ไลฟ์สไตล์

"ภาวะหายใจเร็ว"จากภาวะโศกเศร้าเสียใจ

"ภาวะหายใจเร็ว"จากภาวะโศกเศร้าเสียใจ

20 ต.ค. 2560

กรมสุขภาพจิต แนะเทคนิคการฝึกหายใจ เมื่อเกิดภาวะหายใจเร็ว  

            น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ตลอด 1 ปี  ที่ผ่านมา จากการให้บริการด้านสุขภาพจิต ที่ท้องสนามหลวง นอกจาก พบภาวะโศกเศร้าเสียใจแล้วภาวะหายใจเร็ว (Hyperventilation syndrome) เป็นอีกหนึ่งอาการที่พบบ่อยเช่นกัน ลักษณะอาการ คือ หายใจถี่ อาจจะหายใจตื้นหรือหายใจลึก  แน่นหน้าอก  หายใจไม่ออก  รู้สึกหัวใจเต้นแรง  บางครั้งรู้สึกชาตามแขน  ศีรษะเบา  ปวดศีรษะ  อ่อนเพลีย  ใจสั่น  เจ็บหน้าอก  ในรายที่เป็นรุนแรงจะหมดสติ  หรือมีอาการเกร็ง  มือจีบ  คล้ายอาการชักเกร็ง  แต่ผู้ป่วยจะรู้สึกตัวดี ไม่สับสน
           สาเหตุ เกิดจากการเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนใจ หรือ ขาดการพักผ่อน ตลอดจน เป็นโรคทางกาย เช่น  หอบหืด  ภาวะเป็นกรดในเลือดจากเบาหวาน  น้ำตาลในเลือดต่ำ ภูมิแพ้  โรคของต่อมไทรอยด์  หรือโรคเกี่ยวกับระบบหัวใจ ทั้งนี้ ขอย้ำว่า  อาการที่เกิดขึ้นหายได้ และไม่น่ากลัวแต่อย่างใด การหายใจที่ถูกต้องและการให้ยาจะช่วยให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้น โดยคาดว่า ภาวะหายใจเร็วนี้ จะยังคงพบในช่วงงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ อย่างไรก็ตาม ได้เตรียมความพร้อมรองรับการให้บริการดูแลช่วยเหลือไว้แล้ว เบื้องต้นได้มีการอบรมให้ความรู้กับทีมจิตอาสาทูบีนัมเบอร์วันที่จะเดินเท้าค้นหากลุ่มเสี่ยงเพื่อให้การดูแลช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงทีและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น 
              อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ในการช่วยเหลือ จะมีการประเมินภาวะทางกาย จากการหายใจ ชีพจร และโรคประจำตัว ซึ่งหากพบว่าผิดปกติจะแจ้งทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจ หรือทีม MCATT แต่ถ้าไม่ผิดปกติ จะสอนเทคนิคการหายใจเพื่อให้หายใจช้าลง ถ้ายังไม่ดีขึ้น จะให้ผู้ป่วยหายใจในถุงกระดาษเจาะรูเล็ก หรือกรวยกระดาษ  ร่วมกับฝึกหายใจ และถ้าหากผ่านไป 5 นาทียังไม่ดีขึ้น จะส่งแพทย์เพื่อพิจารณาให้ยารับประทานหรือฉีดเข้าหลอดเลือดดำช้า ๆ
             สำหรับ เทคนิคการฝึกหายใจ เพื่อให้หายใจช้าลงนั้น จะเริ่มด้วย การหายใจเข้าและออกอย่างช้าๆ แล้วกลั้นหายใจ  นับ 1 ถึง 5  เมื่อนับถึง 5 แล้ว  ให้หายใจออก  พร้อมกับจินตนาการภาพตัวเองกำลังผ่อนคลาย หลังจากนั้น หายใจเข้าและออกช้า ๆ อย่างละประมาณ 3 วินาที  ให้สังเกตว่าลมหายใจกระทบขอบในของจมูกขณะหายใจ  พร้อมกับจินตนาการภาพตัวเองกำลังผ่อนคลายทุกครั้งที่หายใจออก  (โดยรวมหายใจ เข้าออก 10 ครั้ง / นาที)  โดยทุก1นาที หรือเมื่อหายใจครบ 10 ครั้ง ให้กลั้นหายใจนับ 1 ถึง 5  และเริ่มหายใจเข้าและออกช้าๆ อย่างละประมาณ 3 วินาที แล้วฝึกหายใจไปเรื่อยๆ จนอาการสงบ