“เชจู” ดูวิถีชาวเกาะเลาะเที่ยวธรรมชาติ
“เกาะเชจู” จังหวัดที่ได้ชื่อว่า “สายลม ผู้หญิง และหินลาวา”
ท่องเที่ยวฉบับนี้ยังคงไม่พ้นเขตน่านน้ำ “เกาหลีใต้” แต่ขอเปลี่ยนบรรยากาศจากท่องเที่ยวกลางเมืองหลวงไปที่ “เกาะเชจู” จังหวัดที่ได้ชื่อว่า “สายลม ผู้หญิง และหินลาวา” กันบ้าง ซึ่งการเดินทางไปที่ “เชจู” สามารถทำได้ทั้งนั่งเครื่องบินจากท่าอากาศยานนานาชาติคิมโพ ไปลงที่สนามบินเชจู ในเมืองโซ-กวิโพ โดยใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง หรือถ้าเลือกเดินทางด้วยการนั่งเรือเฟอร์รี่ใช้เวลานานประมาณ 5-6 ชั่วโมง เนื่องจากเชจูเป็นเกาะที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศสภาพอากาศจึงไม่หนาวจัดเหมือนภาคอื่นๆ กล่าวคืออุณหภูมิเฉลี่ย 15 องศาเซลเซียสตลอดปี แต่เรื่องลมนี่ต้องบอกว่าแรงได้ใจ!!
ถ้าพูดถึง “เชจู” อันดับแรกต้องยกให้เรื่องความอุดมสมูบรณ์ทางธรรมชาติ พนักงานขับรถบัสซึ่งพาคณะเราตะลอนเที่ยวตลอดระยะเวลา 2 คืน 3 วัน เล่าให้ฟังว่า เพราะที่นี่มีภูเขาไฟเป็นจำนวนมากผลพวงของการปะทุขึ้นมาครั้งแล้วครั้งเล่านั้นก่อให้พื้นดินอุดมสมบูรณ์จากแร่ธาตุต่างๆ ที่ไหลมากับลาวาจนกลายเป็นทรัพย์ในดินที่มีคุณค่ามหาศาล เหมาะแก่การประกอบอาชีพเกษตรกรรม ดังนั้นทั่วบริเวณเกาะไม่ว่าเราจะมองทางไหนจึงเห็นแต่สวนส้มเต็มไปหมด นี่ยังไม่รวมทรัพย์ในน้ำ จึงไม่ต้องแปลกใจว่าอาหารทะเลจะเป็นจานเด่นขึ้นชื่อประจำท้องถิ่น โดยเฉพาะ “หอยเป๋าฮื้อ” มาที่เชจูต้องได้กินสักครั้ง
เมื่อเอ่ยถึงอาหารทะเลแล้ว ขอเล่าเรื่อง “ป้านักดำน้ำ” หรือ ป้าฮันยอ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตดำน้ำจับสัตว์ทะเลด้วยอุปกรณ์ธรรมดา อย่างชุดยางสีดำ ตีนกบ หน้ากากดำน้ำ ทุ่นสีส้ม และถุงตาข่าย ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมากว่า 2,000 ปี จนกระทั่งยูเนสโกขึ้นทะเบียนให้ “ฮันยอ” เป็นหนึ่งในมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเมื่อปี 2559 เรื่องเล่าของผู้หญิงบนเกาะเชจูนั้นมีหลายกระแส แต่ที่เราได้ยินจากปากของชายหนุ่มเจ้าถิ่น เล่าว่า เหตุที่ผู้หญิงต้องลุกขึ้นมาทำงานหนักดูแลครอบครัวสารพัด ส่วนหนึ่งในอดีตผู้ชายเองก็ทำหน้าที่ออกทะเลหาปลานี่ล่ะ แต่มักสูญหายไปในเกลียวคลื่นคนแล้วคนเล่า บวกกับในยุคสมัยสงครามผู้ชายบนเกาะถูกกวาดล้างไปอีกเกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นเพื่อปกป้องผู้ชายมิให้หมดสิ้นไป หญิงสาวจึงเลือกเก็บผู้ชายไว้ในบ้าน แล้วเป็นฝ่ายออกมาทำหน้าที่ทุกอย่างแทน ไม่เว้นแม้แต่ดำน้ำจับสัตว์ทะเล กระนั้นก็ใช่ว่าผู้ชายที่นั่งกินนอนกินอยู่ในบ้านเฉยๆ นั้นจะมีศักดิ์มีสิทธิ์ใดเหนือเหล่าอิสตรี เพราะเมื่อบทบาทหน้าที่ตกเป็นของฝ่ายหญิงแล้วไซร้ ในเรื่องการตัดสินใจรวมไปถึงเรื่องเศรษฐกิจการเงินในครัวเรือนล้วนอยู่ในกำมือของพวกเธอทั้งสิ้น
ขอต่อเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตอีกสักเรื่อง ที่เชจูมี “หมู่บ้านวัฒนธรรมซงอึบ” ให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษาถึงภูมิปัญญาทางความคิดอันแยบยลที่สะท้อนออกมาทางสถาปัตยกรรมของตัวบ้าน เนื่องจากภูมิประเทศเป็นที่ราบล้อมรอบด้วยน้ำทะเล สภาพอากาศมีลมแรงและฝนตกถี่ ชาวเชจูจึงเลือกปลูกบ้านแบบทรงต่ำหลังคามุงด้วยหญ้าคา ช่วยกันลมและคุ้มฝนได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันสภาพพื้นดินเป็นดินภูเขาไฟไม่อุ้มนำ ชาวพื้นถิ่นจึงนำหญ้ามาถักเป็นเปียขนาดใหญ่แขวนพิงไว้กับต้นไม้อีกด้านวางไว้ที่ปากโอ่ง เวลาฝนตกก็จะไหลลงมาตามเชือกเปียเส้นนี้ลงในโอ่งเพื่อเก็บไว้ใช้สอยในครัวเรือน ที่เด็ดกว่านั้นในโอ่งน้ำเหล่านี้แม่บ้านเลี้ยงลูกอ๊อดไว้สำหรับกินแมลงต่างๆ พอโตได้ที่ก็จับมาปรุงอาหารเลี้ยงสามี...เห็นว่าเป็นยาชูกำลังอย่างดี
อีกสิ่งหนึ่งในบริเวณบ้านที่ขาดไม่ได้นั่นคือ “รั้ว” แต่สำหรับชาวเชจู รั้วบ้านไม่ได้มีเพื่อป้องกันขโมยขโจรเหมือนอย่างบ้านเรา แต่ “รั้ว” ซึ่งประกอบด้วยไม้กั้น 3 อัน มีไว้สื่อความหมายกับผู้ไปมาหาสู่ เช่น ถ้ายกไม้กั้น 1 อัน หมายถึงเจ้าของบ้านไม่อยู่แต่เพียงระยะเวลาสั้นๆ เดี๋ยวก็กลับบ้านสามารถรอได้ ถ้ายกไม้กั้น 2 อัน เจ้าของบ้านไม่อยู่จะกลับเข้าบ้านอีกทีตอนเย็น และถ้ายกกั้น 3 อันหมายถึงเจ้าของบ้านไม่อยู่ยาวชนิดข้ามวันข้ามคืน ถ้าเห็นแบบนี้กลับได้เลยไม่ต้องรอให้เมื่อยตุ้ม ทีนี้ในทางกลับกันถ้าหากไม้ทั้ง 3 ถูกพักลง หมายถึงมีคนอยู่บ้าน...เก๋ดีมั้ยล่ะ!!! อ่อๆๆ ส่วนที่เห็น “ตุ๊กตาหินสลักคู่” มีชื่อเรียกว่า “โทลฮารุบัง” หรือ “ตุ๊กตาหินปู่” แกะสลักจากหินลาวา ตามความเชื่อของชาวพื้นเมืองว่าเป็นเทพผู้พิทักษ์ประจำเกาะ
อีกหนึ่งความเชื่อของชาวเชจู คือ “วัดยักชอนซา" หรือ วัดน้ำศักดิ์สิทธิ์ เป็นศาสนสถานที่เก่าแก่สร้างตั้งแต่สมัยเริ่มต้นราชวงศ์โชซอน นอกจากนี้ยังเป็นวัดที่มีขนาดใหญ่มากโดยตัววัดสูงถึง 30 เมตร และมีพื้นที่กว่า 3,305 ตารางเมตร วัดยักชอนซาทั้งหมด 3 อาคารหลักคือ พระอุโบสถ ศาลเจ้า และเจดีย์ ภายในวัดจะมีพระพุทธรูปพระไวโรจนพุทธะสูงที่สุดในเกาหลีตั้งอยู่ มีความสูงถึง 5 เมตร ด้านซ้ายและขวาเป็นพระพุทธรูปสูง 4 เมตรตั้งอยู่สองฝั่งซึ่งทั้ง 3 องค์เป็นสิ่งแทนถึงอดีต ปัจจุบัน และอนาคต....ผู้คนนิยมมากราบไหว้และขอพรต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ
นอกเหนือจากเรื่องวิถีชีวิต ความงามของธรรมชาติที่ “เชจู” ไม่น้อยหน้าที่ใดในโลก และหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่ไม่ควรพลาด ได้แก่ “ยอดเขาซองซาน อิลชุบง” ซึ่งเกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟเมื่อประมาณ 100,000 ปีก่อน ปากปล่องมีขนาดค่อนข้างใหญ่ กว้างประมาณ 600 เมตร สูง 90 เมตร บริเวณรอบๆ ปากปล่องนั้นเป็นหินแหลมเกือบ 100 ยอดขึ้นอยู่ ทำให้ดูคล้ายกับมงกุฎ ยอดเขานี้อยู่บริเวณฝั่งตะวันออกของเกาะเชจู วิวที่ยอดเขานี้สวยงามมากในช่วงเช้าตรู่ตอนพระอาทิตย์ขึ้น เป็นหนึ่งในวิวที่สวยงามมากที่สุดของเกาะเชจู...สำหรับที่นี่นักท่องเที่ยวต้องมีทั้งความฟิตและใจเกินร้อยเพราะระยะทางค่อนข้างไกล แน่นอนว่าไม่ใช่ทางราบแม้ทางเดินค่อนข้างสะดวกแต่บอกเลยว่าเหนื่อยเอาเรื่องเชียวล่ะ และถ้าพลังยังเหลือก็สามารถเดินลงเขาไปอีกนิดใกล้ๆ กันมีโชว์ของ “คุณป้านักดำน้ำ” นอกจากจะสาธิตให้ดูวิธีการจับสัตว์ทะเลแล้ว อาจุมม่ายังนั่งแกะหอยเป๋าฮื้อขายให้นักท่องเที่ยวได้ชิมกันสดๆ...อีกแห่งที่ต้องออกแรงเดินจึงจะได้สัมผัสความงดงามของธรรมชาติ คือ “ประภาคารซอพจิโกจิ” ตั้งอยู่บนเนินเขาสูง จะมีทางเดินขึ้นไปยังประภาคารซึ่งเป็นจุดชมวิวที่สวยงามซึ่งสามารถมองเห็นยอดเขาซองซาน อิลชุบง ที่มีลักษณะเหมือนช้าง