ไลฟ์สไตล์

พายุชะตากรรม  "สรยุทธ สุทัศนะจินดา”   29 ปี บนวิถีที่พลิกผัน

พายุชะตากรรม "สรยุทธ สุทัศนะจินดา”  29 ปี บนวิถีที่พลิกผัน

01 ก.ย. 2560

เส้นทางชีวิตหลังจากวันที่กรรมกรข่าวคนนี้บอกว่ามันคือ “จุดสิ้นสุด!” วันนั้นคือเมื่อไหร่? จะเป็นอย่างไรต่อไป? น่าติดตามยิ่ง

               ข่าวคนดังตบเท้าเข้าคุกช่วงนี้ที่สะดุดใจคนไทยมากกว่าใครทั้งหมดก็คงเป็นกรณีของ “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” ที่พอเอาเข้าจริง ก็ใจหายเหมือนกัน

               ยิ่งล่าสุดมีเรื่องเล่าจากน้องไบรท์ หรือ พิชญทัฬห์ จันทร์พุฒ พิธีกรข่าวเรื่องเล่าเช้านี้ ที่เคยนั่งเคียงข้างยามเช้ามาด้วยกันทางช่อง 3 เปิดเผยว่า พี่ชายคนนี้มีกำลังใจดี แต่คืนแรกยังนอนไม่ค่อยหลับ เนื่องจากแปลกที่ พร้อมบอกว่า

               “ชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป ต้องอยู่ให้ได้ ถ้ามองในแง่ดี การเข้ามาใช้ชีวิตในนี้ถือว่าเข้าไปหาบทเรียนชีวิต ได้คุยกับคนหลายคน มีหลายเรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อน มีหนังสือให้อ่าน เริ่มปรับตัวได้บ้าง”

               และที่ต้องขีดเส้นใต้เลยกับวรรคทองว่า “ในเรือนจำยังมีจุดสิ้นสุด”

               “ยืนยันว่าไม่เคยคิดจะหนี เพราะถ้าจะหนีต้องหนีตลอดชีวิต การหนีไม่ใช่การแก้ปัญหา ถ้าหนีไป หนีอยู่ในเมืองไทย คนก็จำหน้าพี่ได้หมด ถ้าหนีไปอยู่เมืองนอก คนไทยที่เมืองนอกก็รู้จักพี่อยู่ดี ก็จับตัวพี่ส่งกลับมาที่ประเทศไทยอยู่ดี เพราะฉะนั้นถ้าหนีเท่ากับว่าชีวิตที่หนีต้องซ่อนตัวตลอดทั้งชีวิต ถ้าอยู่ในเรือนจำยังมีจุดสิ้นสุด อยู่ลำบาก แต่ก็ต้องค่อยๆ ปรับตัวไป”

               และที่ค่อนข้างสะเทือนใจแฟนคลับก็ตอนที่เจ้าตัวพูดถึงแม่ คือ วิชชุดา สุทัศนะจินดา ที่มีอาการป่วยและอายุมากแล้ว

               “พี่คิดถึงสิ่งที่เลวร้ายที่สุดเอาไว้แล้วว่าจุดที่เลวร้ายที่สุดมันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ตอนนี้สิ่งที่กังวลมากที่สุดเรื่องนึงก็คือเรื่องสุขภาพคุณแม่ เพราะคุณแม่ป่วยหนักอยู่ กลัว...กลัวว่าจะออกมาไม่ทันได้ดูคุณแม่"

               ถึงตรงนี้อาจทำให้หลายคนอดเห็นใจอดีตนักเล่าข่าวคนดังคนนี้ไม่ได้ กับเส้นทางเกือบ 3 ทศวรรษในการทำงาน ที่ต้องบอกว่าเขาได้ขึ้นสู่จุดสูงสุดของเส้นทางอาชีพก็ว่าได้!

               จากที่เคยเป็นเด็กเกเร มีประวัติเข้าไปอยู่ในกลุ่มทะเลาะวิวาท จนกระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม ส่งผลให้ต้องไปใช้ชีวิตในบ้านเมตตา 15 วันสมัยมัธยม

               ภายหลังตั้งตัวใหม่จนมาเรียนจบนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ คว้าเกียรตินิยมอันดับ 1 มาการันตีให้ได้เข้าทำงานในองค์กรสื่อยักษ์ใหญ่ย่านบางนา เครือเนชั่น

               และยิ่งเมื่อย้อนไปดูไทม์ไลน์ชีวิตของเขาก็พบได้ถึงความก้าวหน้าขึ้นไปอย่างไม่มีหยุดพัก

               นับแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2531 ที่สรยุทธเข้าทำงานเป็นนักข่าวสายการเมืองที่หนังสือพิมพ์ The Nation โดยได้รับเงินเดือนเริ่มต้น 4,000 บาท จากนั้นทำข่าวสายรัฐสภาเป็นเวลา 2 ปี และทำข่าวสายทำเนียบรัฐบาลอีก 2 ปี จนปี 2535 ก็ได้รับตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าข่าวการเมือง และเลื่อนเป็นหัวหน้าข่าวในปี 2537

               กระทั่งปี 2540 ได้เลื่อนเป็นบก.ข่าว และจัดรายการวิเคราะห์ข่าว เป็นจุดเริ่มต้นงานด้านจอโทรทัศน์ของเจ้าตัว โดยจัดรายการวิเคราะห์ข่าวให้สถานีไอทีวี เช่น รายการเวทีไอทีวี ฟังความรอบข้าง และไอทีวีทอล์ค

               จนมาปี 2543 ที่สถานีโทรทัศน์เนชั่นแชนแนลเปิดตัว เขาก็กลายคนข่าวรุ่นบุกเบิกของที่นี่ และครองอันดับหนึ่งของช่อง มีทั้งรายการเก็บตกจากเนชั่น คม ชัด ลึก ทั้งยังจัดรายการกับสุทธิชัย หยุ่น, กนก รัตน์วงศ์สกุล

               ภายหลังลาออกจากความเป็นลูกหม้อเนชั่นช่วงปี 2546 ตำแหน่งสุดท้ายคือรองบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ The Nation

               แล้วมาทำรายการถึงลูกถึงคนทางช่อง 9 หรือโมเดิร์นไนน์ทีวี กระทั่งย้ายมาช่อง 3 อย่างเป็นทางการ เพื่อมาทำรายการเรื่องเล่าเช้านี้

               ที่สุดเขาก็ได้ชื่อว่าเป็นคนข่าวที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในประเทศไทย ด้วยลีลาการสัมภาษณ์ที่เป็นเอกลักษณ์ โดยนำข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์มาอ่านในรายการโทรทัศน์ หรือที่เรียกว่า “เล่าข่าว” (News Talk)

               และยังมีบุคลิกการเล่าข่าวที่กระชับ รวดเร็ว ใช้ภาษาเข้าใจง่าย มีลีลายิงตรง ทำให้ทุกรายการที่จัดโกยเรตติ้งและสปอนเซอร์เพียบ! จนถือเปฺ็นอันดับหนึ่งของคนข่าวไทยในเวลานั้น

               ต่อมาตัดสินใจเป็นผู้จัดรายการเองโดยเปิดบริษัท ไร่ส้ม จำกัด (รายการโทรทัศน์) และบริษัท ชัดถ้อยชัดคำ จำกัด (รับจัดงานและกิจกรรม) ตั้งแต่ราวเดือนกุมภาพันธ์ 2547 พร้อมกับเพื่อนอีก 3 คนที่เคยได้ร่วมงานกันมาก่อน โดยในส่วนของไร่ส้ม ก่อตั้งด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท

               จนมาปี 2548 ไร่ส้มได้ทำสัญญากับ อสมท และได้รับโอกาสจากช่องให้ทำรายการใหม่ “คุยคุ้ยข่าว” ขึ้น โดยจัดร่วมกับอดีตคู่หูที่เคยจัดรายการร่วมกันที่เนชั่นแชนแนลอย่าง “กนก รัตน์วงศ์สกุล”

               โดยเงื่อนไขกับช่องมีว่า วันจันทร์ถึงศุกร์ โฆษณาได้วันละ 2.30 นาทีเท่านั้น แต่หากเกินจะต้องชดเชยให้ อสมท นาทีละ 240,000 บาท ส่วนวันเสาร์อาทิตย์ โฆษณาได้วันละ 5 นาที หากเกินจะต้องชดเชยให้ อสมท 200,000 บาท!

               หลายคนพูดตรงกันว่า ช่วงนั้น หรือราวปี 2548 เป็นช่วงที่พีกสุดๆ ของชีวิตเฮียสอ เป็นคนดังที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทย และยังมีรายการอีกมากมายในมือ (พอๆ กับที่มีคนข่าว วนเวียนมานั่งเล่าข่าวร่วมกับเขาแบบไม่ซ้ำหน้าหลายคนด้วยกัน) เช่น รายการคุยคุ้ยข่าว ถึงลูกถึงคน ทางช่อง 9 และเรื่องเล่าเช้านี้, เรื่องเด่นเย็นนี้, เรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์, จับเข่าคุย ทางช่อง 3

               พูดง่ายๆ ว่าคนไทยได้เห็นหน้าตี๋ๆ เสียงดังๆ ของเขาทั้งเช้า บ่าย เย็น ทุกวัน รับค่าเหนื่อยและค่าโฆษณายิ่งกว่าซูเปอร์สตาร์คิวทอง! เพราะร่ำลือกันทั่ววงการสื่อแบบไม่รู้ว่าอิจฉา ชื่นชม หรือ หมั่นไส้ ว่ารายได้ของเขาปีหนึ่งในช่วงนั้นไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท!

               แถมว่ากันว่ารายการ “ถึงลูกถึงคน” ก็เป็นรายการเดียวที่อดีตนายกฯ ทักษิณ ชิณวัตร ยอมที่จะให้สัมภาษณ์ ก่อนที่จะมีเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549

               ครั้งหนึ่งสรยุทธเคยพูดถึงวิธีการทำงานว่า หลักในการ Contact ให้ถึงผู้ชมคือนอกจากจะต้องมีความน่าเชื่อถือ โดยต้องใช้เวลา ต้องสร้างสม ไม่มีทางลัด ทำให้การเล่าข่าวมาจากความเข้าใจ เนื้อหาอยู่ในหัวแล้วยังต้องมีความเป็นมนุษย์ พิธีกรข่าวไม่ใช่ผู้วิเศษ ผิดพลาดได้ เก่งและไม่รู้ได้ แต่ให้เป็นธรรมชาติ ไม่โอเวอร์ แต่ก็ต้องไม่จืด

               ความน่าเชื่อถือนี้ “สรยุทธ” บอกว่า “แรง” เพราะ “ถ้าคุณน่าเชื่อถือ บางอย่างพูดผิดคนยังเชื่อ ถ้าไม่น่าเชื่อ พูดถูกคนยังไม่เชื่อเลย เพราะฉะนั้นถ้าผมพูดผิด พยายามแก้ทันที ปล่อยไปไม่ได้ และผมอยากให้คนรุ่นใหม่ทำให้ถึงจุดนั้น” (http://positioningmag.com/11753)

               โดยกว่าจะมี “วันนี้” ใน “วันนั้น” ของสรยุทธ ว่ากันว่าตอนช่วงพีกสุดๆ เขาต้องเดินทางมาถึงช่อง 3 ตั้งแต่ตี 4 กว่า เตรียมข้อมูลเพื่อออกอากาศ 6 โมงเช้า ช่วงบ่ายไปหาที่งีบหลับในตึกของช่อง พอบ่าย 2 โมงเริ่มเตรียมเนื้อหาข่าวเข้ารายการ “เรื่องเด่นเย็นนี้ วันหนึ่งเขานอนประมาณ 3-4 ชั่วโมงเท่านั้น

               นอกจากนี้ยังมีผลงานการเขียนหนังสือ เช่น คมชัดลึก, กรรมกรข่าว, กรรมกรข่าว 2 งานรับเหมา, คุยนอกสนาม และได้รับรางวัลอีกมากมาย

               จนมาสิ้นปี 2549 ก็เกิดคดีความเรื่องบริษัท ไร่ส้ม ยักยอกเงินค่าโฆษณาเกินเวลาในรายการ “คุยคุ้ยข่าว” จึงเป็นจุดที่ทำให้เพื่อนซี้ต้องขอบาย และนำมาสู่เรื่องราวในวันนี้ ที่คงไม่ต้องทวนซ้ำ!!

               แต่ระหว่างที่คดียังดำเนินอยู่และรอวันสิ้นสุดร่วมๆ 10 ปีที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ สรยุทธยังคงทำหน้าที่ของตนเองต่อไป เก็บเงินโกยเรตติ้งไปเรื่อยๆ

               อย่างการลุยพื้นที่น้ำท่วมหนักช่วงปี 2554 เขาก็แท็กทีมเพื่อนในแวดวงจนสามารถหาเงินบริจาคให้ชาวบ้านที่ทุกข์ร้อนได้มากมาย โดยไม่เคยมีนักข่าวคนไหนทำมาก่อน จนตอนนั้นวีรกรรมของเขาโด่งดังป๊อปปูลาร์ขนาดที่คนนึกถึงและเรียกหาชื่อเขาก่อนนายกรัฐมนตรีเสียอีก!

               จนมาถึงวันที่คดีของเขาร้อนแรงขึ้นและมีการตัดสินไปในศาลชั้นต้น เขาก็ได้เจอแรงกดดันจนต้องอำลาจากจอวิก 3 ไปในวันที่ 3 เดือน 3 ปี 2559 อย่างไม่เต็มใจ

               แต่บริษัท ชัดถ้อยชัดคำ จำกัด และบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ยังคงดำเนินการธุรกิจและมีรายได้ แม้จะมีแนวโน้มลดลงตามอุตสาหกรรมสื่อ แต่ก็ยังมีบันทึกว่าผลประกอบการยังเป็น “กำไร” แต่ 2 บริษัทของเขายังคงทำงานต่อไป คือยังคงผลิต รายการเรื่องเล่าเช้านี้ และเรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์ ต่อไป

               จนมีรายงานจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุผลประกอบการในปีที่ผ่านมา ตัวเลขปี 2559 สองบริษัทของเขามีกำไรสุทธิรวม 2,928.4 ล้านบาท จากรายได้ 5,572.8 ล้านบาท แปลว่ายังไปได้อยู่!

               ซึ่งก็คงพอๆ กับที่คนชื่อสรยุทธ ยังได้รับความนิยมจากแฟนคลับอย่างล้นหลาม ทั้งยังรอคอยการกลับมาของเขา อย่างตอนน้ำท่วมไม่นานมานี้ หลายคนถึงและบ่นผ่านสังคมออนไลน์ว่า น้ำท่วมแล้วคิดถึงเฮียสอขึ้นมาจับใจ

               ก็ไม่รู้เพราะอย่างนี้หรือไม่ ที่ต่อมาสรยุทธตัดสินเปิดเฟซบุ๊กแฟนเพจ “สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว” ขึ้นเมื่อเดือน ธันวาคม 2559 และมีการรายงานข่าวช่วงน้ำท่วมผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์

               ถึงตอนนี้ก็มีผู้ติดตามมากกว่า 1 ล้านคน และมียอดไลค์มากกว่า 8.4 แสนไลค์แล้ว ก่อนจะหยุดความเคลื่อนไหวหลังวันแม่ 12 สิงหาคม แล้วมาเจอคำตัดสินคดีไร่ส้มในชั้นอุทธรณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ที่ผ่านมา

               อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจจะตั้งคำถามว่าต่อจากนี้ไปชะตากรรมของพี่ยุทธของน้องๆ จะเป็นอย่างไร

               ไม่ใช่เรื่องชีวิตในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ที่เราต่างรู้ว่าคนอย่างเขาต้องปรับตัวได้อยู่แล้ว และไม่ใช่ผลการตัดสินในชั้นสูงสุดที่หลายคนพอจะรู้คำตอบ!

               แต่เป็นเส้นทางชีวิตหลังจากวันที่กรรมกรข่าวคนนี้บอกว่ามันคือ “จุดสิ้นสุด!” วันนั้นคือเมื่อไหร่? จะเป็นอย่างไรต่อไป? น่าติดตามยิ่ง!