
“ร.ร.นักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์” แห่งแรกของไทย
กุมภาฯ 2561 วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนและฝึกอบรมนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์เป็นแห่งแรกของประเทศไทย
จากปัญหาขาดแคลนแพทย์สาขาอัลตราซาวด์ในพื้นที่โรงพยาบาลชนบทที่มีผู้ป่วยจำนวนมากแต่เครื่องมือและจำนวนบุคลากรแพทย์มีไม่เพียงพอ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนไข้ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จึงร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยโมแนช ประเทศออสเตรเลีย จัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนและฝึกอบรมนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์
เพื่อสามารถรองรับบุคลากรด้านการแพทย์ที่มีศักยภาพระดับสากล นำไปสู่การผลิตบุคลากรทางการแพทย์ นักวิจัย และนักพัฒนา โดยมีความรู้ความสามารถที่้เป็นสากล และนำไปใช้พัฒนาชนบทเพื่อสุขภาวะของประชาชนในถิ่นทุรกันดาร
ภาพจาก เพจ Facebook Sonographer school CRA
หลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ประกอบด้วย 2 หลักสูตร คือ 1. หลักสูตรอบรมระยะสั้น 3-5 วัน รุ่นละ 30 คน ผู้เข้าอบรมจะเป็นแพทย์ นักรังสีการแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ที่มีความรู้ ความสามารถเฉพาะเรื่องอัลตราซาวด์อยู่แล้ว
2. หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ รุ่นละ 20 คน ซึ่งหลักสูตรนี้ผู้เข้าร่วมจะต้องจบการศึกษาสาขารังสีเทคนิค วิทยาศาสตร์สุขภาพ จึงจะเข้าอบรมได้ โดยมีหัวข้อการอบรมดังนี้ 1.อัลตราซาวด์ช่องท้อง 2.อัลตราซาวด์ทางสูติศาสตร์และระบบสืบพันธุ์ 3.อัลตราซาวด์เต้านมและต่อมไทรอยด์ 4.อัลตราซาวด์หลอดเลือดและการถ่ายภาพหลังผ่าตัด 5.อัลตราซาวด์กล้ามเนื้อและกระดูก 6.อัลตราซาวด์ทางกุมารเวชศาสตร์ 7.การทำวิจัยสาขาอัลตราซาวด์ทางการแพทย์
ระยะเวลาในการดำเนินการเรียนการสอน หลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้นเริ่มช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2561 เป็นต้นไป และหลักสูตรปริญญาโทแบ่งเป็น 2 ภาคการศึกษา โดยภาคการศึกษาที่ 1 เดือนสิงหาคม – ธันวาคม 2561 และภาคการศึกษาที่ 2 เดือนมกราคม – พฤษภาคม 2562
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจิรพร เหล่าธรรมทัศน์
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจิรพร เหล่าธรรมทัศน์ ประธานโครงการจัดตั้งโรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ กล่าวว่า โรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์เพื่อมุ่งเน้นผลิตนักอัลตราซาวด์ให้กับประเทศไทย โดยเฉพาะโรงพยาบาลในต่างจังหวัดและสถานพยาบาลห่างไกล เพื่อช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์
ภาพจาก เพจ Facebook Sonographer school CRA
โดยในระยะต้นมุ่งเน้นในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น แพทย์ พยาบาล นักรังสีทางการแพทย์ ให้สามารถถ่ายทอดความรู้ตามแนวทาง “ครูผู้สร้าง” “เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่มีอยู่ตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศให้มีความสามารถในการใช้เครื่องอัลตราซาวด์ได้อย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย” ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจิรพร กล่าว
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจิรพร กล่าวต่อว่า ในปัจจุบันเครื่องอัลตราซาวนด์ชนิดต่างๆ รวมถึงอัลตราซาวนด์ขนาดเล็กแบบพกพาส่วนตัวได้มีการใช้แพร่หลายขึ้น ทำให้องค์ความรู้ในการใช้อัลตราซาวนด์สำหรับทางการแพทย์แพร่หลายได้มากขึ้น และกว้างไกลขึ้นนอกเหนือจากชุมชนรังสีแพทย์
นอกจากนี้ในโรงเรียนแพทย์หลายแห่งได้มีการจัดตั้งห้องเรียนสำหรับฝึกอัลตราซาวนด์สำหรับนักศึกษาแพทย์ ทำให้เห็นศักยภาพของการใช้เครื่องตรวจชนิดนี้ว่าจะมีการกระจายกว้างหลายยิ่งขึ้น ทั้งนี้รวมไปถึงนักศึกษาแพทย์ที่จบออกไปทำงานในโรงพยาบาลชุมชน และตามสถานพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศไทย