
รพ.ขอนแก่นปิดคลินิกผู้ป่วยนอกทั่วไป
ปิดคลินิกผู้ป่วยนอกทั่วไป คนขอนแก่นเสนจะแฮปปี้
5 ปีแล้วตั้งแต่ปี 2555 ที่โรงพยาบาลศูนย์(รพศ.)ขอนแก่น ปิดคลินิกผู้ป่วยนอกทั่วไป คือ ไม่ให้บริการผู้ป่วยที่เดินเข้ามาตรวจรักษาหากไม่มีนัดและไม่ใช่กรณีฉุกเฉินทางการแพทย์ เป็นแนวทางในการช่วยแก้ปัญหาระยะเวลาที่รอตรวจนานและความแออัดของโรงพยาบาล ทำให้คนขอนแก่นพึงพอใจเพิ่มขึ้นจากการเข้ารับบริการ เพราะมีการกระจายหน่วยบริการปบมภูมิไปยัง 4 มุมมองแทนการกระจุกตัวอยู่เพียงแห่งเดียว
ย้อนไปก่อนหน้านั้น พญ.รุจิราลักษณ์ พรหมเมือง ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน และหัวหน้ากลุ่มงานเวชกรรมสังคม รพศ.ขอนแก่น เล่าว่า มีการวิเคราะห์ถึงปัญหาความแออัดของรพศ.ขอนแก่น พบว่าเกิดขึ้นจากการที่เขตเมืองขอนแก่นไม่มีโรงพยาบาลชุมชน(รพช.)รองรับ ผู้ป่วยทั้งหมดจึงเข้ามารับบริการที่รพศ.ขอนแก่น บวกกับมีผู้ป่วยส่งต่อจากรพช.ในอำเภอต่างๆของจ.ขอนแก่นและจังหวัดอื่นๆทำให้มีการวางแผนพัฒนาหน่วยบริการปฐมภูมิในเขตเมืองขอนแก่น เพื่อรองรับผู้ป่วยนอกที่อาการไม่รุนแรง ไม่ซับซ้อน ก่อนที่จะเข้ารับการรักษาที่รพศ.ขอนแก่นหากแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าจะต้องส่งต่อเข้ารับการรักษา
การดำเนินงานในปี 2552 จัดให้มีเครือข่ายบริการย่อย(NODE) 4 เครือข่าย ในรูปแบบศูนย์แพทย์ 4 มุมเมือง ได้แก่ ศูนย์แพทย์มิตรภาพ ,วัดหนองแวงพระอารามหลวง,ชาตะผดุง และประชาสโมสร โดยแต่ละศูนย์จะมีบุคลากรประจำให้บริการตรวจรักษาเหมือนเช่นที่คลินิกผู้ป่วยนอกทั่วไปของรพศ.ขอนแก่น ทั้งแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์และสหวิชาชีพอื่นๆ พร้อมสนับสนุนยา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือทางการแพทย์ต่างๆ และทั้ง 4 ศูนย์จะเป็นแม่ข่ายในการรับดูแลผู้ป่วยต่อจากโรงพยาบาลโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)ในพื้นที่ที่ไม่มีแพทย์อยู่ประจำ
“ที่ศูนย์แพทย์ทั้ง 4 แห่ง มีแพทย์ประจำและมีสหสาขาวิชาชีพครบในการดูแล เป็น One Stop Service คือ ได้รับบริการเหมือนมาที่รพศ.ขอนแก่น ไม่ว่าจะเป็นการตรวจโดยแพทย์ ยา เครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ ก็เหมือนกัน แต่จุดเด่นของศูนย์แพทย์ที่กระจายอยู่ 4 มุมเมือง คือใกล้บ้านของผู้ป่วยมากกว่าการเดินทางมายังรพศ.ขอนแก่น ไม่ต้องเสียเวลานานในการมาตรวจรักษาเหมือนเดิมที่ต้องใช้เวลาเป็นวันๆในการไปรพ. ที่สำคัญ มีความคุ้นเคยใกล้ชิดกับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขที่ดูแลรักษาประจำที่ศูนย์มากกว่าการเข้ารับบริการที่รพ. ประชาชนจึงมีความมั่นใจ เชื่อถือ และศรัทธาในการมารับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมินี้แทนการไปรับบริการในรพศ.”พญ.รุจิราลักษณ์กล่าว
เมื่อประชาชนเข้าใจ รับรู้ ใช้บริการและมีความเชื่อมั่นในการตรวจรักษาโรคทั่วไปที่ไม่ซับซ้อนที่ศูนย์แพทย์เหล่านี้เพิ่มมากขึ้น ในปี 2555 จึงพิจารณาปิดบริการคลินิกผู้ป่วยนอกทั่วไปที่รพศ.ขอนแก่น โดยประชาชนกระจายไปรับบริการที่ศูนย์แพทย์แห่งที่ใกล้บ้านแทน
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมีการปิดคลินิกนี้ ได้มีการหารือร่วมกันทั้งรพศ.ขอนแก่น และหน่วยบริการปฐมภูมิว่ามีความพร้อมหรือไม่อย่างไร เมื่อทุกหน่วยพร้อม จึงประกาศย้ายบริการผู้ป่วยนอกทั่วไปไปยังหน่วยบริการปฐมภูมิทั้งหมดแต่ก่อนหน้านั้นได้มีการประกาศแจ้งให้ประชาชนทราบล่วงหน้า 2-3 เดือนและระยะแรกรพศ.ขอนแก่นได้จัดเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลและคำแนะนำ พร้อมจัดบริการรถรับส่ง ต่อมาในปี2559 ได้ดำเนินเรื่องคลินิกหมอครอบครัวที่ศูนย์แพทย์นี้ ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการง่ายขึ้น ใกล้บ้าน สะดวกมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันมีผู้รับบริการเฉลี่ยศูนย์ละ 150-250 รายต่อวัน
การให้บริการที่ศูนย์แพทย์ปฐมภูมินี้ จะมีตั้งแต่ 1. ตรวจวินิจฉัย รักษาโรคทั่วไป โรคเรื้อรังและอุบัติเหตุฉุกเฉิน 2. บริการทำหัตถการผ่าตัดเล็ก อุบัติเหตุและการเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3. การคัดกรองภาวะแทรกซ้อนจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 4. คลินิกฝากครรภ์ คลินิกสุขภาพเด็กดี บริการฉีดวัคซีนพื้นฐาน บริการเพื่อใจวัยรุ่น และให้คำปรึกษา 5. ให้บริการด้านทันตกรรม โดยทันตแพทย์และทันตาภิบาล และ 6. บริการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ส่วนยาและเวชภัณฑ์ใช้ระบบเดียวกับรพศ.
จากการดำเนินงานเห็นผลลัพธ์เชิงประจักษ์ที่ประสบความสำเร็จชัดเจนโดยพบว่าจำนวนผู้รับบริการผู้ป่วยนอกที่เครือข่ายปฐมภูมิของ รพศ.ขอนแก่นในปี 2557-2559 เพิ่มขึ้น 45.6% ใน 3 ปี คลินิกหมอครอบครัวสามารถรักษาบริการผู้ป่วยนอกให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้ถึง 26,621 คนต่อเดือน หรือ 319,451 คนต่อปี และ 75,480 ครั้งบริการต่อเดือน หรือ 905,762 ครั้งบริการต่อปี ลดค่าใช้จ่ายในการรับบริการในรพศ.ขนอแก่นได้ถึงกว่า 15.7 ล้านบาทต่อเดือน หรือ188.4 ล้านบาทต่อปี จากการประมาณการณ์ว่ามีค่าใช้จ่ายผู้ป่วยนอกครั้งละ 700 บาทต่อราย
ขณะที่ประชาชนลดระยะเวลาการรอคอยจาก 184 นาทีที่รพศ.ขอนแก่น เหลือเฉลี่ยอยู่ที่ 47 นาทีที่ศูนย์แพทย์นี้ นอกจากนี้ ลดค่าใช้จ่ายของประชาชนในส่วนของค่าเดินทางมารับบริการที่รพศ.ขอนแก่นได้ถึง 4.48 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 53.8 ล้านบาทต่อปี ประมาณการจากการรับบริการผู้ป่วยนอกรายละ 200 บาทต่อครั้งที่มารับบริการ อีกทั้ง ลดค่าใช้จ่ายโดยรวมของประชาชนที่ต้องเข้ารับบริการในรพศ.ขอนแก่นได้ถึง 7.98 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 95.8 ล้านบาทต่อปี
เมื่อศูนย์แพทย์เป็นหน่วยบริการปฐมภูมิด่านหน้าแทนรพศ. นอกจากประชาชนจะได้รับบริการตรวจรักษาเหมือนเช่นเดิม แต่สถานพยาบาลใกล้บ้านมากกว่าเดิมแล้ว ในส่วนของรพศ.ขอนแก่นช่วยลดความแออัดของรพ.ได้อย่างมาก ส่งผลให้รพศ.ที่ตามระบบแล้วจะต้องให้บริการตรวจรักษาโรคที่มีความซับซ้อนมาก สามารถรองรับและให้บริการผู้ป่วยโรคเฉพาะทาง ที่มีอาการรุนแรงและโรคที่ซับซ้อนได้มากขึ้น จากการที่ไม่ต้องสูญเสียทรัพยากรทั้งบุคคลและเครื่องมือทางการแพทย์ในการตรวจรักษาโรคทั่วไปที่ไม่ซับซ้อน
ทั้งหมดทั้งมวล นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกูล ผอ.รพศ.ขอนแก่น บอกว่า การที่รพ.จะดำเนินการประสบความสำเร็จและสร้างความเชื่อมั่นในการใช้บริการที่ศูนย์แพทย์หน่วยบริการปฐมภูมิแทนรพศ.ขอนแก่น อยู่ที่การรักษาคำสัญญา นั่นคือ เมื่อบอกประชาชนว่าที่ศูนย์แพทย์จะมีแพทย์ประจำและให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยนอกทั่วไปเหมือนกับที่รพศ.ขอนแก่นทุกอย่าง ก็ต้องทำให้ได้เช่นนั้น
0 พวงชมพู ประเสริฐ รายงาน 0