Lifestyle

จากใจนักเรียนทุนของพ่อหลวงร. 9

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เคทีซี หรือบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จัดเสวนา “ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ...จากนักเรียนทุนของพ่อ”

       น.ส.พจนีย์พร ชำนาญภักดี ผู้อำนวยการ-ทรัพยากรบุคคล “เคทีซี” กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นนักพัฒนาที่พัฒนาประเทศชาติในทุกด้าน เพื่อให้เกิดคุณประโยชน์แก่คนไทยทุกคน ซึ่งการเป็นนักพัฒนาของพระองค์ท่านทรงมองว่าไม่สามารถพัฒนาคนเดียวได้ ต้องมีการพัฒนาคนอื่นๆ ร่วมด้วย

      ซึ่งพระองค์ท่านได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาการศึกษาเป็นอย่างมาก โดยได้จัดตั้งมูลนิธิอานันทมหิดล ซึ่งเป็นทุนที่ไม่ต้องคืน จะเลือกเรียนที่ไหน ประเทศใดก็ได้ โดยไม่ต้องชดใช้ทุกคืน เพียงหวังให้ทุกคนที่ได้รับทุนนำความรู้ ความสามารถกลับมาพัฒนาประเทศไทย

จากใจนักเรียนทุนของพ่อหลวงร. 9

                               ดร.เจน ชาญณรงค์

     ดร.เจน ชาญณรงค์ ผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล แผนกวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ ปี พ.ศ.2543 กล่าวว่า ตนสำเร็จการศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนจะได้รับทุนอนันทมหิดล และไปจบการศึกษาระดับสูงที่ต่างประเทศ ซึ่งตอนนี้ผ่านมาแล้ว 24 ปีถึงจะไม่ได้ทำงานด้านการศึกษา

    แต่มาทำงานภาคธุรกิจ คงยึดหลักการทำงานตามแบบอย่างพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิอดุลยเดช ทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ไม่ใช่เพียงการทำเกษตร แต่การใช้ชีวิตของทุกคนสามารถยึดหลักดังกล่าวโดย โดยต้องดำเนินชีวิตสายกลาง รู้จักประมาณตน มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันที่ดี มีความรู้คู่คุณธรรม นำไปสู่สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง รวมถึงต้องมีความเพียร ความอดทน และอย่าทำทุกอย่างตามผู้อื่น

จากใจนักเรียนทุนของพ่อหลวงร. 9

    “แนวพระราชดำรัส หลักคำสอนของพ่อหลวง รัชกาลที่ 9 ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไรก็สามารถนำมาใช้ได้ ยิ่งการเป็นนักธุรกิจอาจถูกมองได้ทั้งดีและไม่ดี และการทำงานกับผู้คนหลากหลาย ไม่ใช้ทุกคนที่จะส่งเสริมให้เราประสบความสำเร็ต เราต้องคนดีที่ไม่เอาเปรียบผู้อื่น ซึ่งในสังคมขณะนี้ คนดีมีความจำเป็นอย่างมาก เพราะหากสังคมไม่มีคนดีอยู่ ประเทศก็ไม่สามารถเจริญก้าวหน้าได้ การเป็นนักธุรกิจแม้จะเดินช้าลง แต่หากเดินเร็วแล้วเอาเปรียบผู้อื่นก็ไม่ควรกระทำ การทำอะไรเพื่อประเทศชาติ จะไปทำทุกอย่างตามต่างชาติคงไม่ได้ เราต้องมองมองว่าอะไรที่ประเทศต้องการ ความรู้อะไรที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ น้องๆ ที่ได้รับทุนอนันทมหิดล ถือเป็นบุญที่ยิ่งใหญ่ ให้น้อมนำพระราชดำรัส หลักคำสอนของพ่อหลวงมาใช้ให้เหมาะกับสิ่งที่ประเทศต้องการ ต้องมีความเพียรพยายาม หรือความสำเร็จช้าก็ต้องพยายาม ที่สำคัญต้องเป็นคนดี”ดร.เจน กล่าว

       ด้าน ดร.กฤชชลัช ฐิติกมล ผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล แผนกธรรมศาสตร์ ปี พ.ศ.2533 กล่าวว่าตนเติบโตมาในโรงเรียนกลางๆ แต่ด้วยความที่พ่อแม่อยากให้เรียนจบปริญญาตรีเพื่อทำงานหาเลี้ยงตนเองได้ ทำให้มีความตั้งใจเรียนหนังสือจนสอบติดเข้าเรียนต่อวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้รับทุนอนันทมหิดล

จากใจนักเรียนทุนของพ่อหลวงร. 9

 ดร.กฤชชลัช ฐิติกมล

      ซึ่งเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่ง เพราะได้เรียนต่อทั้งระดับปริญญาโทและปริญญาเอก โดยเมื่อจบการศึกษาจากสหรัฐอเมริกา ก็ได้มาทำงานเป็นอาจารย์สอนนักศึกษา จนระยะหนึ่งก็ผันตัวมาเป็น ทำธุรกิจ เอาระบบไอทีมาใช้พัฒนาธุรกิจ องค์กร และทำประโยชน์เพื่อประเทศไทยให้ก้าวไปสู่ยุคดิจิตอลได้อย่างสมบูรณ์

      มูลนิธิอานันทมหิดล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งขึ้น ด้วยทรงพระราชหฤทัยในสวัสดิภาพ และความเป็นอยู่ของพสกนิกร ทรงตระหนักว่าประเทศไทยมีผู้เชี่ยวชาญ มีคนเก่ง คนดี มีคุณภาพอีกมาก ควรส่งเสริมให้โอกาสคนเหล่านี้ได้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น

    โดยขณะนี้มีทั้งหมด 8 แผนก ไก้แก่ แผนกแพทยศาสตร์ แผนกวิทยาศาสตร์ แผนกเกษตรศาสตร์ แผนกธรรมศาสตร์ แผนกอักษรศาสตร์ แผนกทันตแพทยศาสตร์ แผนกสัตวแพทยศาสตร์ และแผนกวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งทุกแผนกล้วนมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศไทย

จากใจนักเรียนทุนของพ่อหลวงร. 9

    "ทุกคนที่ได้ทุนดังกล่าว อยากให้นำสิ่งที่ได้เรียนรู้ ประสบการณ์จากต่างประเทศที่เราไปศึกษาเล่าเรียนมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย โดยการใช้หลักการทรงงานของพระองค์ท่านเป็นอย่างในการทำงานของตนเอง เราจะทำอะไร ทำเพื่ออะไร และจะมีประโยชน์อย่างไร อยากให้ทุกคนมีหลักคิด หลักวิชา ศึกษารู้จริงให้ถ่องแท้ เข้าถึงง่ายและเหมาะสมกับทรัพยากรของประเทศไทย” ดร.กฤชชลัช กล่าว

    ผศ.ดร.วรภรรณ เรืองผกา ผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล แผนกเกษตรศาสตร์ ปี พ.ศ.2541 กล่าวว่าจบคณะบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งหลังจากได้รับทุนอนันทมหิดล ก็ได้ไปศึกษาต่อเกี่ยวกับระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการธุรกิจยังต่างประเทศ  เมื่อกลับมาก็เป็นอาจารย์สอนที่มก.ก่อนจะย้ายมาเป็นอาจารย์สอนที่  ม.มหดิล ในปัจจุบัน             ตลอดระยะเวลา 21 ปี ในการเป็นอาจารย์ได้ทำหน้าที่สั่งสอน ถ่ายทอดความรู้แก่นักศึกษา และทำงานวิจัยเพื่อพัฒนาชุมชน นำความรู้ไปช่วยประชาชนให้มากที่สุดเท่าที่เราทำได้ โดยงานวิจัยก็ไม่ใช่เป็นงานวิจัยที่เราอยากทำ แต่ต้องเป็นงานวิจัยที่มีประโยชน์ต่อคน

จากใจนักเรียนทุนของพ่อหลวงร. 9

     เป็นบุญของตนเอง ที่ได้เป็น 1 ใน 8 ที่ได้รับทุนอานันทมหิดล เพราะประเทศไทยมีคนเก่งจำนวนมาก และทุนนี้มีความพิเศษ ไม่มีการผูกมัดใดๆ ทั้งสิ้น ใครจะเรียนอะไรก็เรียน จะกลับมาประเทศไทยหรือไม่ก็ได้ แต่ทุกคนที่ได้ทุนล้วนกลับมาพัฒนาประเทศไทย

    ซึ่งสาเหตุที่ได้รับทุนนอกจากตั้งใจเรียนจนได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่งแล้ว ยังมีความมีความซื่อสัตย์ มีวินัยในตนเอง ทำให้ได้รับคัดเลือก โดยการรับทุนครั้งนี้ ได้รับคัดเลือกในครั้งแรกแต่ไม่ได้ไปศึกษาต่อทันที เนื่องจากขณะนี้มี 2 คนที่ได้รับทุน ทำให้ได้ไปในปีถัดมา

     "ซึ่งครั้งหนึ่งที่ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพฯ พระองค์ท่านทรงจำชื่อเราได้ และรู้ว่าเราเป็นอาจารย์ ท่านบอกว่าท่านเลือกเราและอยากให้เราเป็นครูตลอดไป เพื่อนำความรู้ที่ได้เรียนมาถ่ายทอดพัฒนาคนต่อไป เป็นความประทับใจที่มิรู้ลืม เพราะเราเป็นใครก็ไม่รู้ แต่ท่านเลือกเราให้ได้รับทุน ตลอด 21 ปี จึงทำหน้าที่เป็นอาจารย์มาที่ได้นำหนักการทรงงานของพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวปฎิบัติในการทำงาน และการใช้ชีวิต ทั้งการประหยัด การออม เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" ผศ.ดร.วรภรรณ กล่าว

      ผศ.ดร.วรภรรณ เป็นอาจารย์และนักวิจัยที่ทำงานด้านระบบสารสนเทศ ทั้งในแวดวงการศึกษา และโครงการพระราชดำริต่างๆ โดยมุ่งเน้นเข้าใจชุมชน รากเหง้าของปัญหาแต่ละพื้นที่ และความต้องการของชุมชนคืออะไร เมื่อเข้าใจแล้วต้องมองว่าเรามาเพื่ออะไร ต้องหวังให้คนในชุมชนอยู่ดี กินดี อยู่ได้ด้วยตนเอง และถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้คนในชุมชน

    รวมถึงนักศึกษา รู้จักการใช่คุณธรรมนำความรู้ เพราะถ้ามีความรู้มากมายแต่ไม่เป็นคนดีก็คงไม่สามารถนำพาประเทศให้เจริญและมีสุขได้ อีกทั้งต้องรู้จักหน้าที่ของตนเอง มีความกตัญญูต่อพ่อแม่ และพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 ที่สำคัญในสังคมมีทั้งคนดีและคนไม่ดี ซึ่งเมื่อไม่สามารถเปลี่ยนทุกคนให้เป็นคนดีได้ ก็ไม่ควรให้อำนาจแก่คนไม่ดี ทุกคนต้องช่วยกัน

จากใจนักเรียนทุนของพ่อหลวงร. 9

 ดร.ปัญญา แซ่ลิ้ม

       ดร.ปัญญา แซ่ลิ้ม ผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล แผนกเกษตรศาสตร์ ปี พ.ศ.2548 กล่าวว่า มาจากครอบครัวที่พ่อแม่ค้าขาย ไม่ได้มีรายได้มาก ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราตั้งใจเรียนมาตลอด เพราะเรารู้จักหน้าที่ของตนเอง ทำให้พ่อแม่สบายใจ ตอนแรกถึงจะเป็นเด็กหลังห้อง หากเรามีความเพียรพยายาม อดทน มุ่งมั่น และรู้จักหน้าที่ของตนเราก็จะกลายมาเป็นเด็กหน้าห้องได้ หลังจากจบการศึกษาคณะประมง เกียรตินิยมอันดับ 1 ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ได้รับพระราชทุนศึกษาต่อระดับปริญญาโทและเอก

     โดยส่วนตัวสนใจด้านพันธุศาสตร์และสถิติ จึงได้เรียนเกี่ยวกับการปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำ ซึ่งขณะนี้กำลังรอบรรจุเข้าทำงานกลุ่มวิจัยและพัฒนา กองพระราชดำริ ของกรมประมง โดยมุ่งหวังจะนำความรู้ความสามารถของตนเองมาพัฒนาประเทศ สร้างบริบูรณ์แก่สัตว์น้ำ

   "จะนำความรู้ ความสามารถที่มีถ่ายทอดไปสู่คนรุ่นหลัง โดยขณะนี้ได้เป็นอาจารย์พิเศษตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อนำความรู้ไปมอบให้แก่นักศึกษา เยาวชนของไทย เพราะการที่ได้รับพระราชทุน ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณสูงที่สุด เราเป็นเพียงคนธรรมดาคนหนึ่ง ที่ตั้งใจเรียน เพราะเห็นความลำบากของพ่อแม่ เปลี่ยน  ในฐานะเป็นลูกพ่อแม่ต้องตั้งใจเรียน ทำให้ท่านภูมิใจ แม้เราจะมีภาวะไม่พร้อมทางเศรษฐกิจในการศึกษาเล่าเรียน ส่วนในฐานะคนไทย ลูกของพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 สิ่งที่ตอบแทนบุญคุณของพระองค์ท่านได้ คือการนำความรู้กลับมาพัฒนาประเทศ รู้หน้าที่ของตนเอง นำความรู้ความสามารถที่มีคืนสู่สังคม" ดร.ปัญญา กล่าว

        ขณะนี้ “ดร.ปัญญา” กลับมาเมืองไทยได้เพียง 3เดือน ซึ่งเขามองว่ายังต้องเรียนรู้อะไรอีกมากมาย เพราะประสบการณ์ต่างแดนกับบริบทของประเทศไทยแตกต่างกัน รวมถึงพยายามเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยต่างๆ หาช่องทางนำความรู้ของตัวเองมาใช้ในบริบทของไทย ถ่ายทอดแก่เด็กรุ่นใหม่

       "ผมคิดมาตลอด แม้ตัวเรามีความรู้ความสามารถขนาดไหน เราคนเดียวไม่สามารถแก้ไขได้ จะทำได้ต่อเมื่อทุกคนต้องช่วยกัน การที่เรานำความรู้ไปมอบแก่เด็ก ให้ได้เห็นความสำคัญ มีส่วนร่วม เปลี่ยนแปลงประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการวิจัย หรือพัฒนา ล้วนมีความสำคัญในการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ ให้เกิดผลแก่คนไทย เกษตรกรของไทย โดยต้องนำหลักคำสอน การใช้ชีวิตของพระองค์ท่านเป็นแบบอย่าง ทั้งเรื่องความเพียร จริงๆ โดยส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรียน พยายาม คนเราจะประสบความสำเร็จต้องมีความอดทน ถ้าเรายอมแพ้เราก็จะหยุดอยู่แค่นั้น แต่ถ้าเราอดทนต่อไป เราก็จะถึงจุดหมายที่เราตั้งใจไว้ รวมถงต้องมีความสามัคคี เราคนเดียวไม่สามารถทำอะไรได้  และต้องมีหลักการพัฒนา มีความยืดหยุ่นยึดเพียงตำราอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองตามหลักความเป็นจริงในสังคมไทยด้วย" ดร.ปัญญา กล่าว

จากใจนักเรียนทุนของพ่อหลวงร. 9

     อย่างไรก็ตาม หากคนไทยทุกคนนำหลักคำสอน พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาใช้ ขอเพียงมีปัญญาที่เฉียบแหลม ความเพียรที่บริสุทธิ์ กำลังกายที่แข็งแรง เชื่อว่าความสำเร็จ ผลดีจะเกิดขึ้นทั้งตัวเราเอง ครอบครัว และประเทศชาติอย่างแน่นอน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ