
ว้าว!!! "สบู่เหลวถ่านแกลบข้าว"
กรมวิทย์ร่วมประชารัฐพัฒนาชุมชนต่อยอด"ข้าวหอมมะลิ105" เป็นเครื่องสำอาง เพิ่มรายได้แก่ชุมชนมากกว่าเดิมถึง 4 เท่า
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า เมื่อปี 2559 ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 6 ชลบุรี ได้เข้าไปถ่ายทอดเทคโนโลยีองค์ความรู้วิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้กับกลุ่มแปรรูปสมุนไพรบ้านตม อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ภายใต้โครงการบูรณาการ “การพัฒนาคุณภาพสมุนไพรด้วยวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชน” ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มแปรรูปสมุนไพรบ้านตม มีอาชีพหลักทำนาได้นำวัสดุเหลือใช้จากการสีข้าวหอมมะลิ 105 ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นถิ่นจ.ชลบุรีและฉะเชิงเทรา มีชื่อเสียงในเรื่องของรสชาติและความหอม มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP เช่น แกลบหอม สบู่ก้อนจากปลายข้าว แต่ไม่เป็นที่นิยมเนื่องจากสินค้าขาดมาตรฐานทางด้านคุณภาพและการออกแบบบรรจุภัณฑ์ไม่ทันสมัย
ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 6 ชลบุรี จึงได้เข้าไปถ่ายทอดเทคโนโลยีองค์ความรู้วิทยาศาสตร์การแพทย์ ตั้งแต่กระบวนการเตรียมวัตถุดิบ การเก็บรักษาวัตถุดิบ การแปรรูปวัตถุดิบ ตลอดจนการควบคุมคุณภาพขั้นตอนการผลิต ให้ปราศจากการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์จนเป็นผลิตภัณฑ์ พร้อมต่อยอดผลิตภัณฑ์โดยทำการศึกษาวิจัยกว่า 2 เดือน
จนได้ตำรับสบู่เหลวแกลบ สบู่เหลวข้าวหอม และสครับผิวกายข้าวหอมจากข้าวหอมมะลิ 105 ที่มีความคงตัวและ ตามเกณฑ์มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช. 95/2552) มีคุณภาพสอดคล้องตามเกณฑ์กำหนดจนสามารถนำไปต่อยอดสู่ประโยชน์เชิงพาณิชย์ด้านผลิตภัณฑ์ชุมชนได้
นพ.สุขุม กล่าวอีกว่า หลังจากผลิตภัณฑ์ของกลุ่มแปรรูปสมุนไพรบ้านตมได้รับการตรวจคุณภาพมาตรฐานการจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทำให้มียอดการสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากผู้ประกอบการโรงแรมและสปาทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน สร้างรายได้ให้ชุมชนเพิ่มขึ้นจากเดิมรายได้หมุนเวียนเพียงเดือนละหมื่นบาทเป็นเดือนละสี่หมื่นบาท ส่งผลให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้ เกิดความผูกพันในชุมชนทั้งผู้สูงอายุและเยาวชนได้ทำงานร่วมกัน เป็นการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์รวมถึงเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทยอีกด้วย ตามนโยบายของรัฐบาลสนับสนุนแนวทางประชารัฐและส่งเสริมผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย และสร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำให้กับชุมชนท้องถิ่นต่างๆ
“โครงการพัฒนาคุณภาพสมุนไพรด้วยวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชน เป็นโครงการที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 14 แห่งทั่วประเทศ เข้าไปพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบสมุนไพร รวมถึงผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสมุนไพร ให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน โดยถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ในการผลิตวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากสมุนไพร และส่งเสริมศักยภาพของชุมชนในการจำหน่ายสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน พร้อมตรวจวิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสมุนไพรที่ผลิตได้จากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมอบรมอีกด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการและผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการแล้ว 149 ราย