Lifestyle

"ร.ร."คือที่สร้างคนเคล็ดลับ "บดินทร"ติด "1ใน5"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ใครจะคาดคิดว่าโรงเรียนเล็กๆ ในทุ่งกว้างที่ไร้ร้างผู้คน ห่างไกลเส้นทางคมนาคม มีเส้นทางเข้าออกเพียงทางเดียว จากคลองเจ้าคุณสิงห์ที่เชื่อมต่อคลองแสนแสบ จะกลายเป็นโรงเรียนในฝัน "ติด 1 ใน 5" ที่ผู้ปกครองอยากส่งลูกมาเรียน

 แต่ด้วยความกล้าหาญและมีวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกลของสุภาพสตรีที่ยิ่งใหญ่วงการศึกษาไทย "คุณหญิงบุญเลื่อน เครือตราชู" ประกาศจัดตั้งโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ณ ที่ดินทุ่งนาเกือบ 40 ไร่ ซึ่งคุณหญิงนครราชเสนี (เจือ สิงหเสนี) เหลนของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) มอบให้ มีตรา "พระเกี้ยว" เป็นสัญลักษณ์เหมือนกับ ร.ร.เตรียมอุดมศึกษา เมื่อพุทธศักราช 2513

 แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์เกือบ 40 ไร่ แห่งท้องทุ่งบางกะปิ อันเป็นที่รวมพลเพื่อไปทำศึกกับญวนของท่าน "เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)" บรรพบุรุษของ "คุณหญิงเจือ นครราชเสนี (สิงหเสนี)" ให้เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่ นับเป็นภาระที่ยิ่งใหญ่ "ฯพณฯ สุกิจ นิมมานเหมินท์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในสมัยนั้น ให้เกียรติวางศิลาฤกษ์เพื่อสร้างอาคาร 4 ชั้น ที่มีทางเชื่อมตลอด จากการออกแบบของ "ดร.ก่อ สวัสดิพานิช" อดีตอธิบดีกรมสามัญศึกษา

 2 ปีแรก "ลูกบดินทร" รับนักเรียนชั้น ม.ศ.1 และ ม.ศ.4  ฝากเรียนที่ ร.ร.เตรียมอุดมศึกษา มี "อาจารย์เฉลิม สิงหเสนี" เป็นอาจารย์ใหญ่คนแรก จวบจนปีการศึกษา 2516 และ 2517 ชาวบดินทรเดชา ทั้งผู้บริหาร ครูอาจารย์ทั้งหลายจึงหอบเสื่อผืนหมอนหลายใบมาประจำทำราชการ ณ โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ถนนลาดพร้าว ซอย 86 กรุงเทพฯ กันครบถ้วน

 "อมรรัตน์ ปิ่นเงิน" หนุ่มน้อยย่ำโคลนตมแห่งทุ่งแสนแสบ มาสอนลูกบดินทรตั้งแต่ยุคบุกเบิก ด้วยความวิริยะอุตสาหะในฐานะเป็น "ครู" สอนวิชาภาษาอังกฤษ วันเวลาผ่านไปในวิชาชีพครู 20 ปี ถึงวันนี้รวมเวลาในราชการร่วม 38 ปี จาก "ครู" ก้าวขึ้นสู่ผู้บริหารโรงเรียน ในฐานะอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา และอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) 2  ณ วันนี้คือ "ผู้อำนวยการ อมรรัตน์ ปิ่นเงิน" ผู้บริหารคนที่ 10 ของโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)

 "ครูยุคนั้นทำงานทุ่มเทกันทั้งกายทั้งใจ ต้องมาร่วมมือกันบุกเบิก มาช่วยกันทำทุกเรื่อง บังเอิญมีบ้านพักครูอยู่ใกล้โรงเรียน ทำให้การทำงานคล่องตัว สะดวก จากทุ่งบางกะปิเมื่อวันวานสู่ทุ่งวังทองหลางในวันนี้ ในอดีตเด็กต้องนั่งเรือข้ามฟากมาเรียน 10 กว่าปีถึงมีความพร้อมทั้งด้านอาคาร สถานที่ จากนักเรียนรุ่นแรกเพียง 1,000 คน เพิ่มเป็น 4,983 คนในปัจจุบัน" ผอ.อมรรัตน์ ย้อนอดีต

 6 ปี 9 เดือน ในตำแหน่ง "ผู้บริหารสูงสุด" ของ "บดินทร 1" รัฐนาวาการศึกษาลำใหญ่แล่นฝ่าผ่านคลื่นลมอย่างทระนง กลายเป็นโรงเรียน "ยอดนิยม" ติดอันดับ "1 ใน 5" ของประเทศไทย ที่พ่อแม่ ผู้ปกครองดิ้นรนอยากให้ลูกหลานเข้ามาเรียนหนังสือ ชนิดที่เรียกได้ว่าในยุค "ผอ.อมรรัตน์ ปิ่นเงิน" มีจำนวนนักเรียนสมัครเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มากที่สุดของประเทศ ทั้งที่โรงเรียนเพิ่งก่อตั้งมาได้เพียง 36 ปี นับเป็นเวลาอันสั้นมาก หากเทียบประวัติศาสตร์ถึง 100 ปี ของบางโรงเรียน

 "ผมเป็นครูประจำชั้น ม.1 ตลอดปีการศึกษา เช่นเดียวกันรองผู้อำนวยการคนอื่นๆ ก็ได้รับมอบหมายให้เป็นครูประจำชั้นกันทุกคน ได้พบกับนักเรียน ได้สัมผัสพูดคุยกับผู้ปกครอง ได้ทราบว่านักเรียน ผู้ปกครองเขามีความต้องการอะไร อยากจะพัฒนาลูกอย่างไร ก็มาช่วยกัน ร่วมมือกัน เพื่อพัฒนาลูกหลานบดินทรเดชา เพราะผมอยากให้โรงเรียนเป็นที่สร้างคน ดั่งปรัชญาลูกบดินทรเป็นผู้ประพฤติดีและมีความรู้ และอยากจะให้ทุกโรงเรียนเป็นแบบนี้"

 ความอัศจรรย์อีกอย่างที่ทำให้ "บดินทร 1" เจริญรุ่งเรืองมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยผู้บริหารที่เข้ามารับช่วงต่อแต่ละท่าน ต่างรับ "ไม้ผลัด" กันได้เป็นอย่างดี มีการสานต่องานเก่าและริเริ่มพัฒนางานใหม่อยู่ตลอดเวลา เพื่อสร้างความเป็นเลิศทางการศึกษาในทุกๆ ด้าน แต่ที่โดดเด่นคือความเป็นนักประสานร่วมมือในการทำงาน ทำให้งานบางอย่างที่คิดว่ายาก แต่ "ผอ.อมรรัตน์" สามารถทำให้สำเร็จได้ โดยรัฐไม่ต้องควักสักบาท  

 "ผมคิดว่าเลือกถูกแล้วที่มาเป็นครู อาชีพที่มีเกียรติตามรอยคุณพ่อที่เป็นแบบอย่างที่ดีให้ผมมาตลอด ซึ่งวันที่ 30 กันยายน 2552 วันสุดท้ายของการทำงาน ความสำเร็จทั้งหลายผมยกความดีให้คณะครู คณะผู้บริหาร ผู้ปกครอง และนักเรียน และต้องขอบคุณคุณหญิงกษมา  วรวรรณ ณ อยุธยา ผู้บังคับบัญชาที่เข้าใจ และเป็นกำลังใจดูแลบดินทรมาตลอด จนกลายเป็นความรักความผูกพัน ที่แม้ผมเกษียณแล้วยังรักและห่วงใยบดินทรไม่เสื่อมคลาย" ผอ.อมรัตน์ กล่าวด้วยรอยยิ้ม

 0 กมลทิพย์ ใบเงิน 0 รายงาน

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ