Lifestyle

‘พระราหู’หลวงพ่อน้อย วัดศีรษะทอง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

‘พระราหู’ หลวงพ่อน้อย วัดศีรษะทอง จ.นครปฐม   โดย - ศาล มรดกไทย

พระราหู องค์เทพผู้มีฤทธิ์มาก เป็นอมตะ และไม่มีวันตาย หนึ่งในเทพไม่กี่องค์ที่สำเร็จจนเป็น พระอรหันต์ นับเป็นพระโพธิสัตว์ที่คนไทยรู้จักมาแสนนาน มีตำนานกล่าวถึง พระราหู ทั้งของพราหมณ์และฮินดู ได้เผยแผ่เข้ามาถึงเมืองไทยเมื่อครั้งอดีตกาล

   การนับถือบูชา พระราหู ที่หวังผลในเรื่องป้องกันเคราะห์ร้าย ดวงชะตาตก รวมถึงเชื่อถือในทางเพิ่มพูนทรัพย์สินเงินทอง บริบูรณ์ทั้งข้าวปลาอาหาร ไม่มีอดอยากและยากจน เป็นที่รู้จักและร่ำลือคุณวิเศษในการบูชา พระราหู ซึ่งจัดเป็น เครื่องรางของขลัง เป็นที่นิยมในการเสาะหาบูชามากที่สุด ต้องยกให้ พระราหู ของ หลวงพ่อน้อย วัดศีรษะทอง พระเกจิอาจารย์ชื่อดังยุคเก่า แห่ง จ.นครปฐม ร่ำลือในด้านพุทธคุณ มีประสบการณ์เป็นที่อัศจรรย์ จนได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งใน ชุดเบญจภาคีเครื่องรางของขลัง และนับเป็นวัตถุมงคลในขณะนี้ที่มาแรง เป็นที่ต้องการ มีความนิยมในการเสาะหามากที่สุดชนิดหนึ่ง

   วัดศีรษะทอง ในอดีตชื่อ วัดหัวทอง สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมื่อครั้งที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ทรงอัญเชิญ พระแก้วมรกต มาจากเมืองเวียงจันทน์ ได้มีชาวเวียงจันทน์ติดตามอพยพมาส่วนหนึ่ง ตั้งหลักแหล่งอยู่บริเวณแม่น้ำท่าจีน (ปัจจุบันขึ้นกับ อ.นครชัยศรี)

‘พระราหู’หลวงพ่อน้อย วัดศีรษะทอง

‘พระราหู’หลวงพ่อน้อย วัดศีรษะทอง

   ในขณะปลูกสร้างหมู่บ้านได้ขุดพบ เศียรพระ ที่เป็นทองคำ จึงตั้งชื่อหมู่บ้านตามเศียรพระที่พบว่า บ้านหัวทอง เมื่อก่อสร้างหมู่บ้านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงได้สร้างวัดเป็นศูนย์รวมของชาวลาวที่นับถือพระพุทธศาสนา ได้ตั้งชื่อวัดตามหมู่บ้านว่า วัดหัวทอง ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนเป็นชื่อ วัดศีรษะทอง ในสมัยหลวงพ่อน้อย

เมื่อก่อสร้างวัดเสร็จ จึงได้นิมนต์ หลวงพ่อไตร พระเกจิอาจารย์ชาวเวียงจันทน์ ซึ่งท่านได้เดินทางอพยพมาพร้อมกับชาวบ้าน นับเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดศีรษะทอง วัดนี้ได้รับการดูแลก่อสร้างเป็นวัดสำคัญของ เมืองนครชัยศรี เรื่อยมา และรุ่งเรืองที่สุดในยุคของ หลวงพ่อน้อย จวบจนถึงปัจจุบัน

   หลวงพ่อน้อย เป็นชาวนครปฐม เกิดเมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๓๕ บิดาชื่อ “มา” มารดาชื่อ “มี” นามสกุล “นาวารัตน์” สืบเชื้อสายชาวเวียงจันทน์ ตั้งแต่ครั้งที่เข้ามาอยู่บริเวณบ้านหัวทอง โดยบิดาของหลวงพ่อเป็นญาติกับหลวงพ่อไตร เจ้าอาวาสรูปแรก และได้สืบทอดวิชาการแพทย์แผนโบราณรวมถึงวิชาอาคมทางคงกระพันชาตรี เมตตามหานิยม ตามตำราของ หลวงพ่อไตร ทำให้เป็นที่เคารพของชาวบ้าน โดยเรียกท่านว่า “พ่อหมอ”

เมื่อหลวงพ่อน้อยเติบโตขึ้น บิดาจึงได้สอนให้ท่านเขียนอ่านเล่าเรียนหนังสือและได้สอนวิชาอาคม รวมถึงศึกษาตำราการรักษาโรคภัย

   ด้วยความที่หลวงพ่อน้อยมีความสนใจ บิดาจึงได้ถ่ายทอดให้อย่างหมดสิ้น แถมพาไปเรียนเพิ่มเติมกับ พระอาจารย์ลี เจ้าอาวาสรูปที่ ๓ ของวัดศีรษะทอง ในสมัยนั้น นับว่าท่านมีความรู้ในหลากหลายวิชา ตั้งแต่ก่อนบวช จนเมื่อมีอายุเกิน ๒๐ ปี ในปี ๒๔๕๖ ท่านได้อุปสมบทที่วัดแค โดยมี พระอาจารย์ยิ้ว เจ้าอาวาสเป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์เกิด วัดงิ้วราย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์มุน วัดกลางคูเวียง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาทางสงฆ์ว่า “คนฺธโชโต”

  ระยะแรกจำพรรษาที่วัดแค และได้ย้ายกลับไปอยู่วัดใกล้ๆ หมู่บ้านคือวัดศีรษะทอง ด้วยความที่ท่านชอบในการศึกษาวิชาเพิ่มเติม ท่านจึงเดินทางธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อฝึกวิปัสสนากรรมฐาน

   หลังจากกลับมาอยู่ที่วัดศีรษะทองไม่นาน เป็นเวลาที่เจ้าอาวาสองค์เก่าลาสิกขาพอดี ชาวบ้านจึงต่างพร้อมใจขอให้ท่านรับเป็นเจ้าอาวาสวัด ซึ่งขณะนั้นวัดมีสภาพทรุดโทรมมาก เพราะสร้างมานาน และขาดการบำรุงรักษา

   ในการรับตำแหน่งเจ้าอาวาสของหลวงพ่อน้อย ไม่มีการบันทึกเอาไว้เป็นหลักฐาน คาดว่าหลังปี ๒๔๖๐ เป็นต้นมา เมื่อหลวงพ่อน้อยต้องดูแลบูรณะวัดศีรษะทอง ทำให้ท่านต้องสร้าง เครื่องรางของขลัง แจกศิษย์และชาวบ้าน จนเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านสืบต่อๆ มา จนเป็นที่รู้จัก มีชื่อเสียงเลื่องลือตั้งแต่หลวงพ่ออายุยังน้อย

  อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในพระเกจิอาจารย์ที่ได้รับนิมนต์ร่วมปลุกเสกพระเครื่อง พิธีใหญ่ของ จ.นครปฐม คือ พิธีพุทธาภิเษก พระคันธารราฐ วัดพระปฐมเจดีย์ พ.ศ.๒๔๗๖ ซึ่งท่านมีอายุน้อยที่สุดในงานนั้น

   ตลอดเวลาที่ หลวงพ่อน้อย เป็นที่พึ่งของชาวบ้าน ทั้งทางรักษาโรคภัย สะเดาะเคราะห์ รดน้ำมนต์ ให้ผู้ที่ดวงไม่ดี ดูฤกษ์ยามให้ชาวบ้านที่มาขอให้ท่านแนะนำในการเริ่มต้นทำกิจการงานต่างๆ มีชาวบ้านมาร่วมทำบุญกับหลวงพ่อมากมาย จนทำให้ วัดศีรษะทอง และวัดใกล้เคียงที่ท่านดูแล มีความเจริญรุ่งเรืองมากขึ้น

  ผลงานทั้งหมดนี้ทำให้ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ทางคณะสงฆ์และมีตำแหน่งเป็นเจ้าคณะตำบลนครชัยศรี ปกครองวัดจนถึง พ.ศ.๒๔๘๘

   จากการที่หลวงพ่อทำงานมาอย่างหนักในการก่อสร้างวัด ทำให้ร่างกายอ่อนแอลง สุดท้ายท่านมรณภาพเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๘ สิริรวมอายุ ๕๓ ปี พรรษา ๓๒

   ขอขอบพระคุณ ผู้เอื้อเฟื้อภาพและข้อมูล คุณแจ้ เสนา, คุณเติ้ง รักษ์ศิลป์, คุณมล เชือกคาด, คุณโอม โนโลโก้, คุณตั้งโอ๋ สะสมทรัพย์, คุณป๊อป นครปฐม และคุณแสบ นครปฐม

(ยังมีต่อ ฉบับวันอาทิตย์ ๖ สิงหาคม ๒๕๖๐)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ