
“ลูกจ๋า แม่ก็กลัว”!!! เจาะลึกใจบางๆของแม่
“การให้พ่อแม่หรือผู้สูงอายุให้อยู่เพียงลำพังคนเดียว จะส่งผลต่อสุขภาพจิต เพราะยิ่งเพิ่มความรู้สึกว่าตนเองโดดเดี่ยว ไม่มีที่ยึดเหนี่ยว หรือรู้สึกถูกทอดทิ้ง”
ตั้งแต่รับรู้ว่าตั้งครรภ์ จวบจนคลอด เลี้ยงดูจากเล็กจนเติบใหญ่ ไม่เคยสักครั้งที่แม่อยากจะทอดทิ้งหรือห่างกายลูกไปไหน ด้วยเพราะรักและเป็นห่วง ทว่า ในวันที่ลูกเติบโต มีอาชีพเลี้ยงตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาพ่อแม่ กลับทำให้ลูกต้องห่างแม่ โดยเฉพาะเมื่อต้องไปทำงานในเมืองใหญ่ ไกลจากบ้านเกิด มิหนำซ้ำเมื่อมีครอบครัวของตัวเอง ลูกก็ยิ่งห่างแม่ออกไปเรื่อยๆ แต่ละปีแต่ละเดือน “ลูกกลับไปเยี่ยมหรือใส่ใจดูแลพ่อแม่สักแค่ไหน” รู้หรือไม่ แม้แม่จะพูดว่า “ไม่ต้องห่วงหรอกลูก แม่อยู่ได้” แต่ลึกๆในใจที่บางๆของแม่แล้ว “เหงา ว้าเหว่ อยากให้ลูกๆคอยถามไถ่ ห่วงใย เยี่ยมเยียนอยู่เสมอทั้งสิ้น” และอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตของแม่!!!
จากการสำรวจประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทย พ.ศ.2557 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า สัดส่วนของผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว ตามลำพังในครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยปี2537 มีผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว ร้อยละ 3.6 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6.3 ร้อยละ 7.7 ร้อยละ 8.6 ในปี 2545 2550 และ 2554 ตำมลำดับ แล่ะล่าสุดปี 2557 มีผู้สูงอำยุอยู่คนเดียวตามลำพังเพิ่มขึ้น เป็นร้อยละ 10.4
"แน่นอนว่า เมื่อเราถามก็จะได้คำตอบว่า ไม่เป็นไรลูก แม่อยู่ได้ พ่ออยู่ได้ ไม่ต้องเป็นห่วง ซึ่งต้องเข้าใจผู้สูงอายุว่าไม่อยากพูดอะไรที่ทำให้ลูกหลานเป็นห่วง กังวลใจ แต่คนที่เป็นลูกหลานควรอนุมานได้แล้วว่า อะไรคือความต้องการที่แท้จริงที่อยู่ในใจพ่อแม่ เพราะรู้ว่าอะไรที่ขาดหายไปในผู้สูงอายุ คือความมั่นใจในตัวเอง ความภูมิใจในตัวเองหากลูกหลานสามารถทำให้ท่านรู้สึกว่ารัก เคารพ คิดถึง ห่วงใย ดูแลเหมือนเดิม ให้รู้สึกว่าเราไม่ไปไหน ไม่ได้ทอดทิ้งแต่ไปเพราะความจำเป็น ยังติดต่อท่านเป็นระยะๆ" นพ.จุมภฏ พรมสีดา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ กรมสุขภาพจิต เปิดมุมมอง
นพ.จุมภฏ อธิบายเพิ่มเติมว่า ผู้สูงอายุเป็นวัยที่สมดุลของร่างกายเปลี่ยนแปลงไป ปัญหาสุขภาพจิตในผู้สูงอายุจึงเกิดจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ 1.มีโรคประจำตัว การมีโรคประจำตัวทำให้มีปัญหาสุขภาพจิตตามมาได้ เพราะบางโรคเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าอยู่แล้ว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ทั้งตัวโรคเองและยาที่กินทำให้ผู้ป่วยมีอารมณ์ซึมเศร้าได้ 2.สมรรถภาพร่างกายเปลี่ยนแปลงไป ไม่สามารถทำหน้าที่ จากที่เคยเป็นหัวหน้าครอบครัว กลายมาเป็นผู้พึ่งพิง ทำให้ความมั่นใจในตัวเองและความภูมิในในตัวเองลดลง ่ก่อให้เกิดความวิตกกังวล ซึมเศร้า นอนไม่หลับได้ จากการที่คิิดว่าตัวเองถูกทอดทิ้ง ไม่มีศักดิ์ศรีเหมือนเดิม
นพ.จุมภฏ พรมสีดา
"การที่ปล่อยให้พ่อแม่หรือผู้สูงอายุให้อยู่เพียงลำพังคนเดียว จะส่งผลต่อสุขภาพจิต เพราะยิ่งเพิ่มความรู้สึกว่าตนเองโดดเดี่ยว ไม่มีที่ยึดเหนี่ยว หรือรู้สึกถูกทอดทิ้ง และการอยู่คนเดียวเมื่อเกิดภาวะวิกฤติต่างๆที่มากระทบต่อการดำเนินชีวิต เช่น การเจ็บป่วยหรือภัยพิบัติตามธรรมชาติ ยิ่งทำให้เกิดความเครียดขึ้นในผู้สูงอายุได้" นพ.จุมภฏ กล่าว
สำหรับลูกหลานที่อยู่ไกลกับพ่อแม่ นพ.จุมภฏ มีคำแนะนำในการดูแลสุขภาพใจของพ่อแม่ว่า วัฒนธรรมของคนไทยที่มีมาแต่โบราณเป็นเรื่องที่ดี เช่น วันผู้สูงอายุ หรือวันสงกรานต์ที่ลูกหลานได้ไปรดน้ำดำหัวพ่อแม่หรือผู้หลักผู้ใหญ่ วันแม่ได้มีโอกาสกลับบ้านไปเยี่ยมเยียนหรือไหว้แม่ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ดี เพราะแม้ลูกจะไปทำงานหรืออยู่ห่างไกลจากพ่อแม่ แต่เมื่อถึงวันสำคัญ ก็เป็นวันที่ผู้สูงอายุหรือพ่อแม่ตั้งตารอคอยลูกจะกลับมา
ดังนั้น ลูกๆที่อยู่ไกลหากหาโอกาสทำเช่นนี้ในวันพิเศษได้บ้าง ก็ยังเป็นเรื่องที่ดี แม้ไม่ได้อยู่ด้วยกัน แต่หากมีความจำเป็ฯจริงๆที่จะไปหาท่านไม่ได้ ก็ควรใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารให้เป็นประโยชน์ เช่น สมาร์ทโฟน หรือช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ในการติดต่อหาท่านทุกวันเพื่อแสดงความห่วงใย ทำให้ท่านรู้สึกว่า ไม่ได้สูญเสียคุณค่าความเป็นตัวเอง เป็นการเชื่อมโยงสายสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอยู่เสมอ ท่านจะไม่รู้สึกว่าตัวเองโดดเดี่ยว ไม่ถูกทอดทิ้ง
อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมหรือคำพูดที่ไม่ควรใช้กับพ่อแม่หรือผู้สูงอายุ เพราะจะทำให้กระทบจิตใจ นพ.จุมภฏ แนะนำว่า อย่าใช้คำพูดหรือแสดงพฤติกรรมที่เป็นการทำลายศักดิ์ศรีหรือตัวตนของพ่อแม่หรือผู้สูงอายุ อย่างเช่น ไม่ควรพูดว่า “แก่แล้วอยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไร”จะเป็นการคำพูดที่ไม่ให้เกียรติ เป็นการลดทอนคุณค่าของผู้สูงอายุ เพราะฉะนั้น ในปัญหาบางเรื่อง แม้เราจะแก้ไขได้ด้วยตัวเอง แต่ก็ควรปรึกษาท่านบ้างเพื่อให้ท่านรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า
สัญญาณที่บ่งบอกว่าพ่อแม่หรือผู้สูงอายุเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตและควรพบแพทย์ นพ.จุมภฏ บอกว่า อาการทั่วๆไป คือ พฤติกรรมที่เคยทำในชีวิตประจำวันเปลี่ยนแปลงไป เช่น นอนไม่หลับ หรือจากที่เคยดูทีวี หรือทำสวนก็กลับกลายเป็นไม่ทำ เก็บตัว เงียบลง หรือจดจำบางสิ่งที่เคยทำได้ไม่ได้ หรือมีอาการหลงลืมเหล่านี้ลูกหลานควรสังเกตและควรพามาพบแพทย์ เมื่อเห็นว่าผู้สูงอายุไม่ทำกิจวัตรประจำวันเหมือนเดิม
“พ่อแม่หรือผู้สูงอายุแม้จะเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จแค่ไหน มีตำแหน่งสูงส่งเพียงใด แต่ยังต้องการอยู่ใกล้ชิดลูกหลาน และอยากให้ลูกหลานเห็นความสำคัญ มีโอกาสพบปะพูดคุยให้กำลังใจ จะทำให้ความรู้สึกโดดเดี่ยวหรือความกังวลใจของท่านผ่อนคลายลง ลูกหลานควรให้กำลังใจพ่อแม่ หากอยู่ด้วยกันก็ควรให้ท่านแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆบ้างเพื่อเป็นการให้เกียรติ หากอยู่ห่างไกลควรหาเวลาไปพบปะเยี่ยมเยียนท่านอย่างสม่ำเสมอ หรืออย่างน้อยใช้สื่อเทคโนโลยีทางการสื่อสารให้เกิดประโยชน์ในการติดต่อถามไถ่แสดงความห่วงใยท่านทุกวัน” นพ.จุมภฏ ฝากไว้เนื่องในวันแม่แห่งชาติ
ใส่ใจดูแลจิตใจแม่พ่อ ก่อนที่จะสายเกินไป เพราะใจที่มันร้าว ไม่นานก็อาจจะแตกได้!!!