เมื่อวันที่ 6 ส.ค.60-ที่ห้องประชุมโรงเรียนบ้านคลองขุด อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช นางพรรณี สกุณา ราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) นครศรีธรรมราช เขต 2 เปิดเผยว่า สพป.นครศรีธรรมราช เขต2 ได้จัดอบรมครูปฐมวัยตามโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย รุ่นที่ 7 และโรงเรียนขนาดเล็ก รวมจำนวน 25 โรงเรียน กว่า 50 คน โดยจัดให้มีกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการทดลองโครงงานวิทยาศาสตร์ กว่า 20 โครงงาน ได้แก่ ฐานปฏิบัติการทดลองเรื่องน้ำ เรื่องอากาศ เรื่องก๊าชต่างๆ และอีกหลากหลายโครงงาน เพื่อฝึกปฏิบัติให้ครูที่ร่วมโครงการนำไปขยายผลสอนนักเรียนชั้นอนุบาลในลักษณะเรียนปนเล่น นับว่าเป็นการสร้างขั้นบันไดให้นักเรียนค้นพบความรู้ด้วยตนเอง ให้เด็กรู้จักคิด รู้จักพัฒนาการ คิดด้วยเหตุและผล และยังเป็นการปูพื้นฐานให้เด็กปฐมวัยในการเรียนรู้ ด้านภาษา สังคม ปฏิสัมพันธ์และการเคลื่อนไหว และสามารถพัฒนาให้นักเรียนเป็นคนดีมีคุณลักษณะที่ดีตามที่สังคมต้องการต่อไป
นางปิยกมล พูลเสน ศึกษานิเทศก์ ชำนาญการพิเศษ ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาครูปฐมวัยที่เข้าร่วมโครงการบ้านวิทยาศาสตร์น้อยประเทศไทย ให้มีความรู้ ในการจัดกิจกรรมการทดลองวิทยาศาสตร์ และการจัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับปฐมวัยส่งเสริมกระบวนการคิดและทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้กำหนดนโยบายขยายเครือข่ายตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นโครงการสำคัญที่ให้โรงเรียนทั่วประเทศดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
สพป.นครศรีธรรมการ เขต 2 ได้ดำเนินการตามโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ในมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่ ปีการศึกษา 2544 จนถึงปัจจุบัน และสถานศึกษาในสังกัดได้รับตราพระราชทาน จากโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย สืบเนื่องมาตามลำดับ ในปีงบประมาณ 2560 มีโรงเรียนต้นแบบที่ได้รับตราพระราชทานโครงงานวิทยาศาสตร์ จำนวน 44 โรงเรียนและดำเนินการขยายผลรุ่นที่ 7 จำนวน 10 โรงเรียนและโรงเรียนขนาดเล็กอีก 15 โรงเรียน จึงได้ดำเนินการจัดอบรมขึ้นในระหว่างวันที่ 6 - 7 สิงหาคม 2560ณ ห้องประชุมโรงเรียนบ้านคลองขุด โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาครูปฐมวัยโครงการบ้านวิทยาศาสตร์น้อยประเทศไทย ให้มีความรู้ในการจัดกิจกรรมการทดลองวิทยาศาสตร์ และการจัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับปฐมวัยที่ส่งเสริมกระบวนการคิดและทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ