
ขุมทรัพย์จากพระไตรปิฎก - พูดมากปากพาจน
ตสฺมา กาเล อกาเล จ วาจํ รกฺเขยฺย ปณฺฑิโต
นาติเวลํ ปภาเสยฺย อปิ อตฺตสมมฺหิ วา ฯ
(ขุ. ชา. ๒๗/๖๒๔)
บัณฑิตรักษาถ้อยวาจาไว้
ทั้งในกาลควรและไม่ควร
ไม่พูดพร่ำเพรื่อเกินเวลา
แม้ในบุคคลผู้เสมอกับตน.
ถ้อยคำควรประจักษ์
เพื่อรู้รักษ์ในทุกเรื่อง
พร่ำพูดไปจะเปลือง
เปล่าประโยชน์เกิดโทษแทน
กาลควรไม่ควรรู้
นั่งนิ่งอยู่งดเงียบแสน
ขืนพูดคงคลอนแคลน
ขัดข้องเคืองเกิดเรื่องกัน
อย่าพร่ำเพรื่อพูดมาก
คนไม่อยากฟังหยามหยัน
พวกพ้องเพื่อนหนีพลัน
เพราะพูดล่วงเกินเวลา ฯ
ถ้อยคำ หรือ คำพูด ที่เปล่งออกทางปาก แม้มิได้ออกเรี่ยวแรงเหมือนออกกำลังทางกาย (พูดไม่เหนื่อย แต่ถ้าเปล่งเสียงพูดนานๆ ก็เหนื่อยเหมือนกัน เพราะใช้พลังลมปราณ ลมออกจากปากมาก) แต่การพูดทางวาจา กลับส่งผลเสียมากยิ่งกว่าการกระทำทางกาย กรณีรุดลงจากเวทีไปชกต่อยตบตีกัน ก็เพราะปากเป็นเหตุ “พูดอย่างนี้ ต้องเอาเลือดออกจากปากมันซะหน่อย” นี่แหละ “พูดดีเป็นศรีแก่ปาก พูดมากปากจะเป็นสี” จริงใช่ไหม
คนเราอดทนอะไรก็พออดทนได้ แต่อดทนคำพูดมักอดทนไม่ได้ โดยเฉพาะคำพูดกระทบกระเทียบเสียดสี ค่อนแคะกระแหนะกระแหน
อย่างไรก็ตาม คำพูดคำจา ควรระมัดระวังกันให้มากๆ อย่าพร่ำเพรื่อพูด แม้กับคนคุ้นเคย อย่าคิดว่า คุ้นเคยกันแล้ว ฉันจะพูดอย่างไรก็ได้ พูดโดยไม่รักษาน้ำใจมิตร จะทำให้แก้วแห่งมิตรภาพแตกร้าว เลิกคบ ไม่ไปมาหาสู่กัน “ปากร้ายทำลายมิตร” แท้ๆ
อนึ่ง เรื่องการพูดจานี้ ควรดูคู่สนทนาบ้างว่า เขาสนใจฟังเราหรือเปล่า อดทนฟังเราหรือไม่ และที่สำคัญคือ ควรรู้กาล
รู้ไหม คนประเภทใดน่ากลัวที่สุด เจอผียังดีกว่าเจอคนประเภทนี้ “น่ากลัวยิ่งกว่าผี” นั่นคือ คนพูดมาก พอได้พูดละก็ ประเภท non stop ไม่หยุด ไม่มีช่องไฟ คิดดูสิ พูดจนโทรศัพท์สายไหม้ ไม่น่ากลัวหรือ
พูดดี แต่ถ้าพูดมากไปก็ไม่ดี พูดดีไม่จำเป็นต้องพูดมาก พูดพอประมาณ พูดพอสมควรแก่เวลา นั่นแหละบัณฑิตสรรเสริญ
ระวังพูดมากปากพาจน
"พระมหาอุเทน ปัญญาปริทัตต์"