นการเมืองระดับท้องถิ่น จนได้รับเลือกตั้งเป็น ส.จ.นราธิวาส เขต อ.แว้ง ระหว่างปี 2547-2550" อดิศักดิ์ กล่าว

 ช่วงที่เป็น ส.จ. อดิศักดิ์มีโอกาสร่วมงานกับสภาวัฒนธรรมจังหวัด และร่วมงานวัฒนธรรมที่ประเทศอินโดนีเซีย จึงเห็นผู้คนที่นั่นแต่งกายด้วยผ้าปาเต๊ะเข้าร่วมงาน และที่สำคัญบุคคลสำคัญของประเทศเพื่อนบ้านจะกล่าวขานถึงผ้าปาเต๊ะของสุไหงโก-ลกด้วย ทำให้เริ่มคิดว่าต่อไปจะต้องฟื้นฟูวงผ้าปาเต๊ะให้ครึกครื้นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

 "ที่ประเทศอินโดนีเซียมีการผลิตผ้าปาเต๊ะกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน แต่เมื่อเทียบกับงานของเราที่สุไหงโก-ลก ผมมีความมั่นใจว่าช่างในพื้นที่ภาคใต้ของเรามีฝีมือไม่น้อยหน้า โดยเฉพาะการออกแบบลวดลายและการใช้สีสันมีความงดงามและเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เหนือกว่าสินค้าประเทศเพื่อนบ้านแน่นอน ตรงนี้พอหมดวาระการทำหน้าที่นักการเมืองท้องถิ่น ผมจึงตัดสินใจลงมือทำธุรกิจผลิตผ้าปาเต๊ะอย่างจริงจังเริ่มเมื่อเดือนมกราคม 2552 โดยใช้เงินลงทุนกว่า 5 แสนบาท เพื่อซื้ออุปกรณ์ทำบล็อกและแกะพิมพ์ หลังจากทดลองพิมพ์ลายที่ออกแบบเป็นครั้งแรก พบว่ามีจุดแข็งคือเพิ่มลวดลายที่หลากหลายตามสมัยนิยม ตรงนี้ผมว่าจะเป็นการเพิ่มทางเลือกในการเจาะตลาดกลุ่มใหม่" อดิศักดิ์  กล่าว

 หลังจากที่ผลิตได้สำเร็จตามจินตนาการแล้ว มาตัดทำเป็นเสื้อชุดแรก 60 ตัว มอบให้เจ้าหน้าที่สภาวัฒนธรรมนราธิวาสใส่เข้าร่วมงานวัฒนธรรมภาคใต้ ปรากฏว่าตรงนี้เองคือจุดเริ่มต้นของการตอบรับ จึงเดินหน้าศึกษาลวดลายผ่านหนังสือและตำราศิลปะทั้งในท้องถิ่นและต่างประเทศอีกมากมายโดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน และนำไปสู่การแกะบล็อกลวดลายที่ยากขึ้นกว่าเดิม เพื่อเตรียมผลิตสินค้าชุดใหม่ออกสู่ตลาด จนมีโอกาสออกแสดงในงานวัฒนธรรมปัตตานี ทำเป็นเสื้อจำนวน 200 ตัว ผ้าถุงอีก 300 ผืน ภายใต้แบรนด์เครื่องหมายการค้า "สุมาตรา" ขายหมดภายในเวลาอันสั้น จนรู้สึกมั่นใจว่าตลาดผ้าปาเต๊ะยังมีผู้ให้ความสนใจจำนวนมาก

 ระยะเวลาไม่ถึง 6 เดือน ผ้าปาเต๊ะภายใต้แบรนด์สุมาตรา เป็นที่นิยมของผู้นำท้องถิ่นที่เป็นชาวภาคใต้ ทำให้มีออเดอร์ทั้งที่จาก จ.สุราษฎร์ธานี ตรัง ภูเก็ต อย่างต่อเนื่อง ที่นอกเหนือไปจากการจำหน่ายในโชว์รูม "สุมาตรา บาติก" ย่านถนนวงศ์วิวัฒน์ในตลาด อ.สุไหโก-ลก ในราคาตั้งแต่ชิ้นละ 300-500 บาท มีลูกค้าทั้งไทยและนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียเลือกซื้อจำนวนมาก ในแต่ละเดือนขายได้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 500 ตัว มีรายได้ที่ยังไม่หักต้นทุนกว่าเดือนละ 2 แสนบาท ล่าสุดมีออเดอร์จากประเทศมาเลเซียมีเข้ามาอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
 
กว่าจะได้ผ้าปาเต๊ะ "สุมาตรา
 สำหรับขั้นตอนและวิธีการทำผ้าปาเต๊ะ "สุมาตรา บาติก" มีแบบคร่าวๆ ประกอบด้วย หลักง่ายๆ 3 ข้อ ดังนี้

 1.เริ่มจากการคิดลาย หรือออกแบบลายผ้าก่อนเพื่อนำไปสู่การทำบล็อก หรือแกะพิมพ์ ตามความลวดลายที่ต้องการ โดยแม่พิมพ์ส่วนใหญ่ที่ผลิตออกมาจะเน้นลายผ้าแบบโบราณประยุกต์เพื่อให้คงเอกลักษณ์ดั้งเดิมของผ้าปาเต๊ะที่มีกลิ่นอายของความเก่าแก่ ผสมกับความทันสมัยในปัจจุบัน ซึ่งขั้นตอนนี้เองถือว่ายากที่สุดและยังเป็นข้อแตกต่างจากการทำผ้าบาติกทั่วๆ ไปด้วย

 เนื่องจากการทำผ้าปาเต๊ะทั่วๆ ไป ส่วนใหญ่จะเริ่มจากการร่างลายลงบนกระดาษ แล้วใช้ปากกาเมจิกเขียนลายให้คมชัด ก่อนนำผ้าขาวมาวางบนลายแล้วลอกลายด้วยดินสอ 4 B, 6 B เขียนเส้นดินสอเบาๆ บนผ้าขาว เพื่อให้ได้ลวดลาย จากนั้นจึงลงมือเขียนตามลายที่ลอกลายไว้ ซึ่งจะทำให้ช้าและสีไม่สม่ำเสมอ

 2.การเตรียมน้ำเทียน โดยใช้ขี้ผึ้งอย่างดีที่มีคุณสมบัติเหนียว ตั้งบนเตาเพื่อให้ขี้ผึ้งละลาย จากนั้นใช้บล็อก หรือแม่พิมพ์จุ่มลงไปทั้งบล็อก ก่อนนำไปวางบนผ้าที่เตรียมไว้เพื่อพิมพ์ลวดลายลงไป โดยขั้นตอนนี้ต้องระวังอย่าให้น้ำเทียนเย็นจะทำให้สีไม่เข้ม และซีดจางได้ ทำลักษณะเดียวกันซ้ำๆ จนเกิดเป็นลวดลาย

 ขั้นตอนสุดท้าย 3.วิธีการต้มผ้าเอาเทียนออก ที่ต้องต้มน้ำให้เดือด จากนั้นนำผ้าลงไปต้มประมาณ 10-20 นาที แล้วนำผ้าขึ้นมาซักในน้ำสะอาด ทำแบบเดียวกันนี้ประมาณ 2-3 ครั้ง จนกว่าเส้นเทียนจะละลายออกไปหมด จึงนำผ้าไปตากถือว่าเสร็จขั้นตอนการทำแบบง่ายๆ

"สุพิชฌาย์ จันต๊ะปา"