ไลฟ์สไตล์

การจัดการขยะ ของเสียอันตราย

การจัดการขยะ ของเสียอันตราย

26 ก.ค. 2560

ก.ทรัพยฯ ลดขยะต้นทาง วางรากฐานจัดการขยะ สูการเป็นสังคมปลอดขยะอย่างยั่งยืน

 


               ของเสียอันตราย เป็นขยะมูลฝอยอีกประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นได้จากครัวเรือน ส่วนใหญ่ถูกทิ้งร่วมกับมูลฝอยทั่วไป โดยไม่ผ่านการบำบัดและกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ก่อให้เกิดการปนเปื้อนและแพร่กระจายของสารอันตรายสู่สิ่งแวดล้อมเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารและเกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ซึ่งในปี 2559 มีปริมาณของเสียอันตรายจากชุมชนทั่วประเทศมากถึงประมาณ 606,319 ตัน/ปี โดยเป็นของเสียอันตรายจากซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 393,070 ตัน/ปี และขยะอันตรายชนิดอื่นๆ อีก 213,249 ตัน/ปี

 

การจัดการขยะ ของเสียอันตราย


               ตัวอย่างของเสียอันตราย ถ่านไฟฉายมีสารแคดเมียม ทำให้เกิดอันตรายต่อโครงสร้างกระดูก หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์มีสารปรอท ทำอันตรายต่อระบบประสาท แบตเตอรี่รถยนต์มีแผ่นธาตุตะกั่ว ทำอันตรายต่อระบบการสร้างเม็ดเลือดแดงของมนุษย์ ภาชนะบรรจุสารกำจัดแมลงและสารกำจัดวัชพืช ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อกระบวนการเมตาบอลิซึมของร่างกายสิ่งมีชีวิต
               กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้บูรณาการแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ.2559 – 2564) และกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติเพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560 – 2564) โดยมีมาตรการการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ดังนี้

 

การจัดการขยะ ของเสียอันตราย


               ลดการเกิดขยะมูลฝอยหรือของเสียอันตรายที่แหล่งกำเนิด คัดแยกและนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ผลิตและใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มศักยภาพในการรวบรวม/ขนส่ง/กำจัดและใช้เทคโนโลยีแบบผสมผสานอย่างเหมาะสม เพิ่มสถานที่รวบรวมของเสียอันตราย สถานที่กำจัดกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายและศูนย์กำจัดมูลฝอยติดเชื้ออย่างเพียงพอ รวมถึงพัฒนา/ปรับปรุงกฎหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการ
               ส่งเสริมการบริหารจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนตั้งแต่ระดับเยาวชนพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีการเก็บรวบรวม/ขนส่ง/กำจัดและใช้ประโยชน์พัฒนาและเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลเพื่อการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ

 

การจัดการขยะ ของเสียอันตราย

 

การจัดการของเสียอันตรายชุมชน
               ในปัจจุบันมีแนวทางการจัดการของเสียอันตรายหลากหลายวิธีตามหลักวิชาการเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนน้อยที่สุด ดังนี้
               1.การคัดแยกเพื่อนำกลับไปใช้ใหม่ เป็นการกำจัดของเสียอันตรายบางประเภทที่สามารถรีไซเคิลวัสดุมาใช้ในกระบวนการผลิตได้ เช่น แบตเตอรี่รถยนต์ หลอดฟลูออเรสเซนต์ เป็นต้น
               2.การปรับเสถียร/ฝังกลบ เหมาะสำหรับของเสียอันตรายที่เป็นของแข็งหรือกากตะกอน ของแข็งปนเปื้อนโลหะหนักถ่านไฟฉาย สารเคมีที่เป็นพิษต่างๆ เช่น ผงซักฟอก ยาและเครื่องสำอางที่หมดอายุ เป็นต้น

 

การจัดการขยะ ของเสียอันตราย


               3.การผสมของเสียเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง เป็นการกำจัดสารเคมีประเภทน้ำมันเครื่องหรือน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้ว รวมทั้งของเสียอินทรีย์ สารที่สามารถติดไฟได้ เช่น กาว สี ตัวทำละลาย เป็นต้น
               4.การกำจัดโดยระบบเตาเผา เหมาะสำหรับของเสียอันตรายที่ไม่สามารถกำจัดได้ด้วยวิธีการปรับเสถียรและฝังกลบได้ ของเสียที่นำมาเผาต้องมีค่าความร้อนค่อนข้างสูง เช่น น้ำมันหล่อลื่นใช้แล้ว ตัวทำละลาย สารกำจัดศัตรูพืช เป็นต้น
                5.ของเสียที่ต้องใช้ความชำนาญเฉพาะด้านในการกำจัด หรือกำจัดโดยวิธีพิเศษ ได้แก่ วัตถุระเบิด สารกัมมันตรังสี ของเสียติดเชื้อจากโรงพยาบาล เป็นต้น

 

การจัดการขยะ ของเสียอันตราย


               นอกจากนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และกระทรวงมหาดไทย ได้นำเสนอแผนปฏิบัติการประเทศไทยไร้ขยะ ปี พ.ศ.2559-2564 ภายใต้แผนแม่บทฯ ซึ่งแผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าวเป็นแนวทางในการปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการขยะของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนโดยทั่วไปให้มีส่วนร่วมในการดำเนินการลดขยะที่ต้นทางเพื่อวางรากฐานการดำเนินการการจัดการขยะให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพขับเคลื่อนประเทศไทยไปสูการเป็นสังคมปลอดขยะอย่างยั่งยืน