ไลฟ์สไตล์

"ครูยุคใหม่"เป็นโค้ช

"ครูยุคใหม่"เป็นโค้ช

15 ม.ค. 2561

เรามาดูกันว่า “ครู” ในยุคนี้ต้องปรับตัวกันอย่างไร 

          “นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์” รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ยิ่งโลกพัฒนา โลกเทคโนโลยี ครูยิ่งจำเป็น จะสอนให้เด็กเป็นคนดี สื่อสารดี ความลึกซึ้ง จิตวิญญาณ ออนไลน์ทำไม่ได้ ขณะที่ "เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์” Director of Newground มองว่า ครูผู้สอนต้องก้าวพ้นจากกรอบเดิมๆ ซึ่งมีผลการศึกษาถึงวิธีการก้าวหลุดพ้นจากกรอบเดิมๆ เพื่อให้ทันเทคโนโลยียุคดิจิทัลของครูผู้สอน คือ 1.บุคลากรในระบบเก่าต้องเรียนรู้พัฒนาทักษะใหม่ต่อยอดจากทักษะเดิม (Re-skills) เพื่อให้รู้เท่าทันวิวัฒนาการเทคโนโลยีที่ทันสมัยอยู่ตลอด เรามาดูกันว่า “ครู” ในยุคนี้้ต้องปรับตัวกันอย่างไร 

                                                 \"ครูยุคใหม่\"เป็นโค้ช

           “พรพิมล บุญโคตร” ครูโรงเรียนดอยสะเก็ดวิทยาคม จ.เชียงใหม่ ผู้ได้รับรางวัลคุรุสภา ประจำปี 2560 ประเภทผู้ประกอบวิชาชีพครู เล่าว่า การเรียนการสอนของครูในยุค 4.0 ต้องปรับเปลี่ยน อดีตครูเป็นผู้ป้อนให้ แต่กระบวนการเรียนตามหลักสูตรตอนนี้ครูต้องให้เด็กเป็นผู้คิดค้น และครูเป็นโค้ช การที่เด็กจะทำอะไร เด็กต้องคิดเอง ค้นคว้าเอง หาโจทย์เอง คิดหาปัญหาจากเรื่องใกล้ตัวและไกลตัว ครูจะสอนให้เด็กหาปัญหามา และหาแนวทางแก้ไขร่วมกันระหว่างครูกับนักเรียน ที่สำคัญครูต้องมุ่งมั่นพัฒนาเด็ก ส่งเด็กให้ถึงฝั่ง ไม่ใช่มองในเรื่องธุรกิจ หรือหารายได้เข้าตนเอง ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการครองตน ระลึกตน และศึกษาหาความรู้ พัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอ ต้องเป็นน้ำไม่เต็มแก้ว ต้องจัดการองค์ความรู้ สภาพแวดล้อม ให้เหมาะสมกับเด็ก

\"ครูยุคใหม่\"เป็นโค้ช

          เด็กรุ่นใหม่ไม่ชอบการเรียนการสอนโดยให้ครูยืนหน้าห้องแล้วสอนๆ ซึ่งครูไม่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ป้อน แต่ครูต้องเป็นโค้ชแก่เด็ก โดยนวัตกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน ให้เด็กคิดสร้างงานจากความอยากรู้อยากเห็นของเด็กเอง โดยครูได้มีการพัฒนาต่อยอดให้เด็กเรียนรู้จากการทำโครงงาน และงานกลุ่ม บูรณาการเนื้อหา 8 กลุ่มสาระให้เด็กได้เรียนรู้ คือ เด็ก 1 คน จะทำ 1 โครงงาน เพื่อลดปัญหาภาระงานของเด็ก และครูทุกวิชาสามารถประเมินผลได้ทุกกลุ่มสาระ ซึ่งประเมินผลผู้เรียนจากการเรียนรู้แบบโครงงาน พบว่า เด็กเกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์ การทำงานเป็นกลุ่ม มีความรู้ที่ยั่งยืน ต่อยอดไปประกอบอาชีพในอนาคต เด็กมีวินัย มีความอดทน ความรับผิดชอบ เป็นนวัตกรรมการสอนที่เหมาะกับสังคมยุคไทยแลนด์ 4.0 และการเรียนรู้ศตวรรษที่ 21 ที่ครูและนักเรียนเรียนรู้ไปด้วยกัน    

                                                    

\"ครูยุคใหม่\"เป็นโค้ช

 นายราชศักดิ์ สว่างแวว

             ขณะที่ "ครูป้อน" ราชศักดิ์ สว่างแวว ครู คศ.1 หัวหน้ากลุ่มงานบริหารทั่วไป โรงเรียนบ้านแหลมวิทยา ผู้ส่งเสริมนักบินน้อยโรงเรียนบ้านแหลมวิทยา ออกแบบและประกอบสร้างเครื่องบินที่ใช้ใบพัดประดิษฐ์เองเข้าแข่งขันมาตั้งแต่ปี 2558 เป็นทีมแรก และได้พัฒนากันมาอย่างต่อเนื่อง ส่งแข่งขันไม่ต่ำกว่า 35 รายการ มีการลองผิดลองถูก และผลการทดลองที่ไม่ประสบความสำเร็จก็มีมากมาย เรียนรู้จากความไม่สำเร็จ เป็นจุดเริ่มต้นของการนำนักบินน้อยบ้านแหลมวิทยาสู่ ไทยแลนด์ 4.0

          “เด็กนักเรียนที่เข้ามาในชุมนุมเครื่องบินพลังยาง ส่วนใหญ่เป็นเด็กหลังห้องที่ไม่ค่อยชอบเรียนหนังสือ แต่ด้วยเครื่องบินพลังยางเป็นของเล่น (ของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์) ทำให้เด็กนักเรียนกลุ่มนี้มีความสนใจเป็นพิเศษ เครื่องบินพลังยางอาศัยหลักพลศาสตร์ วิทยาศาสตร์อากาศยาน เข้ามาใช้ในการออกแบบ และประกอบสร้าง จึงเป็นจุดเริ่มต้นของเด็กหลังห้องสู่การเรียนเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โดยใช้เครื่องบินพลังยางเป็นสื่อการสอน จากความสนุกสู่การเรียนรู้และต่อยอด...ครูและนักเรียนจึงเริ่มศึกษาหลักอากาศพลศาสตร์ และวิทยาศาสตร์อากาศยานมากขึ้น เพื่อนำความรู้ที่ได้มาออกแบบเพื่อทำให้เครื่องบินพลังยางบินได้นาน และบินได้ไกล เมื่อเรียนรู้และเข้าใจหลักการ ทฤษฎีมากขึ้นจึงทำให้นักเรียนออกแบบเครื่องบินได้ดียิ่งขึ้น” ครูป้อนกล่าว 

            ล่าสุดนักบินน้อยโรงเรียนบ้านแหลมวิทยา ได้รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 ประเภทเครื่องบินพลังยางบินนานปล่อยอิสระ และ 3D(สามมิติ) จากการเข้าแข่งขันงานศิลปหัตถกรรม ครั้งที่ 67 ปัจจุบันครูป้อน ได้ตั้งเพจชุดการเรียนรู้เครื่องบินพลังยาง เพื่อจำหน่ายสื่อการสอนเครื่องบินพลังยาง รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการทำเครื่องบินพลังยาง รวมถึงความรู้ต่างๆ ที่ใช้ในการทำเครื่องบินพลังยางให้แก่ผู้ที่สนใจและเป็นวิทยากรสอนองค์ความรู้เกี่ยวกับเครื่องบินพลังยางให้แก่สถานศึกษาที่สนใจไม่ต่ำกว่า 20 โรงเรียนแล้ว

                                                \"ครูยุคใหม่\"เป็นโค้ช

                                                  นักบินน้อยโรงเรียนบ้านแหลมวิทยา

             “ครูป้อน” บอกว่า รางวัลที่ภาคภูมิใจที่สุดในการเป็น “ครู” คือ รางวัลถ้วยพระราชทาน พลเอกหญิง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “งานเดิน -วิ่ง ประเพณี เขาชะโงกซูเปอร์ฮาล์ฟ มาราธอน ครั้งที่ 23 ประจำปี 2560” โดยนักเรียนได้รับพระราชทานรางวัลจากพระหัตถ์พระองค์ท่าน ถือเป็นความสำเร็จสูงที่สุดแล้ว เนื่องจากมีผู้เข้าแข่งขันที่มีฝีมือจากทั่วทั้งประเทศมาแข่งขันกัน

            "ตอนนี้ถือเป็นจุดสูงสุดในชีวิตแล้ว ชีวิตของการเป็นครู เหลือแต่การแบ่งปันความรู้และสิ่งที่มีอยู่ให้แก่หน่วยงาน สถานศึกษาและบุคคลที่สนใจ เครื่องบินพลังยาง และได้สอนนักบินน้อยโรงเรียนบ้านแหลมวิทยาทุกคนว่าให้รู้จักแบ่งปันในสิ่งที่มีอยู่ให้แก่ผู้อื่นด้วย เป็นการตอบแทนแผ่นดินที่เราเกิดมา" ครูป้อนกล่าว

                                          \"ครูยุคใหม่\"เป็นโค้ช

             อีกบทบาทหนึ่งที่คนเป็นครูสามารถทำได้คือการสนับสนุนให้ลูกศิษย์ไปถึงฝั่ง ด้วยการตั้งกองทุนการศึกษาทุนสนับสนุนเด็กเรียนดี มีความเสียสละเพื่อสังคม มีความกตัญญู เป็นคนดี แต่ยากจน อย่างเช่น กองทุน “คนดีศรีพนมไพร ” ที่ “พิทักษ์ บัวแสงใส” ผู้อำนวยการโรงเรียนวารีสวัสดิ์วิทยา  ดูแลอยู่ แม้ว่าจะได้ทุนประเดิมมาเพียง 5 หมื่นบาทจากครอบครัว จันฉาย นิ่มรัตนสิงห์, สุณีนารถ บุญยกิจโณทัย(ลูกเต๋า เลดี้เทรดเดอร์) ก็ตาม แต่ปัจจุบันทุนการศึกษาได้งอกเงยถึง 4 แสนบาทแล้ว

            “พิทักษ์” เล่าว่า ทุนการศึกษานี้ จะมอบให้นักเรียน ม.6 ที่จะเรียนต่อระดับปริญญาตรี ทุกปีต่อเนื่องจนเรียนจบปริญญาตรี ปีละ 5,000 บาทต่อคนเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ใฝ่เรียนรู้ และจบการศึกษาแล้วกลับเข้าสู่สังคม เป็นคนดีศรีพนมไพร ปัจจุบันมีนักศึกษาในกองทุน ตั้งแต่รุ่นที่ 1-5 จำนวน 11 คน ปีนี้คัดเลือกเพิ่มอีก 2 คน รวมเป็น 13 คน และมีนักศึกษาเรียนจบและมีงานทำแล้ว 1 คน คือ น.ส.ปิยภรณ์ พละวัฒน์ โดยการมอบทุน จะจัดมอบในวันครู 16 มกราคม ของทุกปี

\"ครูยุคใหม่\"เป็นโค้ช

             “ครูสมัยก่อนเป็นแบบอย่างของสังคม เป็นตัวอย่างที่ดี เสียสละเพื่อนักเรียน เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน ต้องเป็นคนดี มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ตั้ง ถ้าได้คนเก่งมาเป็นครูด้วยก็จะเป็นดี ถ้าไม่ใช่อย่างน้อยต้องได้คนดี จะทำให้นักเรียนได้แบบอย่างที่ดีได้ เพราะเด็กๆ จะรักครู ก็จะมีครูเป็นแบบอย่างในหลายๆ ด้าน การคัดเลือกคนดีมาเป็นครูจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมี” ประธานกองทุนคนดีศรีพนมไพร กล่าว 

            ในวันครู 16 มกราคมปีนี้ กระทรวงศึกษาธิการ หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบดูแลครูทั่วประเทศ ได้จัดกิจกรรมงานวันครู ครั้งที่ 62 ซึ่งปีนี้พิเศษกว่าทุกปี เนื่องด้วยเป็นปีแรกในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 กำหนดแก่นสาระของการจัดงานวันครูว่า “เฉลิมรัชสมัย ครูไทยพัฒนา” ขณะที่นายกรัฐมนตรีได้มอบคำขวัญวันครู ว่า “ศิษย์ดี ก็ด้วยครูดี มีศรัทธา” โดยมีกิจกรรมทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

      0 คุณภาพชีวิต [email protected]