Lifestyle

มธ.ทำ“Bike Sharing” ครั้งแรกของประเทศ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มธ.ผนึก ofo เปิดให้บริการ Bike Sharing ครั้งแรกในประเทศไทย ขับเคลื่อนแนวคิด ยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยการสัญจรที่สะดวก ปลอดภัย ไร้มลพิษ

       มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ถือเป็นต้นแบบแนวคิด Smart Campus ที่ศูนย์รังสิต ภายใต้เนื้อที่กว่า 1,757 ไร่นักศึกษารวมกว่า 30,000 คน ต้องวางแผนเรื่องการคมนาคมสัญจรภายใน รณรงค์ให้เกิดการใช้จักรยานให้เกิดเป็นรูปธรรม มีบริการเช่าจักรยานภายในมหาวิทยาลัย และการจัดสร้างเลนจักรยาน เพื่อให้เกิดความสะดวกและปลอดภัยในการขับขี่  ล่าสุด ได้ลงนามความร่วมมือกับ ofo (โอโฟ่) ประเทศไทย ผู้นำบริการจักรยานสาธารณะอัจฉริยะอันดับหนึ่งของโลก เปิดให้บริการครั้งแรกในประเทศไทยที่มธ. ศูนย์รังสิต ตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม

มธ.ทำ“Bike Sharing” ครั้งแรกของประเทศ

    ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล และ นพพล ตู้จินดา

       ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มธ. กล่าวว่ามธ.มีนโยบายในการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว โดยได้เริ่มรณรงค์ให้นักศึกษา อาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัยมาขี่จักรยานในมหาวิทยาลัยตั้งแต่ปี 2550 รวมถึงโครงการต่างๆ ที่ดำเนินการเพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ ธนาคารขยะ ต่อมาเพื่อให้เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความยั่งยืนกับสิ่งแวดล้อม ต้องดำเนินการทั้งสิ่งแวดล้อม ประชาชน และนำเทคโนโลยี 4.0 เข้ามาช่วยในการรณรงค์ การสร้างสังคมช่วยลดมลภาวะ มลพิษ คาร์บอนไดออกไซด์ สร้างสังคมสีเขียว สังคมสิ่งแวดล้อม 

      “มหาวิทยาลัยได้รณรงค์ ส่งเสริมให้มีการใช้จักรยานมา10 ปี โดยเริ่มให้มีการยืมจักรยาน ยุคแรก มีจักรยาน 500 คัน นักศึกษาต้องมีบาร์โดค มีผู้ให้บริการประจำจุดต่างๆ ในการยืมจักรยาน ต่อมายุคที่ 2 เข้าสู่ยุค Bike Sharing  ยืมที่ไหน คืนที่ไหนก็ได้ โดยใช้บัตรนักศึกษายืมจักรยานได้ทันที และยุคที่ 3 Bike Sharing  ร่วมมือกับ ofo ที่สะดวกในการให้บริการมากขึ้น นักศึกษาสามารถยืมที่ไหน คืนที่ไหน และใครที่มามธ.ก็สามารถใช้บริการได้ เพียงโหลดแอพ และสแกนบาร์โคดก็สามารถใช้ได้ทันที ซึ่ง 3 เดือนที่ได้ทดลองใช้ มีนักศึกษาใช้จักรยานในมหาวิทยาลัยมากขึ้น จากเดิมมีผู้ใช้บริการเพียง 5,000 คน จากประชากร 35,000 คน หรือ 1 ใน 7 เมื่อนำ Bike Sharing   จากofo มีผู้ใช้บริการจักรยาน 7,000 คน 20% และคาดว่าจะมีการใช้เพิ่มอีกเท่าตัว หรือประมาณ 40%” ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว 

มธ.ทำ“Bike Sharing” ครั้งแรกของประเทศ

       ขณะนี้ มธ.ได้ดำเนินการจัดการเพิ่มเลนจักรยาน รวมถึงการสร้างวินัยในการใช้จักรยานให้มากขึ้น ว่าที่ไหนควรจอด ไม่ควรจอด และรณรงค์ให้นักศึกษา อาจารย์ บุคลากรหันมาใช้จักรยานสัญจรในมหาวิทยาลัยมากขึ้น เพื่อลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แก้ปัญหาโลกร้อน และรักษาสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่ต่อไป 

     นพพล ตู้จินดา ผู้จัดการทั่วไป ofo ประเทศไทย กล่าวว่า ภายหลังจากการทดลองให้บริการจักรยาน ofo ในมหาวิทยาลัยมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม พบว่า มีนักศึกษา คณาจารย์ บุคลากรของมหาวิทยาลัยให้การตอบรับดีมาก โดยปัจจุบันมีจุดจอดกระจายตามอาคารเรียนทุกคณะวิชา ห้องสมุด และมีการเพิ่มจักรยานให้เพียงพอกับความต้องการเป็น 3,800 คน จากช่วงแรกให้บริการจักรยานสาธารณะ Bike Sharing  เพียง 1,000 คน โดยแต่ละวันมีการใช้งานสูง 10,000 ครั้ง หรือ 90% ซึ่งจักรยานหนึ่งคันมียอดการใช้งานสูงถึง 2-3 ครั้งต่อวันซึ่งมีการใช้งานต่อเนื่องทั้งวันและจะมียอดการใช้งานสูงมากในช่วงเช้ากับช่วงเย็นเพราะเป็นช่วงที่ในมหาวิทยาลัยรถติดมาก นักศึกษาเลยหันมาใช้จักรยานกันเพิ่มขึ้น และยังพบว่า นักศึกษานัดกันมาปั่นจักรยานตอนเย็นๆ เพื่อเป็นอีกทางเลือกของการออกกำลังกายอีกด้วย โดยขณะนี้การใช้บริการ ofo ยังเปิดให้ใช้ฟรีโดยไม่เสียค่ามัดจำและค่าบริการ โดยได้ยืดเวลาการใช้งานฟรีไปจนถึงสิ้นปี 2560

     “ที่ผ่านมาพบว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มีบริการจักรยานเช่าสำหรับนักศึกษาอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งแต่ละปีต้องใช้งบประมาณหลายล้านบาทในการบำรุงรักษาจักรยานเหล่านั้น โดยหลังจาก ofo ได้เข้ามาให้บริการ Bike Sharing ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้เลย รวมถึงเทคโนโลยีของ ofo ยังช่วยทำให้การบริหารจัดการเป็นระบบระเบียบยิ่งขึ้น อาทิ การค้นหาจุดจอดจักรยานผ่านแอปพลิเคชั่น และระบบจีพีเอสที่ติดตั้งไว้ที่จักรยานทุกคันเพื่อความสะดวกในการติดตามจักรยาน รวมถึงการเก็บสถิติการใช้งานและเส้นทางการใช้งานเพื่อการบริหารจุดจอดและจำนวนจักรยานได้อย่างเหมาะสมและเป็นระเบียบเรียบร้อยในมหาวิทยาลัย และการคุ้มครองผู้ขับขี่ด้วยประกันอุบัติเหตุหากเกิดจากการขับขี่จักรยาน ofo อีกด้วย” นพพล กล่าว

มธ.ทำ“Bike Sharing” ครั้งแรกของประเทศ

     ปัจจุบัน Bike Sharing มีใช้อยู่ 2 ที่ ได้แก่ มธ.ศูนย์รังสิต ,อ. เมืองจ.ภูเก็ต และม.สงขลานครินทร์วิทยาเขตภูเก็ต ที่มีจักรยานให้บริการแล้วกว่า 100 คัน โดยอนาคตจะมีการขยายการให้บริการในมหาวิทยาลัยและหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ 

       น้องท้อป-ทายานนท์ พงษ์ศิริ และน้องมายด์ -อติญา ลีลาเหมรัตน์ นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ มธ. เล่าว่าเขาทั้ง 2 คนได้ใช้บริการ Bike Sharing มาตลอด เพราะสะดวกในการใช้สัญจรในบริเวณมธ.ศูนย์รังสิต ซึ่งแต่ละคณะ อาคารเรียน ห้องสมุด หรือสถานที่ต่างๆ อยู่ห่างกันออกไป ทำให้ไม่ต้องรอใช้บริการรถสาธารณะอื่นๆ ของมหาวิทยาลัย เป็นการออกกำลังกายอีกด้วย โดยแต่ละวันใช้บริการ Bike Sharing วันละ 2-3 ครั้ง   โดยระบบ Bike Sharing ของofo มีจีพีอาร์เอส มีเครื่องวัดระยะทาง บอกถึงการลดใช้พลังงาน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นการปลูกฝังให้นักศึกษาเห็นความสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อม ลดการใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์

มธ.ทำ“Bike Sharing” ครั้งแรกของประเทศ

    “ตอนนี้เลนจักรยานมีจำนวนมากขึ้น จักรยานก็มีจำนวนมาก แต่หากจะให้นักศึกษาใช้บริการมากขึ้นเรื่อยๆ ต้องมีการจัดเลนจักรยานเพิ่มขึ้น และรณรงค์ให้นักศึกษาเกิดจิตสำนึกในการร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อม ลด ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำร้ายสิ่งแวดล้อม ทำร้ายโลก ยิ่งปัจจุบันเทรนด์การปั่นจักรยานได้รับความนิยม นักศึกษาให้ความสนใจมากขึ้น หากมีการปรับสภาพพื้นที่ให้เหมาะสมจะส่งเสริมให้นักศึกษาหันมาปั่นจักรยาน ใช้ Bike Sharing มากขึ้นอย่างแน่นอน”น้องมายด์ กล่าวทิ้งท้าย

            0 ชุลีพร อร่ามเนตร 0 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ